กีฬาใหม่ในโอลิมปิกอาจมี “เบรกแดนซ์” ก้าวหน้าหรือแหวกเกินไป?

อาฮุย แผ่นดินใหญ่ : เรื่อง

 

ถ้าวลี “ความเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์” ยังเป็นประโยคที่ใช้งานได้ตลอดกาล ดังนั้นแล้วคงไม่มีใครหนีกรอบนี้พ้น คนกีฬาก็เห็นสิ่งที่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นในรอบหลายปีที่ผ่านมา ในบรรดาเรื่องที่เกิดขึ้นคือกีฬารูปแบบใหม่ ๆ ซึ่งคนทั่วไปอาจไม่คิดว่าจะเป็น “กีฬา” ถูกนิยามว่าเป็นกีฬาได้

กรณีที่ทำให้คนทั่วโลกหันมาสนใจประเด็นการนิยามเกมการเล่นว่าแบบไหนเป็นกีฬาในยุคนี้ คือ การเสนอชื่อ “เต้นเบรกแดนซ์” ให้คณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือไอโอซีพิจารณาบรรจุเป็นกีฬาใหม่ที่จะแข่งขันในโอลิมปิก เกมส์ ที่ปารีสในปี 2024 ซึ่งสำหรับคนทั่วไปแล้วอาจเป็นเรื่องที่ไม่คุ้นเคยนัก แต่สำหรับเยาวชนบางรายน่าจะพอคุ้นกันบ้าง

ที่ว่าเยาวชนพอคุ้นนั้นอ้างอิงมาจากชนิดกีฬาเต้น “เบรกแดนซ์” ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกบรรจุในรายการยูทโอลิมปิก ที่บัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา เมื่อปี 2018 มาแล้ว ระบบการแข่งขันที่ใช้ในยูทโอลิมปิกเป็นรูปแบบ “แบตเทิล” หรือประชันกันตัวต่อตัว และแชมป์ฝ่ายชายในครั้งนั้นก็เป็นนักกีฬาจากรัสเซียที่ได้ไป ขณะที่ฝ่ายหญิงเป็นนักกีฬาสาวจากญี่ปุ่น

สำหรับการพิจารณากีฬาใหม่ที่จะถูกบรรจุในโอลิมปิก 2024 ไอโอซีจะพิจารณาข้อเสนอและตัดสินใจในช่วงปลายปี 2020 ซึ่งข้อเสนอของฝ่ายจัดการแข่งขันของปารีสน่าจะใช้ระบบเดียวกับยูทโอลิมปิกที่ผ่านมา

น่าสนใจที่บันทึกการแข่งขันแสดงให้เห็นว่า กีฬา “เบรกแดนซ์” หรือที่เรียกในอีกชื่อว่า “เบรกกิ้ง” (breaking) ได้รับความนิยมในยูทโอลิมปิกมากทีเดียว สนามแข่งขันกึ่งกลางแจ้งรายล้อมไปด้วยผู้ชมเต็มพื้นที่ บรรยากาศการแข่งครั้งนั้นถือว่ามีผลตอบรับดีมาก

เชื่อว่าผู้จัดกีฬาในโลกธุรกิจยุคใหม่ย่อมศึกษาข้อมูลด้านต่าง ๆ อย่างลึกซึ้งก่อนที่จะเลือกชนิดกีฬาให้ไอโอซีพิจารณาแล้ว โทนี่ เอสตอนเกต์ คณะกรรมการผู้จัดการแข่งโอลิมปิกที่ปารีส แสดงความคิดเห็นว่าการบรรจุกีฬาชนิดใหม่จะทำให้มหกรรมโอลิมปิกฉายภาพบรรยากาศแบบ “เมือง” มากขึ้น และคำที่น่าคิดคือ เป็น “ศิลปะ” มากขึ้น

คำที่เอ่ยถึงข้างต้นอาจไม่ได้อยู่ในสารบบว่าด้วยความเป็นเลิศด้านกีฬาแบบดั้งเดิม ที่ใช้ความแข็งแกร่งทางร่างกายและจิตใจเข้าประชันกัน ขณะที่ในโลกยุคใหม่ช่วงทศวรรษหลัง กรอบมุมมองที่มีต่อกีฬาปรับเปลี่ยนใหม่อย่างสิ้นเชิง ไม่เพียงแค่มุมมองต่อ “กีฬาเบรกแดนซ์” ก่อนหน้านี้ไม่กี่ปีมหกรรมกีฬาระดับภูมิภาคก็เปิดให้อีสปอร์ตเข้าเป็นกีฬาสาธิตดังที่ทราบกันมาแล้ว เมื่อมาถึงปี 2019 ผู้คร่ำหวอดในวงการอีสปอร์ตมองกันว่า เม็ดเงินรายได้รวมที่สะพัดในตลาด

