วาววับ-ละลานตา “เครื่องเงิน” อัตลักษณ์ท้องถิ่นทางเหนือไทยที่ “สยามเจมส์” สืบสาน

“เครื่องเงิน” ถือเป็นสินค้าเลื่องชื่อที่ใครแวะมาผ่านไปทางภาคเหนือของไทยก็ย่อมจะติดไม้ติดมือ “เครื่องประดับเงิน” กลับบ้านเป็นของที่ระลึกเสมอ เพราะเป็นเมืองต้นทางส่งออกเครื่องเงินทั้งในและต่างประเทศ จึงมีราคาที่จับต้องได้ ตั้งแต่ของชิ้นเล็กอย่าง “ต่างหู” “แหวน” “สร้อย” ไปจนถึงของชิ้นใหญ่อย่าง “เข็มขัด” และ “กระเป๋า” ตลอดจนข้าวของไลฟ์สไตล์อย่าง “ภาชนะเครื่องเงิน” “ของตกแต่งบ้าน” ที่มีราคาสูงขึ้นตามขนาดและความปราณีต

หากแม้นไม่ได้ให้ความสำคัญมาก หลายคนอาจจะมองว่า เครื่องเงินที่ไหนก็คง “เหมือนๆ กันหมด” แต่เมื่อพินิจในรายละเอียดด้านเทคนิคแล้ว แต่ละจังหวัดนี้ก็ล้วนแต่มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไป ซึ่งทั้งหมดก็ล้วนแล้วแต่สวยงาม แวววับ และดูละลานตาน่าชมทั้งสิ้น

ส่องเครื่องเงินเลื่องชื่อที่ “น่าน”

เริ่มต้นกันที่ ร้านนำชัยเครื่องเงินซึ่งมีตัวชูโรงอย่างคอลเลคชั่น “รังนก” ครบชุดทั้ง แหวน กำไล สร้อยคอและต่างหู ซึ่งอุราทิพย์ จารุศิรากุล บอกว่า เครื่องประดับเงินสไตล์รังนก หรือ เส้นมาม่า นี้ เป็นผลงานเด่นซึ่งใช้เทคนิคพิเศษเฉพาะของทางร้าน ด้วยการสานและถักเส้นเงิน มีจุดตั้งต้นไอเดียมาจากนกซึ่งมาทำรังในบริเวณบ้าน โดยปัจจุบันสินค้าชุดนี้ส่งออกขายยังประเทศแถบยุโรป ผ่านทางพ่อค้าคนกลางจากกรุงเทพฯ ที่ออเดอร์จำนวนชิ้นมา

อีกหนึ่งสินค้าคลาสิคร่วมสมัยคือ “กระเป๋าคลัทช์สานเงินแท้” ที่อุราทิพย์ระบุว่า เนื่องจากตนเห็นคนเถ้าคนแก่มักสานเสื่อเพื่อใช้เอง จึงลองเอาเงินที่ตนมีมาสานดู ปรากฎว่าใช้ได้เช่นกัน ซึ่งกระเป๋าสานมือนี้ใช้เวลาผลิตประมาณ 2-3 วัน

ต่อกันที่ ร้านเอกภัทรเครื่องเงิน อีกหนึ่งผู้ประกอบการจากน่านซึ่งชูเอกลักษณ์ “ตอกลายดอกพิกุล” โดยสมควร กิตติพณิตนันท์ ระบุว่า สินค้าของทางร้านเน้นลายดอกพิกุล เพราะเป็นลวดลายที่คนทั่วไปชื่นชอบ โดยส่งขายในประเทศเป็นหลักอย่าง เชียงใหม่ เชียงราย และกรุงเทพฯ

ทั้งนี้เผยว่า กระแสละครบุพเพสันนิวาสฟีเวอร์ทำให้สามเดือนที่ผ่านมามีออเดอร์เข็มขัดเงินเยอะเป็นพิเศษ

อีกหนึ่งผู้ประกอบการซึ่งชูเอกลักษณ์งานสลักดุนของน่าน สินีนาฎ ฟุ้งพงศธร ผู้เปลี่ยนจากช่างประกอบในวัยเด็กมาเป็นผู้ประกอบการ “ร้านพันศิลป์ซิลเวอร์” ระบุว่า เอกลักษณ์ของทางร้านคืองานตอกลายสองด้าน ซึ่งจะทำให้ชิ้นงานเงินโดดเด่นยิ่งขึ้น ขณะที่ชิ้นไฮไลต์อย่าง “กำไลสานเงินแท้” ที่มีการตีโค้งตรงกลาง ใช้เงินแท้ 98%

เอกลักษณ์สุโขทัย: ลงยา-ลวดลายอ่อนช้อย

นอกเหนือจากน่านที่ขึ้นชื่อด้านภูมิปัญญาการผลิตเครื่องเงิน “สุโขทัย” คืออีกหนึ่งเมืองที่มีดีเรื่องเครื่องเงิน โดยเฉพาะ “เทคนิคลงยา” หรือ การลงสี

