ขุดทองได้แมมมอธ ซากตัวน้อย อายุ 30,000 ปี สภาพสมบูรณ์เหมือนแค่หลับ

ทีมขุดทองแคนาดาตะลึง ตักดินขุดหาสมบัติ แต่ไปเจอซากช้างน้อย แมมมอธ ดึกดำบรรพ์ เหมือนนอนหลับพริ้มอยู่ นักวิทยาศาสตร์มาตรวจดู ตะลึงสภาพที่สมบูรณ์มาก ทั้งที่อายุราว 3 หมื่นปี

วันที่ 28 มิถุนายน 2565 เดอะการ์เดียน รายงานการค้นพบซากลูกช้างแมมมอธขนยาว (woolly mammoth) เพศเมีย อายุเก่าแก่กว่า 30,000 ปีที่ดินแดนยูคอน (Yukon) ทางตะวันตกของประเทศแคนาดา สภาพสมบูรณ์มากเหมือนว่ามันแค่หลับอยู่

(Government of Yukon)

ผู้ค้นพบซากสัตว์ดึกดำบรรพ์สามหมื่นปี คือ คนงานหนุ่มของเหมืองทอง Treadstone Mining ที่ยูเรกา ครีก ทางใต้ของเมืองดอว์สัน เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.  ชายหนุ่มบังคับรถตักดินขุดลงไปและไปติดอะไรบางอย่าง จึงไปตามหัวหน้างาน ชื่อ ไบรอัน แมคคัฟแฮน มาดูในทันที

เมื่อหัวหน้างานมาถึงและเห็นร่องรอยสิ่งที่พบ จึงสั่งหยุดงานบริเวณดังกล่าวทันที พร้อมถ่ายภาพส่งไปให้นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญในครึ่งชั่วโมงต่อมา

(Government of Yukon)

จากนั้นทีมนักวิทยาศาสตร์เดินทางมาตรวจสอบพร้อมกับคนงาน ทุกคนต่างตกตะลึงที่เห็นโครงร่างและผิวหนังเกือบทั้งหมดอยู่ในสภาพสมบูรณ์ เสมือนกับว่ามันยังมีชีวิตอยู่ มีขนและร่องรอยขีดข่วนที่เท้าปรากฏให้เห็นชัดเจน

ดร.แกรนต์ ซูซูลา นักบรรพชีวินวิทยา กล่าวว่า จังหวะการค้นพบของหนุ่มคนงานเหมืองเกิดขึ้นได้ครั้งเดียวในชีวิต เป็นกรค้นพบด้านบรรพชีวินวิทยาที่สำคัญที่สุดในอเมริกาเหนือ

(Klondike Placer Miner’s Association)

“เธอมีงวง เธอมีหาง เธอมีหูเล็กๆ เธอมีตัวจับที่ปลายงวงไว้สำหรับกินหญ้า เธอสมบูรณ์แบบ และสวยงาม” ดร.ซูซูลากล่าวถึงซากที่พบ

การที่ซากสมบูรณ์ขนาดนี้เพราะอยู่ที่ใต้ชั้นดินเยือกแข็งคงตัวหรือเพอร์มาฟรอสต์ (permafrost) จึงช่วยรักษาร่างของมันไว้ไม่ให้เน่าเปื่อย

ขนาดใกล้กับตัวที่พบในไซบีเรีย

ต่อมานักวิทยาศาสตร์ตั้งชื่อลูกแมมมอธว่า “นุนโชกา” (Nun Cho Ga) เป็นภาษาของชนพื้นเมืองแถบยูคอน แปลว่า “ลูกสัตว์ตัวใหญ่” และกล่าวว่ามันมีขนาดตัวพอ ๆ กับ “ลยูบา” (Lyuba) ซากลูกแมมมอธขนยาวอายุ 42,000 ปี ซึ่งค้นพบที่ไซบีเรียเมื่อปี 2007 (พ.ศ.2550)

ลยูบา (Lyuba) ซากแมมมอธน้อยที่พบในแถบไซบีเรีย ก่อนหน้านี้

งานวิจัยของมหาวิทยาลัยแม็กมาสเตอร์ที่เผยแพร่เมื่อปี 2021 วิเคราะห์ดีเอ็นเอของสิ่งมีชีวิตโบราณที่หลงเหลืออยู่ในชั้นดินเยือกแข็งคงตัว พบว่าแมมมอธขนยาวมีชีวิตอยู่ร่วมสมัยกับม้าป่า สิงโตถ้ำ และควายไบซันยักษ์ ในทุ่งหญ้าสเตปป์ของภูมิภาคยูคอนมาอย่างยาวนานตั้งแต่ยุคน้ำแข็ง

จนกระทั่งสูญพันธุ์ไปเมื่อราว 5,000 ปีก่อน โดยสาเหตุนั้นมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ไม่ใช่เพราะถูกมนุษย์ไล่ล่าจนสูญพันธุ์แต่อย่างใด

(Yukon government)

ยังไม่มีใครคืนชีพแมมมอธได้

บีบีซี รายงานว่า แมมมอธขนยาวตัวผู้มีความสูงราว 3.5 เมตร ส่วนตัวเมียเตี้ยกว่าเล็กน้อย งาที่โค้งงอนของมันมีความยาวสูงสุดถึง 5 เมตร ส่วนขนหนาใต้ท้องที่ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น มีความยาวได้ถึง 3 เมตรเลยทีเดียว อย่างไรก็ตามมันมีใบหูเล็กกว่าช้างในปัจจุบันมากและมีหางสั้น เพื่อป้องกันการสูญเสียความร้อน

เนื่องจากแมมมอธมีพันธุกรรมใกล้เคียงกับช้างในปัจจุบันมาก โดยมีดีเอ็นเอที่เหมือนกันถึง 99.4% นักวิทยาศาสตร์หลายคณะจึงมีความคิดที่จะทำให้พวกมันฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง โดยใช้เทคนิคการโคลนหรือดัดแปลงพันธุกรรมหลากหลายวิธี แต่ยังไม่มีผู้ใดทำได้สำเร็จ

……….