เวียตเจ็ท ดีเลย์ระนาว ซีอีโอเชื่อ หลัง 16 ธ.ค.นี้ ปัญหาคลี่คลาย

เวียตเจ็ทดีเลย์ระนาว ผู้บริหารแจงเหตุเครื่องบินส่งซ่อม เชื่อหลัง 16 ธ.ค.นี้ปัญหาล่าช้าคลี่คลาย ส่วนกระเป๋าล่าช้า ยังไม่เห็นทางออกเร็ว ๆ นี้ ยืนยันไม่ขาดแคลนแรงงาน ขอโทษเหตุล่าช้าที่ภูเก็ต

วันที่ 3 ธันวาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบเว็บไซต์ Flightradar 24 พบว่า เมื่อคืนที่ผ่านมา (2 ธันวาคม) เที่ยวบินของสายการบินไทยเวียตเจ็ทแอร์ เดินทางถึงท่าอากาศยานปลายทางล่าช้าจำนวนหลายเที่ยวบิน

นายวรเนติ หล้าพระบาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยเวียตเจ็ท เปิดเผยว่า ผู้โดยสารสายการบินในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มประสบกับปัญหาเที่ยวบินล่าช้า เกิดจากสายการบินนำเครื่องบิน 1 ลำไปซ่อมแซมในต่างประเทศ แต่การดำเนินการล่าช้ากว่ากำหนด

ประกอบกับสายการบินได้รับเครื่องบินใหม่เข้ามาอีก 1 ลำ แต่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ทั้งนี้ คาดว่าปัญหาเที่ยวบินล่าช้าจะเริ่มคลี่คลายตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป

ส่วนปัญหากระเป๋าล่าช้า ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อเกิดปัญหาโควิด-19 ผู้โดยสารสายการบินลดลง ทำให้บริษัทบริการภาคพื้นพิจารณาปรับลดพนักงานบางส่วนออกไป แต่เมื่อปริมาณผู้โดยสารกลับมาอย่างรวดเร็ว ทำให้จำนวนพนักงานยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของสายการบิน จึงทำให้เกิดปัญหาดังกล่าว

“ในฐานะสายการบินขออภัยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และทางสายการบินได้ประสานงานไปยังผู้ให้บริการภาคพื้นที่มีสัญญาร่วมด้วยแล้ว” นายวรเนติกล่าว

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ทางสายการบินยังไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดอย่างชัดเจนว่าปัญหากระเป๋าล่าช้าดังกล่าวจะจบลงเมื่อใด

คมนาคมจี้การบินไทย-บีเอฟเอสแก้ปัญหาใน 1 เดือน

มติชน รายงานเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565 ระบุว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงการแก้ไขปัญหากระเป๋าล่าช้าในสนามบิน ว่า ขณะนี้ ทางกระทรวงฯมี 2 แนวทางในการปฏิบัติ คือ ได้มอบหมายให้ บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) และบริษัท บริการภาคพื้นการบินกรุงเทพเวิลด์ไวด์ไฟล์ทเซอร์วิส จำกัด (บีเอฟเอส) บริษัทในเครือสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ไปดำเนินแก้ไขปัญหาดังกล่าวใน 30 วัน หากไม่สามารถแก้ไขได้ จะมีการเรียกสายการบินอื่น ๆ มาหารือเพื่อหาเอาท์ซอร์ซ (Outsource) มาให้บริการแทน

“ปัจุบันการบินไทยให้บริการภาคพื้นฯ อยู่ที่ 80% ส่วนบีเอฟเอส ให้บริการอยู่ที่ 20% ซึ่งจากปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากบุคลากรในการให้บริการขนกระเป๋าของการบินไทยไม่เพียงพอ เนื่องจากมีการปลดพนักงานออกในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นผลให้ปัจจุบันเหลือพนักงานเพียง 30% เมื่อเทียบกับปี 2562 จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้กระเป๋าล่าช้ากว่ากำหนด ซึ่งเรื่องนี้จะมีการเร่งแก้ไขต่อไป” นายศักดิ์สยาม กล่าว

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ส่วนแผนในระยะยาวได้มอบหมายให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ไปศึกษาหาโอเปอร์เรเตอร์รายใหม่ ๆ มาเตรียมให้บริการเพิ่ม เนื่องปัจจุบันประชาชนรวมถึงนักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาเดินทางมากขึ้นแล้ว ทำให้ปัจจุบันเกิดดีมานมากกว่าซัพพลาย รวมถึงต้องเตรียมพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวจีนที่คาดว่าจะกลับเข้ามาไทยในปี 2566 และรองรับนักท่องเที่ยวที่จะกลับเข้ามาแบบก้าวกระโดด หรือเทียบเท่าก่อนช่วงเกิดโควิด หรือเทียบเท่ากับเมื่อปี 2562 ด้วย

เวียตเจ็ทไม่ขาดแคลนแรงงาน

แม้อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกจะประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน ส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารทั้งสัมภาระล่าช้า หรือถึงขั้นยกเลิกเที่ยวบิน แต่นายวรเนติ ยืนยันกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากแผนของสายการบินที่ต้องการเพิ่มความถี่ และขยายเส้นทางบินมากขึ้นในปี 2566 ยังเชื่อว่าบริษัทจะมีพนักงานเพียงพอต่อความต้องการ

“ในปี 2022 เราเปิดไป 8 จุดบินใหม่ เราเป็นสายการบินไม่แห่งที่เพิ่มพนักงานในช่วงโควิด แต่ธุรกิจสายการบินยังต้องการพนักงานในภาคบริการสูง เรายังต้องการคนทำงานหลาย ๆ ส่วน ด้วยเราจะขยายฝูงบินเพิ่ม ไทยเวียตเจ็ทมีพนักงานราว 990 คน ด้วยภาพลักษณ์ของสายการบิน เชื่อว่าจะช่วยดึงดูดความสนใจแก่แรงงานเข้ามาร่วมงานได้ และมั่นใจว่าไทยเวียตเจ็ทจะมีพนักงานเพียงพอต่อการขยายฝูงบิน” นายวรเนติกล่าว

ชดเชยผู้โดยสารตกค้างที่ภูเก็ต

จากกรณีสื่อหลายสำนักรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา ผู้โดยสารสายการบินไทยเวียตเจ็ท จำนวนกว่า 300 คน ตกค้าง ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต

ต่อมานายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ออกมาชี้แจงว่า สายการบินไทยเวียตเจ็ท เที่ยวบินที่ VZ309 เส้นทางการบิน ภูเก็ต-สุวรรณภูมิ ได้ทำการแจ้งหอบังคับการบินภูเก็ต เพื่อขอกลับเข้าหลุมจอด หลังจากที่ได้นำอากาศยาน เข้าทางวิ่ง (09) เมื่อเวลา 00.05 น. เนื่องจากมีปัญหาผู้โดยสารมีจำนวนเกินขีดความสามารถของอากาศยาน

สาเหตุจากเที่ยวบินขาเข้า เที่ยวบินที่ VZ2304 ต้นทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-ภูเก็ต ไม่สามารถทำการบินมาลง ณ อากาศยานภูเก็ตได้ ส่งผลให้สายการบินต้องบริหารจัดการนำผู้โดยสารขาออกส่วนหนึ่ง ของเที่ยวบิน VZ2305 ไปยังเที่ยวบินที่ VZ309 ทำให้เกิดความล่าช้าไม่สามารถนำอากาศยานทำการบิน ได้ก่อนเวลาปิดทางวิ่ง ภายหลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทางสายการบินดังกล่าวจึงได้ทำการตัดสินใจนำผู้โดยสารบางส่วน ไปยังที่พัก โดยอากาศยานสามารถทำการบินได้อีกครั้งในวันที่ 2 ธันวาคม 2565 เวลา 10.34 น.

ล่าสุด รายงานข่าวจากสายการบินระบุว่า สายการบินฯ ขอชี้แจงว่า ขณะนี้สายการบินฯ ได้ให้ความช่วยเหลือและดูแลผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าวทุกท่านอย่างเต็มที่ตามข้อกําหนดของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิจัดหาที่พักและอาหารแก่ผู้โดยสาร เสนอตัวเลือกคืนเงินเต็มจํานวน เสนอตัวเลือกเปลี่ยนแปลงการเดินทางไปยังเที่ยวบินถัดไปโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม เสนอวงเงินเครดิต

รวมทั้งค่าชดเชยในรูปแบบเงินสดและบัตรกํานัลแทนเงินสดมูลค่า 500 บาท เป็นกรณีพิเศษนอกเหนือจากข้อกําหนดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สายการบินฯ ให้ความสําคัญแก่ความปลอดภัยสูงสุดของผู้โดยสาร พร้อมกับการให้บริการทุกเที่ยวบินด้วยความตรงต่อเวลา

ทั้งนี้ การบริหารจัดการตารางเที่ยวบินสามารถเกิดขึ้นได้จากเหตุผลด้านความปลอดภัยในการปฏิบัติการเที่ยวบิน ผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินจะได้รับการติดต่อจากสายการบินฯ ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้แก่ อีเมล SMS หรือโทรศัพท์อัตโนมัติทั้งนี้เที่ยวบินอื่น ๆ ยังคงให้บริการตามปกติสายการบินฯ ขออภัยในความไม่สะดวกที่เกิดขึ้น มา ณ โอกาสนี้