เช็กสิทธิผู้โดยสารเที่ยวบินในประเทศ กรณีสายการบินแคนเซิลไฟลต์ เครื่องดีเลย์ ได้เงินสดสูงสุด 1,200 บาท ข้อยกเว้นมีอะไรบ้าง แอร์ไลน์จ่ายเป็นแค่โวเชอร์ได้หรือไม่
วันที่ 10 พฤษภาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปี 2566 อุตสาหกรรมการบินอยู่ระหว่างการฟื้นตัวสู่ระดับเดียวกับก่อนการระบาดของโควิด-19 ข้อมูลจากบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) คาดการณ์ว่า ในปี 2566 จะมีเที่ยวบินรวม 858,387 เที่ยวบิน หรือเฉลี่ย 2,352 เที่ยวบินต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ถึง 65% แต่ยังต่ำกว่าปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีปริมาณเที่ยวบินจำนวน 1,045,741 เที่ยวบิน
แม้อุตสาหกรรมการบินของไทยยังไม่กลับไปคึกคักเท่าก่อนปี 2562 แต่ก็เริ่มเห็นสัญญาณท้าทาย ทั้งปัญหาขาดแคลนแรงงาน การปรับลดฝูงบิน จนอาจนำไปสู่ความล่าช้าในการให้บริการ
วันนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” ขอรวบรวมสิทธิของผู้โดยสารสายการบิน อ้างอิงจากประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง การคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทย ในเส้นทางบินประจำภายในประเทศ พ.ศ. 2553 สรุปพอสังเขปได้ ดังนี้
คุ้มครองใครบ้าง
- ผู้โดยสารที่เดินทางในเส้นทางบินประจำภายในประเทศไทย
- ผู้โดยสารที่แสดงตนเพื่อการขึ้นเครื่อง (Check In) ภายในเวลาที่สายการบินระบุไว้ล่วงหน้า
- ผู้โดยสารที่ถูกสายการบินย้ายโอน (Transfer) จากเที่ยวบินอื่น
เที่ยวบินล่าช้า
ในกรณีที่เที่ยวบินเกิดความล่าช้า สายการบินจะต้องปฏิบัติต่อผู้โดยสาร ดังนี้
ล่าช้าเกินกว่า 2 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 3 ชั่วโมง
- จัดอาหารและเครื่องดื่มโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
- จัดหาอุปกรณ์สื่อสารโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
- ถ้าผู้โดยสารไม่ประสงค์เดินทาง ต้องคืนเงินเต็มจำนวน หรือเฉพาะส่วนที่ยังไม่เดินทาง แต่ถ้าสายการบินต้องการคืนเงินเป็น Travel Vouchers ต้องได้รับความยินยอมจากผู้โดยสารเท่านั้น
ล่าช้าเกินกว่า 3 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 5 ชั่วโมง
- จัดอาหารและเครื่องดื่มโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
- จัดหาอุปกรณ์สื่อสารโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
- เสนอให้ผู้โดยสารเลือกระหว่าง
(ก) คืนเงินเต็มจำนวน หรือเฉพาะส่วนที่ยังไม่เดินทาง แต่ถ้าสายการบินต้องการคืนเป็น Travel Vouchers ต้องได้รับความยินยอมจากผู้โดยสารเท่านั้น
(ข) เปลี่ยนแปลงเที่ยวบินไปยังปลายทางเดิมหรือใกล้เคียงเดิมได้ฟรี แต่ถ้าค่าบัตรโดยสารและค่าธรรมเนียมเที่ยวบินใหม่ต่ำกว่าเดิม สายการบินคืนต้องส่วนต่างให้กับผู้โดยสาร
(ค) เดินทางด้วยการขนส่งประเภทอื่นฟรี แต่ถ้าค่าบัตรโดยสารและค่าธรรมเนียมการเดินทางใหม่ต่ำกว่าเดิม สายการบินคืนต้องส่วนต่างให้กับผู้โดยสาร
ล่าช้าเกินกว่า 5 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 6 ชั่วโมง
- ปฏิบัติเช่นเดียวกับการล่าช้า 3 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 5 ชั่วโมง
- ชดเชยเงินสดจำนวน 600 บาท ให้แก่ผู้โดยสารทันทีก่อนออกเดินทาง ยกเว้น สายการบินพิสูจน์ได้ว่าการล่าช้าของเที่ยวบินนั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัยซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของสายการบิน เช่น สถานการณ์ทางการเมืองสภาพอากาศที่มีผลกระทบต่อการปฏิบัติการบิน การรักษาความปลอดภัย การนัดหยุดงาน
- ทั้งนี้ สายการบินสามารถชดเชยผู้โดยสารเป็น Travel Vouchers ได้ แต่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้โดยสารเท่านั้น
หากเที่ยวบินล่าช้าเกินกว่า 6 ชั่วโมง ให้ปฏิบัติเหมือนกับการยกเลิกเที่ยวบิน
ยกเลิกเที่ยวบิน หรือ ปฏิเสธการขนส่ง
