แอคคอร์ ตั้งเป้าเพิ่ม 20 โรงแรมใน 5 ปี

แอคคอร์

“แอคคอร์” ชี้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยสัญญาณบวกแรง หนุนธุรกิจโรงแรมฟื้นตัวต่อเนื่อง กางแผนเพิ่มโรงแรมในไทยอีก 20 แห่งภายใน 5 ปีข้างหน้า ล่าสุดเข้าบริหาร “แกรนด์ เมอร์เคียว กรุงเทพฯ เอเทรียม” ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แทนกลุ่มไมเนอร์ฯ

นายเจมส์ เมอร์ฟีย์ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ ประจำประเทศไทย ลาว กัมพูชา และเมียนมา กลุ่มแอคคอร์ (Accor) เปิดเผยว่า ค่อนข้างมั่นใจกับภาพรวมการท่องเที่ยวในปี 2566 เนื่องจากเห็นสัญญาณเชิงบวกจากการที่นักท่องเที่ยวค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทยมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา จึงเชื่อว่านักเดินทางยังต้องการเดินทางเข้ามาประเทศไทย จากความโดดเด่นด้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว ฯลฯ

สระว่ายน้ำ

โดยไตรมาสที่ 4/2565 พบว่า ตลาดการท่องเที่ยวหลักของประเทศไทยมาจากตลาดนักท่องเที่ยวระยะสั้น (short-haul market) แนวโน้มดังกล่าวยังคงอยู่ต่อไปยังปี 2566 เช่น นักท่องเที่ยวจากเวียดนาม อินเดีย กำลังเติบโตเพิ่มขึ้น ส่วนไตรมาสที่ 1/2566 นั้นประเมินว่าโรงแรมในกลุ่มยังฟื้นตัวในทิศทางที่ดี

ทั้งนี้ ปัจจุบันแอคคอร์มีโรงแรมจำนวน 83 โรงแรม ตั้งอยู่ในประเทศไทย (จากจำนวน 5,300 แห่งทั่วโลก) ในจำนวนดังกล่าวอยู่ภายใต้แบรนด์ “แกรนด์ เมอร์เคียว” จำนวน 4 แห่ง ทั้งนี้ บริษัทยังมีแผนการขยายโรงแรมแห่งใหม่ ๆ ในประเทศไทยอีกประมาณ 20 แห่ง ในระยะเวลา 5 ปี

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสายการบินให้บริการที่นั่งโดยสารของเส้นทางระหว่างไทยและต่างประเทศยังอยู่ในระดับเพียงแค่ 45% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 ในปี 2562 จึงทำให้ปริมาณความต้องการในภาคการท่องเที่ยวยังไม่กลับไปเทียบเท่ากับปี 2562 อีกทั้งประเมินว่าปัญหาดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไป

“ภาพรวมการดำเนินงานโรงแรมในกลุ่มแอคคอร์ยังมีปริมาณน้อยกว่าก่อนการระบาดอยู่ที่ราว 5-6% ซึ่งถือว่าใกล้กับก่อนการระบาดของโควิด-19 มาก แต่ปัญหาจากปริมาณที่นั่งโดยสารของสายการบินทำให้นักท่องเที่ยวยังไม่กลับไปที่ระดับ 2562” นายเจมส์กล่าว

เจมส์ เมอร์ฟีย์
เจมส์ เมอร์ฟีย์

และว่า สำหรับภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นในปี 2566 นั้น ปัจจุบันปัญหาดังกล่าวยังเกิดขึ้นในวงจำกัด เช่น ทวีปยุโรปมากกว่าในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ส่งผลให้นักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศยุโรป หรือประเทศที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจอาจปรับตัวลดลง

ขณะที่ทิศทางตลาดการท่องเที่ยวประเทศจีนยังเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยากมาก โดยกลุ่มแอคคอร์ได้พยายามติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และหวังว่าในช่วงไตรมาสที่ 3/2566 น่าจะเริ่มเห็นจำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย

นายเจมส์กล่าวถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวด้วยว่า ช่วงการระบาดของโควิด-19 ธุรกิจโรงแรมในหลายประเทศมีการใช้พนักงานโรงแรมลดลง แต่ยังสามารถประสบความสำเร็จ ในส่วนของพนักงานแอคคอร์ได้ปรับแนวคิดสู่การทำงานแบบใหม่ คือ ใช้ทักษะหลากหลาย (multi-skill) รวมถึงมีความยืดหยุ่นในการทำงานมากขึ้น

“เราไม่ปฏิเสธว่ามีปัญหาการขาดแคลนแรงงาน แต่เราไม่ยอมที่จะลดคุณภาพการให้บริการ ด้วยจำนวนพนักงานที่ลดลง หากมีรายได้จากเซอร์วิสชาร์จจำนวนเท่าเดิม ก็มีแนวโน้มที่พนักงานอาจจะได้รับรายได้จากเซอร์วิสชาร์จมากขึ้น”นายเจมส์กล่าว

นายเจมส์กล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีการประกาศรีแบรนด์ “อวานี เอเทรียม กรุงเทพฯ” (ในเครือไมเนอร์ฯ) สู่ “แกรนด์ เมอร์เคียว กรุงเทพฯ เอเทรียม” ด้วยว่า เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจเกิดจากเจ้าของอสังหาริมทรัพย์มองเห็นความร่วมมือกับแบรนด์แอคคอร์

จะทำให้นักลงทุนสามารถเข้าถึงแบรนด์ระดับโลก และการเข้าถึงแพลตฟอร์มระดับโลกที่มีสมาชิกโปรแกรมความภักดี (loyalty program) กว่า 72 ล้านคนทั่วโลก

“นักท่องเที่ยวในยุคใหม่มองหาความมั่นใจในการออกเดินทาง และแอคคอร์เชื่อว่าสามารถทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกเช่นนั้นได้ อีกทั้งกลุ่มแอคคอร์ตระหนักถึงการผสมผสานความเป็นท้องถิ่นเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ที่ดูแล” นายเจมส์กล่าว