กพท. เผยยังไม่มีแผนปรับเพดานราคาตั๋วเครื่องบิน

ผู้โดยสารกำลังยืนมองดูป้ายประกาศสถานะเที่ยวบิน ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง
Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP

กพท. แจงหลังโควิดดีมานด์พุ่ง แต่แอร์ไลน์ยังไม่ฟื้นเต็มที่ เหตุตั๋วบินราคาเพิ่ม เผยยังไม่มีแผนขึ้นเพดานราคาตั๋วเครื่องบิน อึ้ง! ราคาบิน กทม.-หาดใหญ่ สูงสุดได้เหยียบหมื่น ด้าน สคบ.เตือนสายการบิน อย่าขายตั๋วเกินจำนวนที่นั่ง

วันที่ 17 กันยายน 2566 นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงประเด็นราคาบัตรโดยสารสายการบินที่มีราคาแพง ว่า ช่วงการระบาดของโควิด-19 สายการบินได้ออกมาตรการลดต้นทุนเพื่อประคองให้กิจการเดินต่อไปได้ ผ่านการลดขนาดองค์กร ปลดพนักงาน ลดเส้นทางบิน ลดจำนวนอากาศยาน

หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย อุปสงค์ในการเดินทางเพิ่มมากขึ้น สวนทางกับอุปทานภาคอุตสาหกรรมการบินที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ สายการบินยังไม่สามารถกลับมาให้บริการได้เท่าเดิมเนื่องด้วยข้อจำกัดในหลาย ๆ ด้าน เช่น ขั้นตอนการนำเข้าอากาศยาน การซ่อมบำรุงอากาศยาน บุคลากร ฯลฯ จึงส่งผลให้ราคาโดยเฉลี่ยของตั๋วเครื่องบินทั่วโลกเพิ่มขึ้นมาประมาณ 17-18 เปอร์เซ็นต์

นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย
สุทธิพงษ์ คงพูล

สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ได้มีการเก็บข้อมูลราคาตั๋วเครื่องบินเส้นทางภายในประเทศ ของสายการบินต่าง ๆ เป็นระยะ เช่น ตัวอย่างสัดส่วนราคาโดยสารที่จำหน่ายจริง ณ ช่วงระดับราคาต่าง ๆ ผ่านการเก็บข้อมูลจากราคาเฉลี่ยทุกสายการบิน ซึ่งออกเดินทางจากกรุงเทพมหานคร ณ วันที่ 19 และ 26 พฤษภาคม 2566

พบว่า ข้อมูลสถิติราคาตั๋วเครื่องบิน เส้นทางกรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ)-ภูเก็ต วันที่ 26 พฤษภาคม 2566 พบว่า ผู้โดยสารซื้อตั๋วในราคาต่ำกว่า 1,000 บาท อยู่ที่ 18.1% ซื้อตั๋วได้ในราคา 1,001-1,500 บาท อยู่ที่ 25.1% ซื้อตั๋วในราคา 1,501-2,000 บาท สัดส่วน 12.6% ซื้อตั๋วได้ในราคา 2,001-2,500 บาท อยู่ที่ 16.5%

ผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วได้ในราคา 2,501-3,000 บาท อยู่ที่ 15.5% ช่วงราคา 3,001-3,500 บาท มีผู้โดยสารซื้อ 1.5% ช่วงราคา 4,001-4,500 บาท มีผู้โดยสารซื้อ 1.5% และ 6,001-6,500 บาท มีสัดส่วน 0.7%

กราฟฟิคแสดงระดับราคาบัตรโดยสารสายการบิน เส้นทางกรุงเทพฯ - ภูเก็ต 19 และ 26 พฤษภาคม 2566 ราคาส่วนใหญ่ อยู่ต่ำกว่าระดับ 2,000 บาท
ที่มา : CAAT

แจงธุรกิจสายการบินต้นทุนสูง

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ นายกสมาคมสายการบินประเทศไทย กล่าวว่า ต้นทุนในการดำเนินงานของสายการบินมีส่วนสำคัญในการกำหนดราคาบัตรโดยสาร อย่างที่ทราบกันดีว่า ปัจจุบันสายการบินต่าง ๆ ต้องแบกรับภาระต้นทุนในการดำเนินงานที่ค่อนข้างสูงมาก เมื่อเทียบกับการขนส่งสาธารณะอื่น ๆ ยกตัวอย่างต้นทุนหลักสามารถแบ่งได้เป็น

