AWC ลงทุน 5 ปี 1 แสนล้าน ชี้ธุรกิจท่องเที่ยวฟื้นตัวแรง

ท่องเที่ยวฟื้น

AWC เปิดแผน 5 ปี เทงบฯลงทุน 1 แสนล้าน ทั้งลงเข็มโครงการใหม่- ซื้อกิจการ ชี้สัญญาณธุรกิจท่องเที่ยว-โรงแรมฟื้นตัวเร็ว อัตราเข้าพักเดือน ต.ค. พุ่งแตะ 60% แนวโน้มยอดจองล่วงหน้าปลายปีพุ่งแรงแซงปี’62

นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทวางแผนการลงทุนในระยะเวลา 5 ปี (2565-2569) คิดเป็นเม็ดเงินราว 100,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการพัฒนาโครงการต่อเนื่องประมาณราว 60,000 ล้านบาท อาทิ โครงการโรงแรมอควาทีค พัทยา, ออโตกราฟ คอลเลคชั่น, โรงแรมดิ เอเชียทีค แบงค็อก เป็นต้น

ส่วนอีก 40,000 ล้านบาท มีแผนใช้สำหรับเข้าซื้อกิจการ และการลงทุนด้านความยั่งยืน โดยในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา มีโรงแรมที่เข้ามาเสนอขายกิจการราว 200 แห่ง ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างการประเมินความเหมาะสม

โดยปัจจุบันอัตราการจองห้องพักอยู่ในโมเมนตัมที่ดี โดยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมามีอัตราการจองห้องพักของโรงแรมในเครืออยู่ที่ประมาณ 60% และอัตราการจองห้องพักล่วงหน้าได้สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปี 2562 ไปแล้ว ประเมินว่าเกิดจากความอัดอั้นต้องการออกเดินทาง ถือเป็นสัญญาณภาพรวมที่ดีมาก

นางวัลลภากล่าวว่า สำหรับปัจจัยเสี่ยงในช่วงปลายปี 2565 จนถึงปีหน้า คือ ปัญหาเงินเฟ้อ รวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลายแห่ง ส่งผลให้บริษัทต้องผนึกกับพันธมิตร เพื่อเตรียมกระแสเงินสดและสภาพคล่อง รวมถึงการล็อกอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ อีกทั้งเมื่อสถานการณ์เงินเฟ้อเกิดขึ้น อาจกระทบต่อโครงสร้างราคาหากต้องเข้าซื้อกิจการ และคาดหวังว่าสถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ จะไม่เกิดผลกระทบระยะยาว เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวกระทบการออกเดินทาง

“หลังการระบาดของโควิด-19 ภาครัฐได้ออกโครงการกระตุ้นการออกเดินทาง เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ส่งผลให้ยอดจองห้องพักของโรงแรมในเครือปรับตัวดีขึ้น มีสัดส่วนผู้เข้าพักเป็นชาวไทยราว 30% จากเดิมที่มีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น” นางวัลลภากล่าว

และว่า ส่วนปัจจัยที่ส่งผลต่ออัตราการจองห้องพักขึ้นอยู่กับการกลับมาให้บริการของสายการบินต่าง ๆ คาดว่าอัตราการเข้าพัก (occupancy rate) ยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะ แต่เบื้องต้นจากการขับเคลื่อนของหลายฝ่าย โดยเจาะกลุ่มตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพ ทำให้ปัจจุบันโรงแรมในกลุ่ม AWC มีเรตราคาเฉลี่ยสูงกว่าก่อนโควิด-19 ไปแล้ว จากเดิมอยู่ที่ 4,200 บาทต่อห้อง มาสู่ปัจจุบันที่ 4,900-5,000 บาท

นางวัลลภายังกล่าวถึงการประชุมเอเปค ครั้งที่ 29 ที่เตรียมจัดขึ้นในวันที่ 18-19 พฤศจิกายนนี้ ด้วยว่า เชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นการจองที่พักในเขตกรุงเทพฯ โดยมีสัญญาณยอดการจองห้องพักและสถานที่ประชุมสัมมนาที่สูงในช่วงวันดังกล่าว

นอกจากนี้ จากการที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เตรียมพิจารณาออกโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวช่วงปลายปี อย่างโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 นางวัลลภาเชื่อว่า โครงการดังกล่าวจะเป็นการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวจากในประเทศ เสริมไปพร้อมกับนักเดินทางที่เข้ามาจากต่างประเทศ

“เชื่อว่ายอดการเข้าพักในโรงแรมของกลุ่มจะเติบโตมากขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ ไปจนถึงสิ้นปี 2565 นี้” นางวัลลภากล่าว