“ไบเทค” ปรับโมเดลธุรกิจ เสริมพอร์ต “กีฬา-เอ็นเตอร์เทนเมนต์”

ไบเทค
สัมภาษณ์

ด้วยความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้ง การคมนาคมที่สะดวกสบาย สถานที่ท่องเที่ยวที่หลากหลายและสวยงาม รวมถึงค่าใช้จ่ายสำหรับในการท่องเที่ยวไม่สูงนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ทำให้ประเทศไทยได้รับความสนใจในการเป็นสถานที่จัดประชุม แสดงสินค้า ฯลฯ หรือที่เรียกว่า “ธุรกิจไมซ์”

และส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ได้รับอานิสงส์ไปด้วย โดยในปีงบประมาณ 2566 นี้ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ คาดการณ์ว่าธุรกิจไมซ์สร้างรายได้ราว 1 แสนล้านบาท แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวไมซ์จากต่างประเทศประมาณ 7.6 แสนคน สร้างรายได้ราว 5 หมื่นล้านบาท

“ปนิษฐา บุรี” กรรมการผู้จัดการ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (BITEC) กลุ่มบริษัทภิรัชบุรี และนายกสมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) หรือ TEA ให้สัมภาษณ์ว่า สำหรับปีนี้ธุรกิจไมซ์ยังมีความแข็งแกร่ง แต่ภาพรวม การฟื้นตัวของธุรกิจการจัดประชุม แสดงสินค้า สัมมนา และคอนเสิร์ตยังไม่กลับสู่ภาวะปกติมากนัก

“ในอดีตผู้ประกอบการด้านนิทรรศการ สามารถฟื้นตัวได้หลังเกิดวิกฤต อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจัดการปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ รวมถึงการพัฒนาศักยภาพด้านการแข่งขันของบุคลากร”

ปนิษฐา บุรี
ปนิษฐา บุรี

คาดปี’67 ยังไม่กลับมา 100%

“ปนิษฐา” บอกว่า ปัจจุบันผู้จัดแสดงสินค้า (exhibitor) ยังไม่กลับมาเต็มที่ โดยเฉพาะตลาดจีนที่ยังฟื้นตัวกลับมาราว 50% จากปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19 โดยส่วนหนึ่งเกิดจากจำนวนเที่ยวบินระหว่างไทย-จีนที่ยังมีอยู่อย่างจำกัด ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2566 นี้ผู้จัดแสดงสินค้าชาวจีนจะเดินทางมาเยือนประเทศไทยราว 60% ของปี 2562

“แม้ปัจจุบันสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศจีนยังเผชิญความท้าทาย แต่ประเมินว่ายังเห็นความต้องการการเดินทางของบรรดาผู้จัดแสดงสินค้าจากจีนมายังประเทศไทย”

ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2567 การฟื้นตัวน่าจะกลับมาได้ดีขึ้น ซึ่งจะแตกต่างกันตามลักษณะธุรกิจของแต่ละผู้ให้บริการว่าเน้นไปที่ธุรกิจใด เช่น การจัดคอนเสิร์ต ศูนย์การประชุม สัมมนา ฯลฯ แต่อาจจะยังไม่กลับมาฟื้นตัว 100% เทียบเท่ากับปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19

“แรงงาน” ความท้าทาย

“ปนิษฐา” บอกด้วยว่า หนึ่งในความท้าทายของธุรกิจการจัดแสดงนิทรรศการคือ ปัญหาด้านการขาดแคลนแรงงาน อันเป็นผลกระทบจากช่วงโควิด-19 และเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องหาบุคลากรจากแหล่งอื่น ๆ เพิ่มเติม รวมถึงโจทย์สำคัญคือ ทำอย่างไรให้แรงงานเห็นเสน่ห์ของธุรกิจ

ประกอบกับธุรกิจการจัดแสดงและนิทรรศการมีความเฉพาะเจาะจง แรงงานที่จะเข้าสู่ระบบจำเป็นต้องมีความเข้าใจ และพร้อมรับกับลักษณะงานที่ไม่ประจำ รายละเอียดมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย ๆ ตามความต้องการของลูกค้า

อีกความท้าทายหนึ่งคือ การจัดกิจกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ร่วมกับการจัดงานบนสถานที่จริง (on ground) ซึ่งแม้จะเป็นเพียงส่วนขยาย-ต่อยอดแต่มีส่วนช่วยในการสร้างการรับรู้ของงาน ซึ่งอาจยังไม่เห็นการสร้างรายได้โดยตรงแถมยังเพิ่มภาระงานมากขึ้น

เติม กีฬา-บันเทิง

“ปนิษฐา” บอกอีกว่า สำหรับกลุ่มบริษัทภิรัชบุรี (BHIRAJ BURI) นั้น บริษัทได้กำหนดตำแหน่งว่าเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค เป็นหนึ่งผลิตภัณฑ์ของบริษัท ส่วนอื่น ๆ ก็จะมีธุรกิจแยกย่อยออกไป เช่น ภิรัชทาวเวอร์ แอท ไบเทค โดยกำหนดเป้าหมายการใช้พื้นที่ในปีนี้อยู่ที่ 75%

“หลังสถานการณ์โควิด-19 ไบเทค ได้มีการพิจารณาโมเดลทางธุรกิจ โดยไม่มองว่าการขายพื้นที่ไม่ได้เป็นผลิตภัณฑ์เดียวอีกต่อไป”

โดยธุรกิจใหม่ที่จะเข้ามาเติมเต็มพอร์ตธุรกิจคือ บีท แอคทีฟ (BEAT Active) ที่บริษัทได้ปรับปรุงพื้นที่ฮอลล์เป็นพื้นที่สำหรับการจัดงานบันเทิงและกีฬาในร่ม (indoor sport & entertainment) โดยร่วมกับกลุ่มบริษัท “ไทยไฟต์”

ภายใน “บีท แอคทีฟนี้” มีพื้นที่กิจกรรมรองรับทั้งเด็กเล็ก เด็กโต ผู้ใหญ่ และในอนาคตอาจพัฒนากิจกรรมเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเพิ่มเติมด้วย

พร้อมอธิบายว่า การพัฒนาดังกล่าวเป็นไปเพื่อดึงดูดให้คนเข้ามาในพื้นที่ของไบเทคตลอดเวลา พร้อมทั้งขยายกลุ่มลูกค้าที่เข้ามาด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น ครอบครัว โดยสมาชิกในครอบครัวสามารถเลือกชมนิทรรศการ และบางส่วนอาจเข้ามาสัมผัสประสบการณ์ที่บีท แอคทีฟนี้ได้

เปิดตัวโซลูชั่นผู้จัดงาน

นอกจากนี้ “ไบเทค” ยังได้นำเสนอโซลูชั่นในการจัดงานให้กับลูกค้า โดยจับมือกับพันธมิตร เช่น มีเดียวิชั่น นำเสนอโปรแกรม Plug & Play อำนวยความสะดวกด้านอุปกรณ์การจัดงาน การเช่าอุปกรณ์ที่ใช้ในงานคอนเสิร์ต เช่น ระบบจอภาพ ระบบเสียง ทำให้ผู้จัดงานสามารถประหยัดเวลา การขนส่งอุปกรณ์ เป็นต้น

ทั้งนี้ อำนวยความสะดวกและตอบโจทย์ความต้องการให้กับลูกค้าของ “ไบเทค” ที่เข้ามาจัดงานนั่นเอง