ใหลตาย เปิดสาเหตุ วิธีป้องกัน คนดังในอดีตก่อนเกิดเคส #บีมปภังกร

ใหลตาย เปิดสาเหตุ วิธีป้องกัน คนดังในอดีต ก่อนเกิดเคส #บีมปภังกร

ทำความรู้จักภาวะใหลตาย ผู้เชี่ยวชาญเผยสาเหตุ แนะแนวทางป้องกัน ย้อนอดีตคนดังที่เคยสูญเสียจากอาการนี้

วันที่ 24 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีการเสียชีวิตกะทันหันของนักแสดงหนุ่ม บีม ปภังกร ฤกษ์เฉลิมพจน์ เบื้องต้นทราบเพียงว่า นักแสดงหนุ่มนอนหลับ ญาติพยายามปลุก แต่ไม่ตื่น จึงได้นำตัวส่งโรงพยาบาล และพยายามกู้ชีพ แต่ไม่เป็นผล

พบบ่อยในชายอายุน้อย

ต่อมา ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงเรื่องดังกล่าวระบุว่า เวลาเห็นข่าวแบบนี้อยากให้เห็นความสำคัญของภาวะ “ใหลตาย” (SUDS) ซึ่งพบบ่อยในคนเอเชียโดยเฉพาะผู้ชายอายุน้อย สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งคือภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะร้ายแรง (malignant arrhythmia)

ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากโรคพันธุกรรม มีกลายพันธุ์ของยีนหลายชนิด เช่น long QT syndrome, Brugada syndrome, ARVD หรือกลุ่ม cardiomyopathy ปัจจุบันสามารถให้การวินิจฉัยได้ด้วย next generation sequencing ครับ การทำ molecular autopsy ช่วยหาเหตุการเสียชีวิต และค้นหาสมาชิกครอบครัวที่เสี่ยงเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกได้

ข้อมูลการศึกษาคนไทยที่ใหลตาย การชันสูตรศพและ molecular autopsy หาสาเหตุการเสียชีวิตได้ถึง 81% (https://journals.plos.org/plosone/article?id=10.1371/journal.pone.0180056)

ยีนก่อโรคใหลตายมีหลายยีน แม้บางโรคจะรู้จักกันดี เช่น Brugada syndrome แต่ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่พบว่าไม่ได้เกิดจากยีนก่อโรคนี้ (ปัจจุบันมีหลักฐานว่า Brugada syndrome มีลักษณะเป็น polygenic มากกว่าจะเป็น single gene disorder แล้ว อ่านเพิ่มเติมที่นี่ >> https://www.nature.com/articles/s41588-021-01007-6) ยังมียีนก่อโรคอื่นที่พบได้ เช่น long QT, cardiomyopathy, arrhythmogenic right ventricular dysplasia เป็นต้น

นอกจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะแล้ว มีโรคพันธุกรรมอื่นที่ก่อให้เกิดหัวใจหยุดเต้นหรือเสียชีวิตเฉียบพลันได้คล้ายใหลตาย เช่น Marfan syndrome, aortic rupture, ลิ่มเลือดอุดตันในปอดจาก thrombophilia, เส้นเลือดหัวใจอุดตันจาก familial dyslipidemia ซึ่งการตรวจศพจะบอกได้ครับ

RIP

ด้าน ผศ.พญ.สิรินทร์ อภิญาสวัสดิ์ สาขาวิชาโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคใหลตาย ผ่านเว็บไซต์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ไว้ว่า “โรคใหลตาย” ในทางการแพทย์เรียกภาวะนี้ว่า “หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน” เป็นอีกหนึ่งโรคที่พบบ่อยโดยเฉพาะในแถบภาคอีสาน ความน่ากลัวของโรคนี้คือการเสียชีวิตแบบเฉียบพลัน ที่ผู้ตายไม่มีโอกาสรู้ตัวมาก่อนเลย