  1. ต้นทุนการดำเนินงาน อาทิ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าภาษีอากรน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบิน Excise Tax ที่ปัจจุบันสายการบินของประเทศไทยถูกเรียกเก็บอยู่ที่อัตรา 4.726 บาท/ลิตร
  2. ต้นทุนคงที่ อาทิ ค่าจ้างบุคลากรโดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ค่าซื้อ/เช่าอากาศยาน และค่าบริหารจัดการข้อมูลการบินและระบบสนับสนุน
  3. ต้นทุนอื่น ๆ อาทิ การตรวจดูแลอากาศยานประจำวัน การซ่อมบำรุงตามกำหนดเวลา และค่าธรรมเนียมการใช้บริการในท่าอากาศยานและภาคพื้นดินหรือลานจอด เป็นต้น
แผนภูมิวงกลมแสดงต้นทุนของสายการบิน โดยส่วนใหญ่มาจากราคาน้ำมัน การซ่อมบำรุง และการปฏิบัติการบิน
ที่มา : CAAT

ทั้งนี้ สิ่งที่อยากฝากไปยังรัฐบาล คือ การช่วยเหลือด้านภาระต้นทุนแก่ผู้ประกอบการ การช่วยเหลือทางภาษี เช่น การพิจารณาปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันอากาศยาน ซึ่งอาจไม่ได้ขอให้ลดไปถึงอัตราราคาเดิม (0.20 บาท) ความล่าช้าในการนำเครื่องบินเข้า-ออกฝูงบิน เพราะมีต้นทุนมาก

เปิดเพดานราคาตั๋วเครื่องบิน : กรุงเทพฯ-หาดใหญ่ แพงสุดได้เหยียบหมื่น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตาม ประกาศคณะกรรมการการบินพลเรือน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณค่าโดยสารและค่าระวางสำหรับอากาศยานขนส่งในเส้นทางบินภายในประเทศ พ.ศ. 2561 ได้แบ่งกลุ่มตามระยะการบินเพื่อกำหนดค่าโดยสาร ดังนี้

  1. กลุ่มที่ไม่ควบคุมค่าโดยสาร คือ เส้นทางบินที่มีระยะทางบินไม่เกิน 300 กิโลเมตร ซึ่งมีการเดินทางภาคพื้นสะดวก และ เส้นทางบินซึ่งเป็นการบินเชื่อมระหว่างภาคโดยไม่แวะท่าอากาศยานในกรุงเทพฯ ให้กำหนดค่าโดยสารโดยเสรี
  2. กลุ่มที่ควบคุมค่าโดยสาร
  • เส้นทางบินที่มีระยะทางบินไม่เกิน 300 กิโลเมตร และมีการเดินทางภาคพื้นไม่สะดวก ให้ผู้ประกอบการที่ให้บริการเต็มรูปแบบและผู้ประกอบการที่ให้บริการต้นทุนต่ำกำหนดค่าโดยสารได้ไม่เกิน 22 บาทต่อกิโลเมตร
  • เส้นทางบินที่มีระยะทางบินเกิน 300 กิโลเมตร ให้ผู้ประกอบการกำหนดค่าโดยสาร ดังนี้
      • เส้นทางบินที่ผู้ประกอบการให้บริการเต็มรูปแบบให้กำหนดค่าโดยสารได้ไม่เกิน 13 บาทต่อกิโลเมตร
      • เส้นทางบินที่ผู้ประกอบการให้บริการต้นทุนต่ำให้กำหนดค่าโดยสารได้ไม่เกิน 9.40 บาทต่อกิโลเมตร
ตารางเพดานค่าตั๋วเครื่องบิน ตามประกาศของกพท.
ที่มา : CAAT

อย่างไรก็ดี แม้ กพท.ได้กำหนดเพดานราคาบัตรโดยสารเส้นทางในประเทศ ของทั้งสายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบ และสายการบินที่ให้บริการแบบโลว์คอส แต่ปัจจุบัน ไม่ได้มีการกำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นต่ำของสายการบินเอาไว้

ยังไม่ปรับเพดานราคาตั๋วเครื่องบิน

นายสุทธิพงษ์กล่าวเสริมว่า โครงสร้างค่าใช้จ่ายของสายการบินส่วนใหญ่มาจากต้นทุนน้ำมัน ครองสัดส่วนประมาณ 30-40% ถือปัจจัยที่ผันแปร (Variable Factor) มากที่สุด ขณะที่ต้นทุนด้านอากาศยาน ต้นทุนค่าบริการภาคพื้น เช่น ค่าลงจอด ค่าจอดเครื่องบิน ค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้บริษัทวิทยุการบิน ต้นทุนด้านการบริหาร ต้นทุนด้านพนักงาน และอื่น ๆ ในสัดส่วนที่ลดหลั่นกันไป ซึ่งอยู่ในระดับคงที่ไม่ปรับเปลี่ยนรุนแรง

ข้อมูลจากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) พบว่า ราคาน้ำมันอากาศยานเฉลี่ยรายสัปดาห์ ของภูมิภาคเอเชีย-โอเชียเนีย สิ้นสุดวันที่ 8 กันยนยน 2566 อยู่ที่ 120.46 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก เช่น อเมริกาเหนือ (133.43 USD/bbl) ตะวันออกกลางและแอฟริกา (121.98 USD/bbl)

“ในระยะสั้น 3 ปีนี้ คาดว่ายังไม่มีการเพิ่มเพดานราคาบัตรโดยสาร เนื่องจากค่าน้ำมันการคำนวณเพดานราคาบัตรโดยสาร ได้คำนวณต้นทุนราคาน้ำมันอยู่ที่ประมาณ 120 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล”

ส่วนการกำหนดราคาบัตรโดยสารขั้นต่ำนั้น นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า หาก กพท.เข้าไปกำหนดราคาขั้นต่ำ เช่น 500 บาท ผู้โดยสารบางกลุ่มที่ไม่ได้มีกำหนดเวลาเดินทางตายตัวอาจเสียประโยชน์ เนื่องจากคนกลุ่มนี้อาจมีโอกาสเคยซื้อบัตรโดยสารในราคาที่ถูกมาก ดังนั้นการออกกฎจึงไม่เป็นคุณกับกลุ่มดังกล่าว

พบตั๋วแพงเกินเพดาน ร้องเรียนได้ทันที

พ.ต.อ.ประทีป เจริญกัลป์ รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า ประเด็นร้องเรียนอันเกี่ยวข้องกับกลไกราคาบัตรโดยสารสายการบินนั้นยังมีไม่มากนัก แต่จะพบปัญหาเกี่ยวกับเที่ยวบินล่าช้า ค่าธรรมเนียมการชำระเงินเสียมากกว่า

นอกจากนี้ ยังพบปัญหาการที่ผู้โดยสารซื้อบัตรโดยสารผ่านตัวแทน แล้วเมื่อเกิดปัญหา ผู้โดยสารติดต่อตัวแทนดังกล่าวได้ยาก ส่วนหนึ่งอาจเพราะเป็นบริษัทข้ามชาติ สายการบินอาจต้องประสานเพื่อเปิดช่องทางให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกในการติดต่อสื่อสาร

“อยากฝากไปถึงสายการบินในประเด็นการขายตั๋วเกินกว่าจำนวนที่นั่งบนเครื่องบิน (Overbooking) ว่าไม่อยากให้เกิดขึ้น ถ้าหากผู้โดยสารเดินทางมาสนามบินพร้อมกันทุกคน จะทำให้บางคนไม่สามารถเดินทางได้ ก็จะถือว่าสายการบินนั้นผิดสัญญา”

นอกจากนี้ หากผู้โดยสารผู้พบราคาตั๋วเครื่องบินที่เกิน เพดานค่าโดยสาร สามารถร้องเรียนมาที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยผ่านเว็บไซต์ www.caat.or.th/complaint

ทั้งนี้ กพท.คาดการณ์ว่าในปี 2566 นี้ ปริมาณเที่ยวบินจะฟื้นตัวกลับมาที่ประมาณ 80-90% จากในปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19 ซึ่งประเทศไทยมีปริมาณเที่ยวบินจำนวน 1.07 ล้านเที่ยวบิน การฟื้นตัวดังกล่าวอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ยังไม่ถึงขั้นกรณีที่ดีที่สุด (Best Case Scenario) โดยเกิดจากนักท่องเที่ยวชาวจีนยังไม่เดินทางมายังประเทศไทยมากเท่าในอดีต ปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน