การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้คาดการณ์ไว้ตั้งแต่ต้นปีว่า ปี 2566 นี้ประเทศไทยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ประมาณ 25-28 ล้านคน ขณะที่สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ สทท. มั่นใจว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่ปี 2566 นี้ประเทศไทยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมที่ 30 ล้านคน หากทุกภาคส่วนช่วยกันอย่างจริงจัง
“ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้ข้อมูลว่า ภาพรวมของการท่องเที่ยวขณะนี้ฟื้นตัวเร็วกว่าที่ประเมินไว้ค่อนข้างมาก โดยมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยเดือนละประมาณ 2 ล้านคน แม้ประเทศจีนจะยังไม่ผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเข้าออกพรมแดนอย่างเต็มที่
คาด Q1 นักท่องเที่ยวต่างชาติ 6 ล้านคน
“ยุทธศักดิ์” บอกว่า จากข้อมูลของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองระบุว่า สถิตินักท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1-31 มกราคม 2566 มีจำนวน 2,088,832 คน โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 อันดับแรก ประกอบด้วย 1.มาเลเซีย จำนวน 257,684 คน 2.รัสเซีย จำนวน 202,642 คน 3.เกาหลีใต้ จำนวน 168,605 คน 4.อินเดีย จำนวน 101,343 คน และ 5.จีน จำนวน 91,080 คน
และเดือนกุมภาพันธ์ (วันที่ 1-26 ก.พ. 66) มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย 1,928,079 คน โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.มาเลเซีย จำนวน 246,041 คน 2.รัสเซีย จำนวน 173,170 คน 3.เกาหลีใต้ จำนวน 148,329 คน 4.จีน จำนวน 140,778 คน และ 5.อินเดีย จำนวน 90,849 คน
“ตอนนี้ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเฉลี่ยที่ประมาณ 2 ล้านคนต่อเดือน จึงคาดว่าไตรมาส 1/2566 นี้ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยจะมีจำนวนราว 6 ล้านคน”
ลุ้นปลาย มี.ค. ไฟลต์บินเพิ่ม
โดยพบว่าปัจจุบันสายการบินเริ่มกลับมาให้บริการเที่ยวบินเพิ่มมากขึ้น แต่ยังไม่มากนักหากเทียบกับปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19 เนื่องจากสายการบินอยู่ระหว่างขั้นตอนการนำเครื่องบินกลับมาให้บริการ พร้อมรับสมัครพนักงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม จึงคาดว่าปัญหาดังกล่าวใช้เวลาอีกสักระยะที่จะคลี่คลาย
“เที่ยวบินจากจีนเรายังมีจำกัด เดิมเรามีเที่ยวบินเชื่อมจากเซี่ยงไฮ้เข้าสู่ประเทศไทยประมาณ 400 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ แต่ตอนนี้เรามีเพียง 95 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ รวมเที่ยวบินเช่าเหมาลำ”
อย่างไรก็ตาม ททท.ประเมินว่าเที่ยวบินจากต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเริ่มเข้าสู่ตารางบินฤดูร้อน ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป และจะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ ททท.ยังพยายามผลักดันให้สายการบินจากประเทศต่าง ๆ เช่น รัสเซีย เปิดเที่ยวบินเช่าเหมาลำเดินทางเข้าประเทศไทยมากขึ้นด้วย
หวัง “อินเดีย-จีน” เติม Q2
“ยุทธศักดิ์” ยังคาดการณ์ภาพรวมไตรมาส 2/2566 ด้วยว่า ตลาดการท่องเที่ยวระยะใกล้ เช่น จีน ประเทศในกลุ่มอาเซียนอาจออกเดินทางต่างประเทศ และเข้ามาประเทศไทยมากขึ้น ประกอบกับอินเดียได้ยกเลิกการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ก่อนการเดินทางกลับเข้าประเทศแล้ว นักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวจะช่วยชดเชยนักท่องเที่ยวจากตลาดท่องเที่ยวระยะไกล เช่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา ที่อาจลดลง
“ผมไม่ค่อยกังวลเรื่องดีมานด์จากตลาดระยะไกลที่มีค่อนข้างเยอะ เพราะใน 1-2 ปีนี้ ยังอยู่ในช่วงที่เรียกว่าการท่องเที่ยวล้างแค้น หรือ revenge travel แต่ที่สำคัญคือ ประเทศไทยจะได้นักท่องเที่ยวคุณภาพเข้ามาหรือเปล่า เพราะผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวเรายังเป็นแบบเดิมอยู่”
ดังนั้น ททท.จึงต้องเร่งแก้ปัญหาด้านซัพพลายภาคการท่องเที่ยว เช่น ปัญหาขาดแคลนมัคคุเทศก์ การแก้ไขปัญหาด้านการตรวจคนเข้าเมือง ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมการบิน เพื่อให้พร้อมรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพจากต่างประเทศที่จะเดินทางเข้ามา
มั่นใจปี’66 รายได้ 2.38 ล้านล้าน
ทั้งนี้ ททท.ตั้งเป้าหมายปี 2566 ประเทศไทยมีรายได้จากภาคการท่องเที่ยว 2.38 ล้านล้านบาท โดยมาจากนักท่องเที่ยวชาวไทยออกเดินทางภายในประเทศ 160 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 8.8 แสนล้านบาท
หากรวมกับนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาประเทศไทย ในกรณีที่ดีที่สุด (best case scenario) จำนวน 25-30 ล้านคน คาดว่าจะมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 1.5 ล้านล้านบาท
ราคาห้องพักโรงแรมหรูขยับ
ขณะที่ “มาริสา สุโกศล หนุนภักดี” นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) มองว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส 2/2566 มีแนวโน้มดีขึ้น จากนักท่องเที่ยวกลุ่มประเทศอาเซียน เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง เดินทางเข้าประเทศไทยมากขึ้น ประกอบกับนักท่องเที่ยวจากจีนที่ทยอยเดินทางเข้าประเทศไทย หลังทางการผ่อนคลายมาตรการเข้าออกพรมแดน
“ปกติไตรมาส 2 นักท่องเที่ยวจะเริ่มลดลง โดยเฉพาะเดือนพฤษภาคมที่จะลดลงเยอะ แต่สำหรับปีนี้แม้จะมีแนวโน้มที่นักท่องเที่ยวชาวยุโรปหรือสหรัฐจะลดลงตามฤดูกาล แต่ด้วยประเทศในเอเชียออกเดินทาง ทำให้มองว่าไตรมาส 2 ปีนี้ นักท่องเที่ยวอาจลดลงไม่มาก”
โดยประเมินว่าอัตราการเข้าพัก (occupancy rate) ของไตรมาส 2/2566 น่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 50-60% ส่วนอัตราค่าห้องพักเฉลี่ยของโรงแรมกลุ่มรีสอร์ตและโรงแรมหรู คาดว่าจะอยู่ในระดับดี และบางแห่งอาจมีราคาสูงกว่าปี 2562 เนื่องจากยังเป็นที่ต้องการของนักท่องเที่ยวในอัตราที่สูง
ขณะที่โรงแรมขนาดเล็ก หรือโรงแรมที่มีซัพพลายห้องพักจำนวนมากนั้น ก็เริ่มมีอัตราค่าห้องพักใกล้เคียงกับก่อนการระบาดแล้ว แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผลิตภัณฑ์ที่โรงแรมเสนอให้แก่ลูกค้าด้วย
“คาดว่าปลายปี 2567 รายได้ของภาคธุรกิจโรงแรมอาจจะกลับไปใกล้เคียงกับก่อนโควิด-19 ในปี 2562 ที่ประมาณ 7.7 แสนล้านบาท”
คาด Q4 จีนเข้าใกล้เคียงปี’62
ด้าน “ศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร” นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) คาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในไตรมาส 2/2566 จะมีมากกว่าไตรมาส 1/2566 และมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2566 นี้
โดยตลาดการท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ได้แก่ กลุ่มประเทศอาเซียน อินเดีย ในส่วนของจีนและเกาหลีใต้มีแนวโน้มนักท่องเที่ยวจำนวนมากขึ้น ขณะที่นักท่องเที่ยวจากมาเลเซียและญี่ปุ่นอาจยังทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากชาวญี่ปุ่นยังไม่ออกเดินทางต่างประเทศมากนัก ประกอบกับปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ
“ศิษฎิวัชร” บอกด้วยว่า สำหรับตลาดนักท่องเที่ยวจีนนั้น ปัจจุบันสายการบินของไทยและจีนเริ่มกลับมาให้บริการเที่ยวบินระหว่างกันมากขึ้น แต่คาดว่าชาวจีนที่เดินทางมาไทยในไตรมาส 2/2566 นี้ส่วนใหญ่ยังเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยตนเอง (FIT) มากกว่านักท่องเที่ยวกรุ๊ปทัวร์
“นักท่องเที่ยวชาวจีนน่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้าประเทศไทยในไตรมาส 4/2566 นี้จะมีจำนวนใกล้เคียงกับนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้าประเทศไทยในไตรมาส 4/2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19”
เร่งเติมแรงงานเข้าระบบ
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามการผ่อนคลายมาตรการเข้าออกพรมแดนของทางการจีน รวมถึงนโยบายของประเทศปลายทางที่มีต่อนักท่องเที่ยวชาวจีนว่าจะดำเนินไปทิศทางใด เพราะหากทางการจีนและประเทศอื่น ๆ มีการผ่อนคลายมากขึ้น อาจทำให้ภาคการท่องเที่ยวไทยมีคู่แข่งในการดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวจีนมากขึ้น
ประกอบกับยังจำเป็นต้องจับตาสถานการณ์สงครามการค้า สงครามด้านเทคโนโลยีของประเทศมหาอำนาจรวมถึงจีน และภาวะเศรษฐกิจในประเทศจีนอย่างใกล้ชิด ว่าปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลต่อการออกเดินทางต่างประเทศของนักท่องเที่ยวจีนหรือไม่
สำหรับภาคธุรกิจท่องเที่ยวไทยเองก็ยังไม่พร้อมรับนักท่องเที่ยวมากนัก เนื่องจากยังมีปัญหาขาดแคลนแรงงานในธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ขาดแคลนมัคคุเทศก์ ซึ่งภาคธุรกิจเองก็มีความพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวอยู่เช่นกัน
กทม.-ภูเก็ต-พัทยา เดสติเนชั่นในใจกลุ่ม ‘ไมซ์จีน’
แม้ว่าจีนจะประกาศผ่อนคลายมาตรการเข้า-ออกประเทศระหว่างจีน-ไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเหลือเพียงแค่ให้ตรวจ ATK ก่อนเดินทางกลับเข้าประเทศ 48 ชั่วโมง แทนการตรวจ RT-PCR ไปตั้งแต่ 1 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา แต่ภาพรวมการเดินทางของนักท่องเที่ยวจีนส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง (free independent traveler : FIT) และกลุ่มเดินทางเพื่อธุรกิจ และประชุมสัมมนาเป็นหลัก
“เดวิดสโตน เสก” ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ซีซีที เอ็กซ์เพรส จำกัด ระบุว่า ปัจจุบันสถานการณ์เที่ยวบินระหว่างไทยและจีนยังมีจำนวนเที่ยวบินที่ยังน้อยอยู่ อีกทั้งราคาบัตรโดยสารยังอยู่ในระดับสูง แต่เชื่อว่าจำนวนเที่ยวบินจะทยอยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
โดยในระยะนี้นักท่องเที่ยวจากตลาดประเทศจีนจะเดินทางมาจากมหานครเซี่ยงไฮ้เป็นหลัก เนื่องจากมีเที่ยวบินระหว่างจีนและไทยอยู่มากที่สุด
พร้อมให้ข้อมูลว่า นักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางเข้าประเทศไทยแบ่งเป็นกลุ่มที่เดินทางด้วยตัวเอง (FIT) ราว 50% นักท่องเที่ยวกรุ๊ปทัวร์ราว 20% และนักเดินทางไมซ์ ครองสัดส่วน 20%
ทั้งนี้ คาดว่าในปีนี้นักท่องเที่ยวไมซ์จากจีนอาจยังเดินทางมาประเทศไทยต่ำกว่า 50% เมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19 แต่คาดว่าในปี 2568 จะเริ่มฟื้นตัวมากขึ้น
“พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวไมซ์จีนในปีนี้จะยังคล้ายกับก่อนการระบาดของโควิด-19 คือเดินทางเข้ามาประชุมและอาจมีแพ็กเกจเดย์ทริปเดินทางท่องเที่ยวต่อ โดยบางส่วนยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพมากนัก ยกเว้นนักท่องเที่ยวไมซ์ที่เป็นผู้บริหารระดับสูงบางส่วนต้องการเดินทางไปยังพื้นที่ชุมชน”
และระบุว่านักท่องเที่ยวจีนมีหลายระดับ เข้าพักในโรงแรมหลายรูปแบบ และกลุ่มที่ใช้จ่ายสูงอยู่แล้วก็ยังคงใช้จ่ายในปริมาณที่สูง
“กำลังการจับจ่ายของนักท่องเที่ยวจีนจะยังเท่าเดิม และเชื่อว่านักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งได้เก็บออมเงินช่วงโควิดระบาด นักท่องเที่ยวกลุ่ม incentive ก็อยากออกเดินทาง ส่วนกลุ่มประชุมสัมมนาก็อยากออกมาประชุมพบปะทางธุรกิจ”
“เดวิดสโตน” บอกว่า หากโฟกัสนักท่องเที่ยวกลุ่มไมซ์ “มาเก๊า” ถือเป็นตลาดด้านไมซ์คู่แข่งของไทย โดยมีข้อได้เปรียบคือ มีโรงแรมขนาดใหญ่รองรับแขกเข้าพักได้ครั้งละจำนวนมาก ๆ มีร้านอาหาร สิ่งอำนวยความสะดวกรองรับ อีกด้านหนึ่งนักท่องเที่ยวจีนบางส่วนยังมองว่ามาเก๊ายังถือเป็นส่วนหนึ่งของจีน
สำหรับประเทศไทยนั้น กรุงเทพฯ ภูเก็ต พัทยา ยังเป็นปลายทางที่นักท่องเที่ยวไมซ์ให้ความสนใจ และให้ความสนใจทะเล ชายหาด มากกว่าการท่องเที่ยวภูเขา แต่ตอนนี้เที่ยวบินระหว่างภูเก็ตและจีนยังคงมีน้อยอยู่ ผู้ประกอบการจึงให้ความสำคัญกับกรุงเทพฯ หรือพัทยาเป็นหลัก
และย้ำว่า เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวจีนอาจต้องประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวไทยผ่านสื่อดั้งเดิมอย่างรายการโทรทัศน์ เช่น รายการ The Voice of China รวมถึงใช้สื่อออนไลน์อย่าง TikTok หรืออินฟลูเอนเซอร์ชาวจีนโปรโมตผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวให้มากขึ้น