ในกรณีที่สายการบินยกเลิกเที่ยวบินใด ๆ ตามตารางการบินที่ประกาศไว้แล้ว หรือ ปฏิเสธการขนส่งผู้โดยสาร แม้ผู้โดยสารได้เช็กอินตามเวลาที่กำหนด สายการบินต้องให้ความดูแลผู้โดยสาร ดังนี้
- เสนอให้ผู้โดยสารเลือกระหว่าง
(ก) สายการบินต้องคืนเงินเต็มจำนวน หรือเฉพาะส่วนที่ยังไม่เดินทาง แต่ถ้าสายการบินต้องการคืนเงินเป็น Travel Vouchers ต้องได้รับความยินยอมจากผู้โดยสารเท่านั้น
(ข) เปลี่ยนแปลงเที่ยวบินไปยังปลายทางเดิมหรือใกล้เคียงเดิมได้ฟรี แต่หากค่าบัตรโดยสารและค่าธรรมเนียมเที่ยวบินใหม่ต่ำกว่าเดิม สายการบินคืนต้องส่วนต่างให้กับผู้โดยสาร
(ค) เดินทางด้วยการขนส่งประเภทอื่นฟรี แต่ถ้าค่าบัตรโดยสารและค่าธรรมเนียมการเดินทางใหม่ต่ำกว่าเดิม สายการบินคืนต้องส่วนต่างให้กับผู้โดยสาร
- ให้การดูแลผู้โดยสาร ดังนี้
- จัดอาหารและเครื่องดื่มโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
- จัดหาอุปกรณ์สื่อสารโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
- จัดที่พักพร้อมรถรับส่งโรงแรม-สนามบินให้แก่ผู้โดยสาร กรณีเที่ยวบินใหม่ออกเดินทางล่าช้ากว่าเดิม 1 วัน
- จ่ายเงินชดเชยจำนวน 1,200 บาทเป็นเงินสด ก่อนการออกเดินทางไปยังปลายทาง ยกเว้น (อย่างใดอย่างหนึ่ง)
(ก) สายการบินแจ้งข่าวการยกเลิกเที่ยวบินและรายละเอียดทางเลือกการเดินทางอื่น ๆ ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๓ วัน
(ข) สายการบินแจ้งข่าวการยกเลิกเที่ยวบินล่วงหน้าไม่ถึง ๓ วัน ในกรณีที่เที่ยวบินใหม่ที่เปลี่ยนแปลงนั้นจะออกเดินทางก่อนหรือหลังกำหนดวันเวลาเดิมและไปถึงจุดหมายปลายทางที่ระบุในบัตรโดยสารเร็ว หรือช้ากว่ากำหนดวันเวลาเดิมไม่เกิน ๓ ชั่วโมง
(ค) การยกเลิกเที่ยวบินนั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัยซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของสายการบิน เช่น สถานการณ์ทางการเมืองสภาพอากาศที่มีผลกระทบต่อการปฏิบัติการบิน การรักษาความปลอดภัย การนัดหยุดงาน
ทั้งนี้ สายการบินสามารถคืนเงินเป็น Travel Vouchers ได้ แต่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้โดยสารเท่านั้น
วิธีการคืนเงินผู้โดยสาร
- สายการบินต้องมีแบบเสดงความจำนงจัดไว้ เช่น เว็บไซต์ ท่าอากาศยาน สำนักงานสายการบิน พร้อมประกาศช่องทางที่ผู้โดยสารสามารถยื่นแบบแสดงความจำนงได้
- สายการบินต้องคืนเงินค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมอื่น หรือเงินส่วนต่างให้แก่ผู้โดยสาร ด้วยวิธีการที่ผู้โดยสารเลือก ภายในระยะเวลาที่สายการบินได้รับแบบแสดงความจำนง โดยหากผู้โดยสารซื้อบัตรโดยสารด้วยเงินสด ต้องคืนเงินภายในระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน หรือหากซื้อบัตรโดยสารด้วยบัตรเครดิต ต้องคืนเงินภายในระยะเวลาไม่เกิน 45 วัน
เพิ่มหรือลดชั้นโดยสาร
– กรณีที่จัดให้ผู้โดยสารเดินทางในชั้นบริการที่สูงกว่าชั้นบริการที่ระบุไว้ในบัตรโดยสาร สายการบินต้องไม่คิดค่าโดยสาร ค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายอื่นใดเพิ่มเติม
– กรณีที่จัดให้ผู้โดยสารเดินทางในชั้นบริการที่ต่ำกว่าชั้นบริการที่ระบุไว้ในบัตรโดยสาร สายการบินต้องคืนเงินส่วนต่างของราคาค่าโดยสารแก่ผู้โดยสาร
มาตรการคุ้มครองที่ดีกว่า
ในกรณีที่สายการบินได้กำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารของตนไว้ในระดับที่ดีกว่า และไม่ขัดหรือแย้งกับมาตรการตามประกาศนี้ ให้สายการบินนั้นใช้มาตรการดังกล่าวเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารของตน
ร้องเรียนสายการบิน
ผู้โดยสารสามารถร้องเรียนสายการบินซึ่งไม่ได้ปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้ มายังกรมการบินพลเรือน อีเมล์ : [email protected] สายด่วน 1111 หรือ โทร. 0-2286-3775 ในวันและเวลาราชการ
ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบข้อมูลจากประกาศคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทย ในเส้นทางบินประจำภายในประเทศ ฉบับเต็มได้ ที่นี่