รู้จัก วันเพ็ญเดือน 12 ของแต่ละวัฒนธรรม

เปิดความสำคัญ และความหมายจากรูปแบบการเกษตร ปฏิทินชีวิตผ่านพระจันทร์เต็มดวงในแต่ละวัฒนธรรม 

“วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำนองเต็มตลิ่ง” คำอธิบายของเทศกาล “ลอยกระทง” ของประเทศไทย ซึ่งเชื่อกันว่าสืบทอดกันมายาวนาน ในทางวัฒนธรรม ประเพณี-เทศกาลใดๆ ล้วนเกี่ยวข้องกับบริบทและเงื่อนไขที่ทำให้ “กาละ” และ “เทศะ” นั้นๆ มีความสำคัญ

เมื่อพูดถึงวันเพ็ญ หรือวันจันทร์เต็มดวง เป็นวาระสำคัญที่กำหนดครบรอบของปรากฎการณ์ธรรมชาติของ “น้ำขึ้นน้ำลง” ในโลก ที่ได้รับอิทธิพลอย่างมากล้นจากดวงจันทร์ ในแต่ละเดือนวันเพ็ญจึงเป็นวันสำคัญในการกำหนดบนปฏิทิน และมักจะเป็นวันที่มี “ปฏิบัติการทางสังคม” บางอย่างที่กลายเป็น “ประเพณี” เพื่อบ่งบอกความหมายและความสำคัญของเดือนนั้น

วันเพ็ญเดือนสิบสอง

ในสังคมเกษตรกรรม โดยเฉพาะสังคมที่มีวัฒนธรรมข้าวโซนเส้นศูนย์สูตร อย่างประเทศไทยและชาวเอเชียที่ต้องพึ่งพาอิทธิพลของน้ำและฤดูฝน ปรากฎการณ์ของดวงจันทร์ส่งผลยิ่งต่อปฏิทินการผลิตข้าวและชีวิต จึงไม่ต้องแปลกใจการกำหนดเวลาให้ความสำคัญกับจันทรคติ เพื่อบ่งบอกการเปลี่ยนแปลงฤดูกาล

“ปฏิบัติการ” ที่เกี่ยวข้องกับการเคารพบูชาน้ำ เทพแห่งสายน้ำ หรือผีแห่งสายน้ำ ในวัฒนธรรมไทย จึงมักจะเกิดในช่วงที่ดวงจันทร์และน้ำสร้างปรากฏการณ์ที่เด่นชัดที่สุด

ตัวอย่างที่เห็นชัด คือ ทางภาคเหนือและอีสานของไทย การเฉลิมฉลองทางน้ำ เกิดขึ้นในช่วงเดือน 11 ซึ่งเป็นการผสมผสานกับความเชื่อโบราณ ร่วมกับความเชื่อทางพุทธศาสนา ด้วยวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ก็เป็นวันสำคัญคือวันออกพรรษา ซึ่งตามคำสอนแล้ววันนี้ถูกกำหนดขึ้นจาก “การเกษตร” คือการสิ้นสุดฤดูเพาะปลูก หรือฤดูฝน และเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวแล้ว

วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ชุมชนที่มีถิ่นที่อยู่ตามแหล่งน้ำ ห้วยหนอง คลองบึง จะมีการจุดประทีป เรือไฟ โคมลอย ในคำอธิบายแบบพุทธพื้นถิ่น การไหลเรือไฟเป็นการถวายบูชารอยพุทธบาทของพระพุทธเจ้า ณ ริมฝั่งแม่น้ำนัมทามหานที ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของพญานาคที่พิทักษ์รักษาแหล่งน้ำต่างๆ ที่ตามตำนานเล่าว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จไปแม่น้ำนัมทาเพื่อแสดงธรรมเทศนาพญาแก่พญานาคต่างๆ

นอกจากนี้ยังมีการจุดพลุ จุดกะโพก (ประทัด) ลอยโคมส่องสว่างในช่วงค่ำคืนเพื่อเป็นสัญญาณ และจำลองเหตุการณ์เตรียมรับพระพุทธเจ้าที่เสด็จกลับจากการจำพรรษาและโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้วดาวดึงส์ในวันต่อมา คือ แรม 1 ค่ำ เดือน 11

ส่วนในคำอธิบายทางสังคมวัฒนธรรม จะเห็นประเพณีการไหลเรือไฟ ส่วงเฮือ (แข่งเรือ) ขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์มายาวนานโดยเฉพาะในลุ่มน้ำโขง ที่การส่วงเฮือ เป็นหนึ่งในประเพณี 12 เดือน (ฮีต 12) เพื่อบูชานาคผู้ปกป้องรักษาลำน้ำ

