Back to basic เผยเทคนิค “หยอดกระปุกน้อย” แต่เก็บนาน !

อยากไปเที่ยวเกาหลี อยากได้กล้องโลโม่ อยากได้เสื้อตัวใหม่ อยากฉีดโบท็อกซ์…โอ๊ย ! อยากไปหมด แต่พอมาดูรายรับของตัวเองก็เศร้าใจ เงินเดือนแค่นี้แต่อยากได้ตั้งเท่านั้น คิดแล้วก็เจ็บใจตัวเอง…โซแซดจริง ๆ

ทันใดนั้นฉันก็หันไปเห็นกระปุกหมูน้อยสีแดงที่โดนแงะไปแล้ว ตอนเป็นเด็กฉันก็เคยมีการออมเงินนี่นา จะเก็บมาก เก็บน้อย แต่หากเราตั้งใจมุ่งมั่นที่จะเก็บออมแล้วละก็ ยังไงต้องได้ผลละน่า

จำได้ขึ้นใจเลย สมัยเด็ก ๆ แม่บอกว่า “ถ้าอยากได้ดินสอสีไม้สวย ๆ ให้แบ่งเงินจากค่าขนม เก็บออมใส่กระปุก” หากหยอดได้จนเต็ม (แต่ไม่เคยเต็มสักที T_T) แล้วนำเงินส่วนนี้ไปซื้อจะภูมิใจกว่าแบมือขอแม่มาก ๆ

ตอนนั้นเราก็ทำตามนะเพราะอยากได้ ๆๆๆ และสุดท้ายพอเก็บไปได้สักครึ่งกระปุกมั้ง แม่ก็บอกว่าจะช่วยออกให้ครึ่งหนึ่ง แต่เรายืนยันด้วยความมุ่งมั่นว่า “ไม่เอาหรอก เดี๋ยวแม่แย่งใช้…” (ซะง้าน ! งกตั้งแต่เด็ก) เลยหยอดกระปุกต่อไปเรื่อย ๆ แล้วพอแงะกระปุกออกมา ได้เงินมากกว่า ค่ากล่องดินสอสีเล็ก ๆ หนึ่งกล่องด้วยซ้ำ ตอนนั้นยิ้มหน้าบานเชียว

แต่หลังจากนั้นการหยอดกระปุกสำหรับฉันก็กลายเป็นเรื่องที่แสนเชย กระปุกหมูน้อยสีแดงไม่มีความหมายอีกแล้ว เพราะอาศัยฝากธนาคารแบบออมทรัพย์กินดอกเบี้ยไม่กี่สิบบาท…แต่สุดท้ายก็หมดอยู่ดี เพราะมีบัตรเอทีเอ็มที่สามารถกดเงินออกมาได้จนกว่าเงินในบัญชีจะเกลี้ยง

มาวันนี้ฉันได้สะกินความทรงจำสมัยเด็ก ๆ เรื่องการหยอดกระปุกด้วยความต้องการสะสมเงินให้เต็มกระปุกเพื่อสนองความอยากในใจ และแล้วภารกิจหยอดกระปุกจึงเริ่มต้นขึ้น !

เป้าหมาย…มีไว้พุ่งชน

วิธีที่จะจูงใจตัวเองให้หยอดกระปุกได้นั้นไม่ยากเลย เพียงแค่หา Post-it สีสวย ๆ มาเขียน “เป้าหมาย” ของเงินจำนวนนั้นไว้ พร้อมระบุระยะเวลาที่จะแงะออกมาด้วยนะ แล้วแปะลงบนกระปุก เช่น กระปุกหมูน้อยสีแดงสำหรับทริปเกาหลีหน้าหนาว เริ่มเก็บวันนี้ถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน โดยเขียนเป้าหมายไว้ตัวโต ๆ ชัด ๆ แล้วลองคำนวณดูว่า เราต้องใช้เงินเท่าไหร่ในช่วงเดือนที่จะไปเกาหลี จากนั้นค่อยหารเฉลี่ยหยอดกระปุกโดยแบ่งเป็นรายวัน

ที่สำคัญเขีย Post-it อีกแผ่นหนึ่งแปะไว้ด้วยว่า

“หากทำไม่ได้…ก็ไม่ต้องไป !” (T_T)

