องค์ประกอบพื้นฐานของ RNA มีอยู่มหาศาล ในกลุ่มเมฆใจกลางกาแล็กซี ทางช้างเผือก

RNA

ทีมนักชีวดาราศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีการบินอวกาศแห่งชาติสเปน (INTA) ค้นพบว่ากลุ่มเมฆโมเลกุลที่เย็นยะเยือกบริเวณใจกลางดาราจักรที่เราอาศัยอยู่ เต็มไปด้วยสารอินทรีย์หลากชนิดในปริมาณที่หนาแน่นอย่างมหาศาล ซึ่งสารอินทรีย์กลุ่มหนึ่งในจำนวนนี้เป็นองค์ประกอบพื้นฐานของสารพันธุกรรมอาร์เอ็นเอ (RNA) ที่อาจเป็นต้นกำเนิดของสิ่งมีชีวิตบนโลก

รายงานการค้นพบดังกล่าวตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Astronomy and Space Sciences โดยถือเป็นเบาะแสสำคัญที่จะนำไปสู่คำตอบของปริศนาเรื่องที่ว่า สิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นจากสสารที่ไม่มีชีวิตได้อย่างไร

ภาพถ่ายใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือก ซึ่งนำข้อมูลรังสีเอกซ์ (สีเขียวและสีน้ำเงิน) จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทรา รวมเข้ากับข้อมูลคลื่นวิทยุ (สีแดง) จากกล้องโทรทรรศน์ MeerKAT บนพื้นโลก

ที่มาของภาพ, NASA / CXC / MEERKAT

ทีมผู้วิจัยใช้กล้องโทรทรรศน์ 2 ตัว สังเกตดูความเปลี่ยนแปลงในสเปกตรัมของแสงที่มาจากกลุ่มเมฆโมเลกุล G+0.693-0.027 ซึ่งอยู่ในแถบศูนย์กลางของกาแล็กซีทางช้างเผือก โดยวิเคราะห์ค่าความสว่างและสีของแสงหลังถูกโมเลกุลต่าง ๆ ในกลุ่มเมฆดูดซับและปลดปล่อยออกมาอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้บอกได้ว่ามีโมเลกุลของสารเคมีใดอยู่บ้าง

ผลปรากฏว่ากลุ่มเมฆโมเลกุลดังกล่าว มีสารเคมีต่าง ๆ ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการก่อตัวของระบบสุริยะ ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับระบบดาวฤกษ์อื่น ๆ ในดาราจักรของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีสารอินทรีย์กลุ่ม “ไนไตรล์” (Nitrile) ซึ่งเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของอาร์เอ็นเออยู่หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นกรดไซยานิก (cyanic acid) ไซยาโนอัลลีน (cyanoallene) โพรพาร์กิลไซยาไนด์ (propargyl cyanide) ไซยาโนโพรพีน (cyanopropyn) ไซยาโนฟอร์มัลดีไฮด์ (cyanoformaldehyde) และไกลโคโลไนไตรล์ (glycolonitrile)

แม้สารเคมีกลุ่มไนไตรล์นี้จะเป็นพิษเมื่ออยู่โดดเดี่ยว แต่กลับกลายเป็นสารที่เกื้อหนุนต่อการให้กำเนิดสิ่งมีชีวิต เมื่อรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างสารพันธุกรรม RNA

RNA
เชื่อกันว่าอาร์เอ็นเอเป็นสารพันธุกรรมที่ให้กำเนิดชีวิตบนโลก Getty Images

การค้นพบครั้งนี้เป็นข้อพิสูจน์ว่า โลกได้รับสารตั้งต้นที่จำเป็นต่อการสังเคราะห์อาร์เอ็นเอจากห้วงอวกาศ โดยอาจติดมากับอุกกาบาตต่าง ๆ ที่พุ่งชนโลกในอดีต หรือได้รับสารเคมีสำคัญนี้จากกลุ่มเมฆโมเลกุลที่ให้กำเนิดระบบสุริยะโดยตรงก็เป็นได้

สภาพการณ์เช่นนี้หมายความว่า ดาวเคราะห์อื่น ๆ จำนวนมหาศาลในดาราจักรของเรา ซึ่งถือกำเนิดจากกลุ่มเมฆโมเลกุลเช่นกัน ต่างก็มีโอกาสเกิดการสังเคราะห์อาร์เอ็นเอและให้กำเนิดสิ่งมีชีวิตในแบบเดียวกับโลกได้

ผลการศึกษาดังกล่าวสอดคล้องกับแนวคิดที่เรียกว่า “สมมติฐานโลกอาร์เอ็นเอ” (RNA World Hypothesis) ซึ่งเชื่อว่ากระบวนการทางชีวเคมีพื้นฐานที่ผ่านการคัดเลือกโดยธรรมชาติ ได้ทำให้เกิดกรดไรโบนิวคลีอิกหรืออาร์เอ็นเอ ซึ่งเป็นสารพันธุกรรมยุคแรกขึ้นหลากหลายรูปแบบ โดยปฏิสัมพันธ์ระหว่างอาร์เอ็นเอชนิดต่าง ๆ นี้เอง ที่เป็นสะพานเชื่อมต่อทางวิวัฒนาการระหว่างสารเคมีไร้ชีวิตกับสิ่งมีชีวิตเซลล์แรกบนโลก

…..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว