โรคตึกเป็นพิษ อาการของคนวัยทำงาน ที่ไม่ต้องพึ่งพาการมูเตลู

ทำงาน ออฟฟิศ สุขภาพ
Photo by StartupStockPhotos on Pixabay

โรคตึกเป็นพิษ (Sick Building Syndrome) อาการของคนวัยทำงาน เมื่อสภาพแวดล้อมของสถานที่ทำงานไม่เป็นใจ แถมแก้ได้ง่าย ๆ โดยที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการมูเตลู

ชีวิตหนึ่งวันของคนวัยทำงาน “สำนักงาน (Office)” คือหนึ่งในสถานที่ที่มักใช้เวลาอยู่ด้วยนานที่สุดใน 1 สัปดาห์ อย่างน้อย 40 ชั่วโมง รวมถึงที่พักอาศัยในปัจจุบัน วัยทำงานส่วนใหญ่มักอยู่ในพื้นที่ตึกสูงกันมากขึ้น อาทิ หอพัก แมนชั่น คอนโดมิเนียม

แต่การอยู่ในพื้นที่อาคาร หรือตึกสูงนาน ๆ ก็มีภัยร้ายที่ซ่อนอยู่ และพร้อมทำลายสุขภาพของคนทำงานได้อยู่เสมอ หนึ่งในนั้นคือ “โรคตึกเป็นพิษ (Sick Building Syndrome)”

โรคตึกเป็นพิษ คืออะไร?

โรคตึกเป็นพิษ (Sick Building Syndrome) คือกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายได้รับมลภาวะภายในอาคารจากปัจจัยบางอย่าง เช่น วัสดุโครงสร้างของอาคาร สีที่ใช้ภายในอาคาร รวมถึงการถ่ายเทอากาศภายในอาคาร ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการป่วย ไม่สบายเกิดขึ้น

อาการที่อาจพบได้

อาการที่เกิดขึ้นจากโรคตึกเป็นพิษ เกิดขึ้นได้ 2 กรณี

  1. กลุ่มอาการไม่สบายเฉียบพลัน อาทิ เจ็บตา หรือเจ็บคอ แสบร้อนในจมูก มีน้ำมูก หนาว เป็นไข้ ผิวแห้ง เป็นผื่น อ่อนเพลีย หงุดหงิด หรือหลงลืม ปวดหัว ปวดท้อง ปวดเมื่อยตามร่างกาย แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ไม่มีสมาธิ มีอาการของภาวะภูมิแพ้ เช่น จาม หรือคัน
  2. ผู้ป่วยที่เป็นโรคทางเดินหายใจหรือเป็นภูมิแพ้อยู่ก่อนแล้ว จะมีอาการรุนแรงมากยิ่งขึ้น เช่น ผู้ป่วยโรคหอบก็จะเสี่ยงอาการกำเริบมากขึ้นเมื่ออยู่ในอาคาร เป็นต้น

ส่วนสาเหตุการเกิดภาวะโรคตึกเป็นพิษ สามารถเกิดขึ้นได้จากสาเหตุหลักคือ

  1. อากาศถ่ายเทไม่เพียงพอ โดยเฉพาะระบบปรับอากาศและระบายอากาศ ทำให้ปริมาณอากาศภายนอกที่เข้าไปหมุนเวียนกับอากาศภายในห้องลดลง
  2. มีสารเคมีฟุ้งกระจายในปริมาณสูง แหล่งของสารเคมีที่พบบ่อยคือ กาว น้ำยาทำความสะอาด เครื่องถ่ายเอกสาร ยาฆ่าแมลง ควันบุหรี่ในบ้าน รวมถึงควันจากการปรุงอาหาร
  3. ไฟส่องสว่างในอาคาร และอุปกรณ์สำนักงานต่าง ๆ ที่มีอายุการใช้งานนาน และเริ่มมีการเสื่อมสภาพ

โดยเมื่อเกิดภาวะโรคตึกเป็นพิษ อาจทำให้มีภาวะแทรกซ้อนกับร่างกายและทำให้กระทบต่อชีวิตประจำวันและการทำงานได้ เช่น ทำให้คุณภาพงานแย่ลง ไปจนถึงทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการตรวจสอบโครงสร้างของอาคาร และการไปตรวจสุขภาพจากอาการป่วยที่เกิดขึ้น เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางโรค เมื่อเกิดอาการของโรคตึกเป็นพิษ อาจทำให้อาการจากโรคประจำตัวมีความรุนแรงมากขึ้น เช่น โรคปอดอักเสบลีเจียนแนร์ ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะหายใจล้มเหลว ช็อกจากการติดเชื้อในกระแสเลือด ไตวายเฉียบพลัน และโรคหอบที่หากอาการรุนแรงก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เป็นต้น

พึ่งมูอาจจะช่วย แต่พึ่งหมอชัวร์กว่า

สำหรับผู้ที่มีอาการที่เกี่ยวข้องกับโรคตึกเป็นพิษ การพึ่งศาสตร์ของมูเตลู ก็อาจจะช่วยให้หายจากโรคนี้ได้ แต่ทางที่จะทำให้หายได้ชัวร์กว่า คือการพบคุณหมอเพื่อรักษาโรคดังกล่าว

อย่างไรก็ดี โรคตึกเป็นพิษยังไม่มีการรักษาอย่างชัดเจน เมื่อพบแพทย์ แพทย์จะรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น และมักแนะนำให้หลีกเลี่ยงภาวะเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ ในอนาคตอีก

ส่วนแนวทางการป้องกันการเกิดโรคดังกล่าว สามารถทำได้โดยการปรับสภาพแวดล้อมการทำงาน อาทิ เปิดประตู/หน้าต่าง เพื่อเพิ่มการถ่ายเทอากาศให้มากขึ้น ทำความสะอาดห้อง/พื้นที่อย่างสม่ำเสมอ ไปจนถึงการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์หรือวัสดุตกแต่ง เช่น สีทาผนัง วอลล์เปเปอร์ติดผนังที่มีค่าสารระเหย หรือ VOCs ในระดับต่ำ ก็สามารถช่วยลดการเกิดโรคตึกเป็นพิษได้

ที่สำคัญ ต้องไม่ลืมที่จะดูแลสุขภาพของตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อให้มีแรงหาเงินและใช้ชีวิตในแบบที่อยากใช้ต่อไป

ข้อมูลจาก สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน), Pobpad.com, TCDC Material Database