อีสปอร์ตปีนี้จะทะลุเลขหลัก 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นครั้งแรก หรือกิจกรรมด้านความบันเทิงอย่าง “ฟันดาบเรืองแสง (เซเบอร์)” ซึ่งได้อิทธิพลจากภาพยนตร์ไซไฟ สหพันธ์กีฬาฟันดาบของฝรั่งเศสก็เพิ่งประกาศให้การฟันดาบเรืองแสงเป็นประเภทกีฬาแข่งขัน สถานะของการดวลดาบที่มีไฟเรืองแสงคล้ายกับในโลกจินตนาการจากภาพยนตร์ คือเทียบเท่าชนิดการแข่งแบบเซเบอร์ (sabre) และเอเป้ (epee) เหตุผลเบื้องหลังที่สหพันธ์เลือกทำแบบนี้ก็น่าคิดไม่เบา

แซร์จ อูบายี เลขาธิการทั่วไปของสหพันธ์อธิบายว่า คนรุ่นใหม่ยุคนี้ไม่สนใจออกกำลังกายด้วยรูปแบบกีฬาที่มีในสารบบ แต่ไปทำกิจกรรมอย่างอื่นที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและความสนใจด้านอื่น คนในวงการกีฬาก็ปรับตัวเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลง แทนที่จะโน้มน้าวคนรุ่นใหม่แบบปากเปียกปากแฉะ การปรับตัวทางหนึ่งคือหันตัวเองเข้าหาอีกฝ่ายเพื่อสานความสัมพันธ์กับเทคโนโลยี อย่างเช่นที่สมัยก่อนเคยมีสื่อที่เป็นแรงบันดาลใจให้คนหันมาฟันดาบอย่างสามทหารเสือ หรือหน้ากากซอร์โร

หากมองในภาพกว้างนอกเหนือจากโลกกีฬารอบ 1-2 ปีที่ผ่านมา ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่เริ่มจัดระเบียบทางวัฒนธรรมใหม่ในแบบที่ถูกมองว่า “ก้าวหน้า” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัฒนธรรมทางภาษาอย่างการถอดคำว่า “เชื้อชาติ” ออกจากรัฐธรรมนูญ และล่าสุดเพิ่งมีรายงานว่ารัฐสภาเห็นชอบห้ามใช้คำว่า “พ่อ-แม่” ในเอกสารทางการในระบบการศึกษาของประเทศ เพื่อเลี่ยงการเลือกปฏิบัติทางเพศกรณีที่ผู้ปกครองของเด็กเป็นเพศเดียวกัน

เมื่อเปรียบเทียบเส้นทาง “กีฬา” หน้าใหม่ที่ถูกเสนอให้ไอโอซีพิจารณา กับกรณีของอีสปอร์ตที่เติบโตอย่างรวดเร็ว อาจพอทำให้เห็นภาพได้ง่ายขึ้นทั้งในแง่ธุรกิจ กีฬา วัฒนธรรม และสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่ที่น่าสนใจคือ หากมีกีฬาได้รับพิจารณาบรรจุให้แข่งขันได้ กีฬาชนิดอื่นที่มีประวัติยาวนานมาก่อนอย่างสควอช หรือคาราเต้ ก็ยังไม่ได้อยู่ในรายชื่อถูกนำเสนอให้บรรจุ ซึ่งกรณีนี้มีหลายปัจจัย รวมถึงเรื่องการพิจารณาของเจ้าภาพด้วย

ก่อนหน้านี้ไม่กี่ปี หลายคนยังถกเถียงเรื่องสถานะกีฬาของ “อีสปอร์ต” เมื่อครั้งเริ่มเป็นกระแสเข้ามาในหลายประเทศ วันนี้อีสปอร์ตเริ่มมีคนยอมรับมากขึ้นทั้งทางการและคนทั่วไป ไม่ว่าไอโอซีจะตัดสินออกมาอย่างไร เชื่อว่าปรากฏการณ์ใหม่ในฝรั่งเศสให้บทเรียนที่น่าสนใจ และน่าคิดทีเดียวว่าโลกเปลี่ยนไปเร็วกว่าที่คิดเสมอ