แบงก์กรุงเทพสานต่อชมนาดครั้งที่ 9

ก้าวสู่ครั้งที่ 9 สำหรับโครงการประกวดงานวรรณกรรมยอดเยี่ยมประเภทนวนิยาย (Chommanard Book Prize) เวทียกระดับนักเขียนสตรีเข้าสู่ระดับสากล จัดโดย บริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด ร่วมกับ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

ปีนี้มีผู้ส่งผลงานนวนิยาย (fiction) เข้าประกวดมากถึง 39 เล่ม โดยมีผลงานที่ผ่านเข้ารอบไปชิงชัย 8 เล่ม ประกอบด้วย คำสาปบริสุทธิ์, ผาชัน เสือแค้น และคืนหนึ่ง, อาณาจักรที่แสงอาทิตย์ไม่เคยส่องถึง, หากค่ำคืนนี้หัวใจไม่แหลกยับเยินเสียก่อน, รอยบาศ, ไผ่ลายหยก, ดินแดนที่ไร้รอยน้ำตา และดอกไม้ใต้แสงตะวัน

โดยคณะกรรมการที่พิจารณาต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “หนักใจ” เพราะทุกเล่มร้อยเรื่องราวได้น่าสนใจ น่าติดตาม อ่านสนุกจนวางไม่ลง

นรีภพ จิระโพธิรัตน์ อดีตบรรณาธิการนิตยสารสกุลไทย ประธานกรรมการรอบคัดเลือกการประกวดวรรณกรรมรางวัลชมนาด ครั้งที่ 9 บอกว่า ปีนี้สนุกทุกเล่ม ตัดสินยากมาก บางเรื่องตัวละครมีรอยตำหนิ ผู้เขียนเฆี่ยนตีตัวละครจนเราสงสาร แต่การดำเนินเรื่องทำให้ต้องติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ บางเรื่องแม้ไม่เห็นโครงเรื่องชัด แต่บรรยายตัวละครได้ดี

“ความเป็นนวนิยาย คือ ต้องสร้างความขัดแย้ง อยู่ที่ว่าผู้เขียนจะสร้างกี่ปม เช่น นักเขียนรุ่นใหญ่อาจจะสร้าง 3 ปมขัดแย้งเพื่อให้นวนิยายมีความเข้มข้นและน่าติดตาม แต่จะไม่บอกรายละเอียดหมด ให้ผู้อ่านคาดเดาเอง”

ตัวอย่าง เช่น “ดอกไม้ใต้แสงตะวัน” เนื้อหาเป็นเรื่องของตัวละครหญิงที่เป็นนักโทษคดียาเสพติด แสดงถึงพลังการต่อสู้ชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่ง แม้ว่าจะพบเจอกับชะตากรรมใดก็ตาม แต่ก็สู้ชีวิตด้วยการมีสติ ผู้เขียนเล่าเรื่องได้ละเอียด โครงเรื่องชัด

“ไผ่ลายหยก” เป็นอีกเล่มที่นรีภพบอกว่า โดดเด่นไม่แพ้กัน เสนอเรื่องราวสังคมของบาบ๋าย่าหยา เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาหนึ่ง (ปี 2498) ให้คติสอนชีวิต ให้จังหวะหนักเบา มีความเป็นนวนิยายได้สมบูรณ์

ด้าน จันทร์ยวีร์ สมปรีดา เจ้าของนามปากกา “รอมแพง” นักเขียนนวนิยายที่โด่งดังจนกลายเป็นบทละครแห่งยุค “บุพเพสันนิวาส” ให้ทรรศนะว่า ประทับใจ “รอยบาศ” เป็นเรื่องการกลับชาติมาเกิด การวนเวียนผูกพันกัน เป็นการใช้ไทม์ไลน์ที่แปลก ขณะที่ “ระการาหุล” แม้จะไม่ได้เข้ารอบ แต่มีความน่าสนใจ ใช้ไก่เป็นตัวเอก สำนวนน่าติดตามและอ่านสนุก

จันทร์ยวีร์บอกว่า ประเด็นหนึ่งที่ให้ความสำคัญในการพิจารณา คือ สำนวนภาษาและการเล่าเรื่อง เพราะต่อให้แนวคิดของเรื่องดี ถ้าการผูกเรื่องหรือสำนวนไม่ดี จะไม่ชวนให้อ่านตั้งแต่ต้นจนจบ

ขณะที่ จิรัฏฐ เฉลิมแสนยากร นักเขียนเรื่องสั้น เจ้าของนามปากกา “สมุด ทีทรรศน์” และนักวิจารณ์วรรณกรรม บอกว่า “ชอบไผ่ลายหยก” นำเสนอประเด็นปัญหาของลูกผู้หญิงคนหนึ่งที่ต่อสู้เพื่อครอบครัวคนจีน พูดถึงความสัมพันธ์ของแม่กับลูกสาว พี่สาวกับน้องสาว และความโดดเด่นอีกเรื่อง คือ นำเสนอขนบธรรมเนียมของครอบครัวคนจีน ในช่วง 2498-2510 ผู้เขียนใช้ข้อมูลทางยุคสมัย เรื่องราวทางประวัติศาสตร์การเมืองมาเป็นพื้นเรื่อง ทำให้สีสันของเรื่องสมจริงขึ้น มีความเด่นชัดที่สุดใน 39 เรื่องที่อ่าน

อีกเรื่องคือ “หากค่ำคืนนี้หัวใจไม่แหลกยับเยินเสียก่อน” มีความเป็นเอกภาพของความเป็นนวนิยาย ใช้ศูนย์กลางของเรื่องเป็นชุมชนหนึ่งที่หาดใหญ่ นอกจากวิธีการเล่าเรื่องที่ใช้การร้อยตัวละครที่อยู่ต่างที่เข้ามาอยู่ในที่เดียวกัน

เป็นมุมมองของกรรมการรางวัลชมนาด จากนี้ต้องลุ้นว่าจาก 8 เล่มที่เข้ารอบชิง เล่มไหนจะโดนใจกรรมการ และคว้ารางวัลไปครอง !!