แพทย์ยืนยัน กัญชารักษามะเร็งไม่ได้

ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา กระแสการใช้กัญชาเพื่อการรักษาโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคร้ายอย่างมะเร็ง เป็นที่พูดถึงกันมากพอสมควร ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันว่ามีสารใดในกัญชาที่สามารถกำจัดเซลล์มะเร็งได้ แต่ก็มีผู้ป่วยที่ใช้กัญชาหลายรายออกมายืนยันว่าสามารถรักษาได้จริง จนเกิดคำถามว่า ถ้ายังไม่มีผลวิจัยทางการแพทย์ใดที่ยืนยันความสามารถนี้ แล้วกัญชาจะสามารถรักษาโรคร้ายอย่างมะเร็งได้จริงหรือ

ในงานเสวนา “ชัวร์หรือมั่วนิ่ม เกี่ยวกับโรคมะเร็ง” ที่จัดโดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ผศ.นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ ภาควิชาอายุรศาสตร์ (เภสัชศาสตร์วิทยาและพิษวิทยาคลินิก) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า ในปัจจุบันหากพูดถึงการใช้กัญชาเพื่อการรักษาโรค จะหมายถึงสาร 2 ชนิดที่อยู่ในตระกูล “แคนนาบินอยด์” (cannabinoid) ได้แก่ THC และ CBD

สาร THC คือ สารในตระกูลแคนนาบินอยด์ที่มีฤทธิ์ทำให้เกิดอาการหลอน อาการเมา และนำไปสู่การเสพติด ซึ่งในทางการแพทย์จะสามารถใช้สารประเภทนี้แก้อาการคลื่นไส้ อาเจียน และสามารถลดปวดคลายกล้ามเนื้อได้

ส่วนสาร CBD จะเป็นสารในกลุ่มแคนนาบินอยด์ที่มีฤทธิ์ต้านอาการหลอน ต้านอาการเมาของสาร THC ซึ่งในทางการแพทย์สามารถใช้สารประเภทนี้ในการลดปวดคลายกล้ามเนื้อได้ แต่จะมีผลข้างเคียง คือ ทำให้คลื่นไส้ อาเจียน

ในปัจจุบันสารในตระกูลแคนนาบินอยด์ มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ 6 ข้อ ได้แก่ 1.ภาวะคลื่นไส้ อาเจียน 2.โรคลมชักที่รักษาได้ยาก และโรคลมชักที่ดื้อยา 3.ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง 4.ภาวะปวดประสาท 5.ภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วยเอดส์ที่มีน้ำหนักตัวน้อย 6.การเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ซึ่งมีหลักฐานทางการแพทย์พบว่าประสิทธิผลไม่ได้ดีกว่าการรักษามาตรฐาน ทางกรมการแพทย์จึงให้ใช้เป็นยารักษาเสริมในกรณีที่การรักษามาตรฐานไม่บรรลุเป้าหมายเท่านั้น ไม่ให้ใช้เป็นยาเริ่มต้น

อีกทั้งยังต้องสั่งจ่ายโดยบุคลากรทางการแพทย์ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรกัญชาทางการแพทย์ของกรมการแพทย์เท่านั้น

สำหรับการใช้กัญชารักษาโรคมะเร็ง ซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่นั้น คุณหมอให้คำตอบว่า ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาที่เพียงพอที่จะสนับสนุน ดังนั้นจึงไม่สามารถใช้รักษาโรคมะเร็งได้ อย่างไรก็ดี สารสกัดจากกัญชาสามารถใช้เป็นยาเสริมเพื่อบรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียน และรักษาความเจ็บปวดของผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคองที่อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดได้

มีข้อมูลเพิ่มเติมถึงผลการศึกษาการใช้กัญชาที่มีผลเสียในมนุษย์ คือ เพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคถุงลมโป่งพอง เส้นเลือดในสมองตีบ เส้นเลือดในหัวใจตีบ หัวใจเต้นผิดจังหวะ มะเร็งอัณฑะ การท้องนอกมดลูก มีผลต่อการทำงานของตับและไต อีกทั้งยังรบกวนระดับยาและผลของยาเคมีบำบัดและยารักษามุ่งเป้าอีกด้วย

ผศ.นพ.สหภูมิแนะนำว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็งควรได้รับการดูแลจากแพทย์แผนปัจจุบันอย่างใกล้ชิด และควรปรึกษาแพทย์ หากมีความประสงค์ที่จะรักษาด้วยแพทย์ทางเลือกอื่นควบคู่กันไป เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าตลอดการรักษา และป้องกันอันตรายต่อสุขภาพของผู้ป่วยเอง