ร้านไหมเงิน หนึ่งในผู้ประกอบการเครื่องเงินจากสุโขทัย ระบุถึงเอกลักษณ์เครื่องเงินสุโขทัยที่แตกต่างจากที่อื่นว่า เงินแท้ 99.99 % มีการลงยา และเป็นงานทำมือทุกขั้นตอน นอกจากนี้ยังสำหรับร้านของตนมีความโดดเด่นเรื่องความอ่อนช้อยของลวดลาย และกลุ่มลูกค้าหลักคือทัวร์จากยุโรป

อีกหนึ่งผู้ประกอบการเครื่องเงิน “ร้านเงินนพวิบูลย์ ซึ่งชูเอกลักษณ์งานติดลายลงยาบนลวดลายที่ออกแบบเอง รวมทั้งการฉลุชิ้นงานและยกดอกดุนลาย ระบุว่า การฉลุลายทำเพื่อสร้างมิติและเป็นการลดน้ำหนักให้ลูกค้า เนื่องจากหากเป็นแผ่นเรียบทั้งหมดจะทำให้น้ำหนักมากและลวดลายจะไม่พลิ้ว

“สินค้าร้านตนใช้เงินแท้ 99% เพราะถ้าเนื้อแข็งจะดัดไม่ได้” ชยุต พวกอินแสง กล่าวและต่อว่า งานสุโขทัยไม่ได้ขายเงิน แต่เราขายเชิงช่าง แต่ละที่มีเอกลักษณ์ต่างกัน แต่ทั้งนี้แรงบันดาลใจในการสร้างงานของตนมาจากผนังปูนปั้นวัดนางพญา ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

โครงเรือนเงินประดับพลอย-ถมทอง สร้างเอกลักษณ์แตกต่าง

เครื่องเงินไม่ได้จำกัดเฉพาะเพียงภาพลักษณ์ภายนอกที่เป็น “สีเงิน” แต่เครื่องประดับที่สร้างจากโครงเรือนเงิน แล้วมีการชุบทอง ลงยาสี หรือประดับประดาด้วยอัญมณีต่างๆ ก็นับว่าเป็นเครื่องประดับเงินเช่นกัน

สำหรับ ร้านธนาภรณ์ จิวเวอรี่” จากจันทบุรี ซึ่งมีพื้นฐานมาจากโรงเจียรพลอย ได้พัฒนาสินค้ามาเป็นเครื่องประดับ-สินค้าไลฟ์สไตล์ ที่ผลิตจากโครงเรือนเงินแท้ แล้วใช้เทคนิคเรียงพลอย ประดับประดาพลอยแท้มีคุณภาพ เพื่อตอบโจทย์ตลาดคนจีน

 “ร้านปัณณะศรัณ” โดย ปัณณศรันย์ แก้วประเสริฐ ดีไซน์เนอร์รุ่นใหม่ จากนนทบุรี ที่ส่งเทคนิคการลงยาและถมทองแบบโบราณ ซึ่งบอกว่าทุกชิ้นงานต้องมีเรื่องราว ซึ่งคอลเลคชั่นแรกนี้ก็ได้ไอเดียมาจาก “ดอกบัว”

สยามเจมส์” ลุย “สืบสานงานเงิน”

ณัฐพล ปฐมกุล ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารสินค้า สยามเจมส์ กรุ๊ป กล่าวว่า สยามเจมส์ กรุ๊ป ในฐานะผู้ให้บริการและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ เพื่อตอบสนองทุกไลฟ์สไตล์ของการท่องเที่ยวได้อย่างครบครัน ดำเนินธุรกิจมากว่า 56 ปี ได้จัดโครงการสืบสานงานเงินขึ้น เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการและช่างฝีมือเครื่องเงินที่สมัครเข้าร่วมโครงการ 33 รายทั่วประเทศ ในเรื่อวการขยายช่องทางสินค้า โดยผู้เข้าร่วมโครงการมีโอกาสนำเสนอสินค้าเครื่องเงินและผลงานต่างๆ แบ่งเป็น สินค้าไลฟ์สไตล์ อาทิ ของแต่งบ้าน เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร และสินค้าแฟชั่น อาทิ เครื่องประดับ กระเป๋าถือ กับทีมผู้บริหารสยามเจมส์ กรุ๊ป และผู้เชี่ยวชาญ

โดยกิจกรรม Mini Matching ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดน่าน เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการและช่างฝีมือที่มีศักยภาพและผลงานโดดเด่นจำนวน 6 ราย ได้มีโอกาสเข้าร่วมการอบรมเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์กับโครงการในลำดับต่อไป ได้แก่ ไหมเงิน จ.สุโขทัย, มนตรีเครื่องเงิน จ.สุโขทัย, ปัณณะศรัณ จ.นนทบุรี, ธนาภรณ์ จิวเวอรี่ จ.จันทบุรี, แอลฟ่าคราฟท์เวอร์ค จ.น่าน และนำชัยเครื่องเงิน จ.น่าน

ทั้งนี้ สยามเจมส์ กรุ๊ป จะมีการคัดเลือกผู้ประกอบการในการจำหน่ายสินค้ากับทางสยามเจมส์ Mini Matching ครั้งที่ 2 ที่ จังหวัดสุรินทร์ ในวันที่ 1 สิงหาคม 2561 และผลงานที่ผ่านการพัฒนาทั้งหมดจะได้รับการจัดแสดงสู่สาธารณชน ในวันที่ 18 ธันวาค 2561 ณ ลานแฟชั่นฮอล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน อีกด้วย