สาเหตุที่สำคัญ

ภาวะร่างกายขาดแร่ธาตุโพแทสเซียม ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง ส่งผลให้หัวใจเต้นแรงขึ้นและเสียชีวิตในที่สุด ปัจจัยที่เกี่ยวข้องของโรคมี 2 ประการด้วยกัน ได้แก่ การบริโภคอาหารที่มีสารพิษวันละเล็กน้อย จนเกิดการสะสมและเป็นพิษต่อกล้ามเนื้อหัวใจ

ปัจจัยต่อมาคือการขาดสารอาหารที่เป็นวิตามินบี 1 อย่างรุนแรงเฉียบพลัน ทำให้คนที่แข็งแรงอยู่ดี ๆ รู้สึกอ่อนเพลียและอยากนอน เมื่อหลับแล้วก็หัวใจวายตายเกือบจะทันที โดยโรคนี้สัมพันธ์ใกล้ชิดกับภาวะทุพโภชนาการ และสุขนิสัยการกินที่ผิด

กลไกการเกิดภาวะโรคใหลตาย

อธิบายได้ดังนี้ โดยปกติแล้วการเต้นของหัวใจคนเรานั้นเกิดขึ้นจากไฟฟ้า ซึ่งไฟฟ้าเกิดจากเกลือแร่ที่วิ่งเข้าออกระหว่างเซลล์ตลอดเวลา โดยเกลือแร่ที่ทำให้เกิดไฟฟ้ามีหลายชนิด เช่น โซเดียม โพแทสเซียม แคลเซียม เป็นต้น ซึ่งต้องวิ่งเข้าออกบริเวณที่เปรียบเสมือนประตู

แต่ในคนที่เกิดภาวะใหลตายนั้นพบว่าประตูที่ทำให้โซเดียมเข้าออกเซลล์นั้นมีน้อยกว่าคนปกติ เป็นสาเหตุที่เกิดขึ้นแต่กำเนิด และเป็นสาเหตุในระดับเซลล์ คนกลุ่มนี้ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเกี่ยวกับอาหารการกิน เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคใหลตาย

เกี่ยวข้องกับการเต้นของหัวใจ

ที่เราพบในคนไข้ใหลตายนั้นเกิดจากหัวใจห้องล่าง ซึ่งปกติเป็นปั๊มหลักคอยบีบเลือดไปเลี้ยงร่างกาย เมื่อประตูหัวใจห้องล่างเกิดไฟฟ้าลัดวงจรทำให้มีการเต้นไม่สม่ำเสมอของหัวใจห้องล่าง เกิดไฟฟ้ามากระตุ้นให้เป็นจุดเล็ก ๆ และแทนที่หัวใจห้องล่างจะบีบตัวโครม ๆ เพื่อเอาเลือดไปเลี้ยงร่างกาย ก็บีบตัวไม่ได้และสั่นระริก ๆ

ทำให้เลือดไปเลี้ยงร่างกายและสมองไม่เพียงพอ ภายใน 30 วินาทีจะเป็นลมหมดสติ 4 นาทีต่อมาถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นสมองจะตาย และภายใน 6-7 นาที ถ้ายังไม่หายก็จะเสียชีวิตในที่สุด

ภาวะเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายและสมองไม่เพียงพอ

คือเกิดการเกร็งของแขนและขา หายใจเสียงดังจากการมีเสมหะในหลอดลม บางรายปัสสาวะและอุจจาระราด เพราะสูญเสียการควบคุมของระบบประสาทโดยอัตโนมัติ ผู้ป่วยจะมีใบหน้าและริมฝีปากเขียวคล้ำ จากนั้นจะเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว

หากไม่ได้รับการกู้ชีพที่มีประสิทธิภาพ หรือไม่มีการใช้ไฟฟ้ากระตุ้นหัวใจให้กลับมาทำงานเป็นปกติ เพื่อหยุด BF ให้เร็วที่สุด แต่บางครั้ง BF ก็อาจหยุดเองได้และผู้ป่วยสามารถรอดตายได้เช่นกัน แต่สมองอาจพิการถาวรหากขาดออกซิเจนเป็นเวลานาน

การรักษาโรคทางการแพทย์มี 2 วิธี

ได้แก่ การใช้ยาและการฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ โดยในการให้ยานั้นขึ้นอยู่กับอาการโรคใหลตายว่ารุนแรงแค่ไหน หากรุนแรงมาก การใช้ยารักษาก็อาจไม่ได้ผล และต้องใช้วิธีฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจเข้าไปในร่างกายแทน

คนไข้ส่วนใหญ่ที่เป็นโรคใหลตายในวันปกติจะไม่มีผลอะไรเกิดขึ้น แต่ในวันร้ายคืนร้าย กล่าวคือ ในวันพักผ่อนน้อย ดื่มเหล้า หรือใช้สารเสพติด รวมถึงยาบางอย่างหรือในวันที่ไม่สบาย อาจทำให้อาการใหลตายเกิดขึ้นและเสียชีวิตกะทันหันในวันเหล่านั้น

วิธีการรักษาที่ดีที่สุดคือ

การฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ เพื่อควบคุมการเต้นของหัวใจให้ผู้ที่เคยตกอยู่ในภาวะใหลตายสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ การดูแลหลังการรักษานั้นต้องหลีกเลี่ยงการกดบริเวณหัวไหล่ ไหปลาร้าข้างที่ใส่เครื่อง เพราะอาจทำให้สายหัก ทั้งนี้ด้านอาหารการกินยังต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คือหลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารพิษปนเปื้อน รับประทานอาหารที่สะอาดถูกหลักอนามัย

และรับประทานอาหารที่ให้สารอาหารเพียงพอต่อร่างกายโดยเฉพาะวิตามินบี ที่สำคัญควรรับประทานอาหารที่มีคุณสมบัติช่วยบำรุงหัวใจและหลอดเลือดอย่างสม่ำเสมอ เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า น้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ ถั่วดำ ถั่วแระ เต้าหู้ เป็นต้น

การปฐมพยาบาลผู้ป่วย

คือจับผู้ป่วยนอนราบ ระหว่างรอรถพยาบาลหรือรอคนมาช่วยให้ประเมินผู้ป่วย หากพบว่าไม่หายใจหรือชีพจรที่คอไม่เต้น ให้กดหน้าอกยุบลงราว 1.5 นิ้ว แล้วปล่อยให้คลายตัวเป็นชุด ในความถี่ราว 100 ครั้งต่อนาทีโดยไม่หยุดจนกว่าจะถึงมือแพทย์หรือจนกว่าผู้ป่วยจะรู้ตัว และไม่ควรเสียเวลาโดยไม่จำเป็น เช่น งัดปากคนไข้ด้วยของแข็งเพราะอาจเป็นอันตราย และให้ระลึกเสมอว่าคนที่เป็นโรคใหลตายอาจจะมีโรคอื่นของสมอง เช่น ลมชัก โรคหัวใจ ที่อาจเป็นเหตุให้หมดสติได้เช่นกัน

รอชันสูตร 3 อาทิตย์

ล่าสุด ข่าวสด รายงานว่า อย่างไรก็ตามผลการชันสูตร ต้องใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์จึงจะทราบผล โดยในวันที่ 24 มีนาคม ครอบครัวจะจัดให้มีพิธีรดน้ำศพบีม ปภังกร เวลา 16.30 น. ณ วัดเทพลีลา

คนดังในอดีตที่ใหลตาย

ด้าน มติชน รายงานว่า คนบันเทิงที่เคยสูญเสียด้วยโรคนี้ หนึ่งในนั้นคือ แวว จ๊กมก ดาวตลกชื่อดังน้องสาวของ หม่ำ จ๊กมก