หากเทียบปรากฎการณ์ของฤดูกาล ในเดือน 10-11 เป็นฤดูกาลน้ำหลากท่วมทุ่งท่า การแข่งเรือในลุ่มน้ำบางแห่ง แข่งกันเหนือทุ่งข้าวที่โดนน้ำท่วมด้วยซ้ำ แต่เมื่อถึง 15 ค่ำ ซึ่งถือเป็นจุดที่ระดับน้ำเพิ่มขึ้นสูงสุดแล้ว จากนั้นน้ำจะลดระดับ เพื่อทิ้งข้าวให้ทอรวงพร้อมเก็บเกี่ยว ในช่วงเดือน 12

ขณะที่ในภาคกลาง สมัยอยุธยา พบร่องรอยว่าทำการแข่งเรือ และจุดประทีปไหลไฟ โคมลอย แยกกัน ในพระราชพิธียุคอยุธยา ตราไว้ในกฎมณเฑียรบาลว่า เดือน 11 แข่งเรือ เดือน 12 ลดชุดลอยโคมลงน้ำ, เดือน 1 (อ้าย) ไล่เรือ อาจมองได้ว่ากระแสน้ำในภาคกลาง “เต็มตลิ่ง” ในช่วงเดือน 11-12

จัทนร์เต็มดวงในเดือน 12 ในบริบทของประเทศไทย จึงเป็นการ “เปลี่ยนฤดูกาล” สู่การเก็บเกี่ยว ที่หลอมรวมเอาวิถีปฏิบัติ และหลากหลายความเชื่อเข้าไว้ด้วยกัน แม้ในปัจจุบันจะเน้นให้เป็น “ลอยกระทง” เพื่อขอขมาเทพแห่งสายน้ำอย่างพระแม่คงคา แต่ก็ยังคงหยิบรากเค้าบางอย่างของประเพณีที่มาปรับใช้กลืมกลืน

Harvest Moon – Cold Moon วันเพ็ญเก็บเกี่ยว วันเพ็ญฤดูหนาว

ในดินแดนใกล้ขั้วโลกเหนือ อิทธิพลของฤดูฝนและรูปแบบทางการเกษตรต่างออกไปจากฝั่งเอเชีย กลุ่มชนแองโกล-แซกซอน (อังกฤษโบราณ เจอร์มานิก สแกนดิเนเวียน) มีชื่อเรียกพระจันทร์เต็ม 12 ดวง 12 เดือน ซึ่ง สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้รวบรวมไว้ ได้แก่

มกราคม Wolf Moon, กุมภาพันธ์ : Snow Moon, มีนาคม : Worm Moon, เมษายน : Pink Moon, พฤษภาคม: Flower Moon, มิถุนายน: Strawberry Moon, กรกฎาคม : Buck Moon, สิงหาคม – Sturgeon Moon, กันยายน : Corn Moon, ตุลาคม Hunter’s Moon, พฤศจิกายน – Beaver Moon และ ธันวาคม – Cold Moon

จะเห็นว่า การเรียกชื่อพระจันทร์เต็มดวงนั้น สะท้อนรูปแบบของอากาศ การเกษตร และการล่าสัตว์ เช่น ฤดูดอกไม้บานในเดือนพฤษภาคม เก็บเกี่ยวผลไม้เดือนมิถุนายน ล่าสัตว์กรกฎาคม ทำประมงสิงหาคม และเก็บเกี่ยวธัญญาหารใหญ่เดือนกันยายน จากนั้นเข้าสู่การเตรียมพร้อมฤดูหนาว ในช่วง Beaver Moon
ในเดือนพฤศจิกายน เป็นช่วงที่บรรดานักล่าสัตว์จะวางกับดักได้ง่าย เพื่อจับตัวบีเวอร์เพื่อนำเอาขนไปใช้ประโยชน์

Corn Moon ในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวใหญ่ เรียกอีกชื่อว่า Harvest Moon มีต้นกำเนิดในอังกฤษ เป็นช่วงแสงจันทร์เจิดจ้าในยามเย็นติดต่อกันหลายครั้งช่วยในการเก็บเกี่ยวพืชผล เป็นคำที่นิยมใช้เรียกพระจันทร์เต็มดวงในเดือนกันยายนในละติจูดทางตอนเหนือ

ปรากฏการณ์การขึ้นของดวงจันทร์ในช่วงต้นนี้ขึ้นอยู่กับระดับการหน่วงเวลาของการขึ้นของดวงจันทร์ โดยได้รับผลกระทบจากความแตกต่างในละติจูด เนื่องจากสภาพอากาศในอังกฤษและใกล้เคียงเอื้ออำนวยเป็นพิเศษ พระจันทร์เต็มดวงในช่วงเก็บเกี่ยวจึงเกิดขึ้นเร็วกว่าทางตอนเหนือสุดของคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย

การเฉลิมฉลองในฤดูกาลเก็บเกี่ยวของกลุ่มชนชาวยุโรปซึ่งยึดปฏิทินสุริยคติ จึงยึดเอาวันที่เชื่อมโยงกับปฏิทิน ซึ่งในบางพื้นที่ยังยึดเอาวัน “ฮาโลวีน” สิ้นเดือนตุลาคม เป็นวันเสร็จสิ้นฤดูกาลเก็บเกี่ยว

จากนั้นพระจันทร์เต็มดวงช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย. จะเอื้ออำนวยในการล่าสัตว์ เพื่อเตรียมเข้าสู่ฤดูหนาวในเดือนธันวาคม เรียกว่า Cold Moon ซึ่งจะนับการเข้าสู่ฤดูหนาวชัดเจน เมื่อเข้าสู่ช่วง “เหมายันต์” ปรากฎการณ์ของสุริยวิถีที่กลางคืนยาวนานที่สุด ราว 22 ธันวาคม เป็นจุดวัดซีกโลกเหนือเข้าสู่ฤดูหนาว และเริ่มต้นปีใหม่

ในวัฒนธรรมที่ยึดปฏิทินสุริยคติทั่วโลก จึงมักยึดช่วงเหมายันต์เป็นฤดูกาล Mid-Winter ซึ่งจะรวมเข้ากับช่วงเทศกาลคริสตสมภพ (คริสต์มาส) ในภายหลัง

ดังนั้น หากเดือน 12 คือช่วงสิ้นปีปฏิทิน Cold Moon คือ วันเพ็ญเดือน 12 ในวัฒนธรรมแองโกล-แซกซอน หรือประเทศอื่นๆ แถบขั้วโลกเหนือ

Mid-Autumn เทศกาลไหว้พระจันทร์

ในช่วงเวลาเดียวกับฤดูกาลเก็บเกี่ยวในกลุ่มชนแถบขั้วโลกเหนือ ในแถบประเทศจีนก็อยู่ในช่วงการเรื่มเก็บเกี่ยว และเข้าสู่ช่วงที่พระจันทร์งดงามที่สุด จึงเริ่มมีการผูกโยงตำนานไม่ว่าจะเป็นตำนานเทพธิดาฉางเอ๋อ นางฟ้าในดวงจันทร์

โดยเฉพาะในแถบลุ่มน้ำเฉียนถัง อย่างเมืองหางโจว ที่เป็นพืนที่ใกล้ทะเล กระแสน้ำส่งผลกระทบอย่างมากกับชาวเมือง จึงมีการริเริ่มประเพณีบูชาพระจันทร์และเทพพระเจ้าที่เกี่ยวข้อง

ในที่สุดมีการแพร่หลาย และนำซึ่งนำไปสู่การขอพรช่วงเข้าฤดูใบไม้ร่วง หรือ Mid-Autumn รวมถึงเป็นเทศกาลไหว้พระจันทร์ที่เรารู้จักกัน

ดิปาวาลี-เทศกาลพระจันทร์และแสงไฟ

ดิปาวาลี หรือ ดิวาลี ในวัฒนธรรมฮินดู ตรงช่วงวันเพ็ญเดือนพฤศจิกายน เรียกว่า การตติกะ (Kārtika) จัดเป็นช่วงที่สำคัญ ตรงกับการที่เฉลิมฉลองในช่วงฤดูใบไม้ร่วงของซีกโลกเหนือ

ดิวาลีถือเป็นหนึ่งในเทศกาลที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดของศาสนาฮินดู เฉลิมฉลองด้วยประทีปโคมไฟ เช่นเดียวกับเทศกาลลอยกระทง โดยการใช้แสงสว่างในเทศกาลแห่งแสงไฟนี้ เป็นสัญลักษณ์หมายถึงชัยชนะของแสงเหนือความมืดมิด

อาคาร บ้านเรือน ร้านค้า ถนนหนทาง และศาสนสถาน จะตกแต่งด้วยสีสดใสและประดับแสงไฟสว่างไสว โดยทั่วไปเทศกาลดิวาลีเฉลิมฉลองกัน 5 วัน โดยจะถึงจุดสูงสุดในวันที่ 3 ของเทศกาล ซึ่งถือว่าเป็นคืนที่มืดมิดที่สุดของเดือนการตติกะ ตามปฏิทินฮินดู เมื่อเทียบกับปฏิทินสุริยคติแบบเกรโกเรียนจะตรงกับช่วงกลางเดือนตุลาคมและกลางเดือนพฤศจิกายน

นอกจากการประดับไฟและจุดประทีป ทั้งในและนอกบ้านให้สว่างที่สุดแล้วยังมีการทำพิธีบูชาต่อพระลักษมี เทวีแห่งความเจริญรุ่งเรืองมั่งคั่ง มีการจุดพลุ ทานอาหารกับครอบครัวและเพื่อนฝูง แลกเปลี่ยนของขวัญและแบ่งปันขนมกัน เทศกาลดิวาลีถือเป็นเทศกาลเชิงวัฒนธรรมที่สำคัญมากต่อชาวอนุทวีปอินเดียโพ้นทะเล ที่นับถือศาสนาฮินดู ซิกข์