หากทำไม่ได้ตามที่ตั้งเป้าเอาไว้ก็ควรเลื่อนกำหนดการเดินทางออกไปจนกว่าจะทำได้ โดยห้ามแคะกระปุกเด็ดขาด ไม่ต้องเอาออกมานับด้วย ให้แกะออกวันสิ้นภารกิจ

อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจคือ ต้องวางตำแหน่งของกระปุกไว้ในที่ที่ชัดเจนต่อสายตาของเรา เพื่อคอยเตือนตัวเองทุก ๆ วัน เช่น หน้ากระจกโต๊ะเครื่องแป้ง หรือวางบนหัวนอนเหมือนตอนเด็ก ๆ เป็นต้น

การหยอดกระปุกแบบนี้ควรแยกออกจากการออมเงินเพื่ออนาคตหรือเงินสำรองฉุกเฉิน เพราะว่าเป็นการกำหนดเป้าหมายที่เป็นชิ้นเป็นอัน และตอบสนองกิเลสตัณหาของตัวเองให้ได้ เช่น กระปุกหมูสีแดงสำหรับกิจกรรมท่องเที่ยว กระปุกหมีสีน้ำตาลสำหรับซื้อไอโฟนสักเครื่อง เป็นต้น นอกจากจะเป็นการเรียกความรับผิดชอบของตัวเองแล้ว ยังเหมือนการผ่อนเงินสดซื้อของ แค่เพียงผ่อนลงกระปุกโดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ยให้ของที่อยากได้แพงขึ้นอีกด้วย

พอหยอดไปได้สักพักก็เกิดคำถาม 1 ข้อดังขึ้นในใจว่า เอ๊ะ…ก็ในเมื่อเรามีรายได้เป็นรายเดือน แล้วเราจะหยอดกระปุกแบบรายวันได้อย่างไร (ถึงจะไม่ช็อต)

ฉันก็นั่งคิดนอนคิดไปกับคำถามสักพักแล้วจึงได้คำถามมาว่า เศษเหรียญ 1 บาท, 2 บาท, 5 บาท และ 10 บาท ที่เหลือทอนนั่นไง…หยอดเข้าไปเลย อย่าไปดูถูกเศษเหรียญชียวนะ แกะออกมาทีได้หลายร้อยบาททีเดียว รวมทั้งเหรียญ 25 สตางค์ 50 สตางค์ ที่ได้จากการทอนเงินตามซูเปอร์มาร์เก็ตด้วยเหรียญ 25 สตางค์ 4 เหรียญก็ได้ 1 บาทแล้ว เก็บเหรียญให้ครบทุกสตางค์ไปเลย

และเมื่อฉันแงะกระปุกออกมาในวันเสร็จสิ้นภารกิจ ก็เข้าใจและรู้คุณค่าของเหรียญย่อย ๆ ทันทีว่าสามารถช่วยเพิ่มยอดเงินของเราได้เหมือนกัน !

เท่านั้นไม่พอ สำหรับคนอย่างฉันต้องมีการเพิ่มเลเวลของเป้าหมาย จึงคิดถึงการหยอดกระปุกแบบมีเงินดาวน์ขึ้น คือเรามีเงินส่วนออมอยู่แล้วครึ่งหนึ่งของราคาของที่อยากได้ จากนั้นก็เก็บไว้ก่อนสำหรับก้อนนี้…อดทนหน่อย แล้วก็หยอดกระปุกลงไปเพิ่มเพื่อให้เท่ากับราคาของที่เราอยากได้อีกครึ่ง ที่เหลือจนกว่าจะครบจำนวนราคาของสิ่งนั้น หลายครั้งที่ฉันรู้สึกว่ากว่าจะสะสมเงินจนครบ…ก็ไม่อยากได้แล้ว หรือราคาของชิ้นนั้นอาจถูกลงกว่าเดิมก็ทำให้เราได้ของมาในราคาประหยัด แล้วยังมีเงินเหลือเพื่อเป้าหมายอย่างอื่นอีกด้วย

แต่การหยอดกระปุกนี่อาจเป็นเรื่องง่าย ๆ ที่หลายคนทำไม่สำเร็จก็ได้ (อย่าแพ้เด็กประถมฯ นะ…จะบอกให้)

 

ขอบคุณที่มาจากหนังสือ  Knockdown Money ออมเงินให้อยู่หมัด  โดย ศรัญญา โรจน์พิทักษ์ชีพ สำนักพิมพ์มติชน สั่งหนังสือออนไลน์ส่งตรงถึงบ้านได้ที่ www.matichonbook.com