แอร์ไลน์ยันตั๋วไม่แพงเกินจริง ขึ้นลงตามดีมานด์ แนะจองก่อนได้ตั๋วถูก

บางกอกแอร์เวย์ส
บางกอกแอร์เวย์ส

“แอร์ไลน์” ยันค่าตั๋วเครื่องบินไม่แพงเกินจริง เผยทุกสายการบินใช้หลัก dynamic pricing ตั้งราคาแบบยืดหยุ่น ขยับขึ้น-ลงตามดีมานด์เดินทางแต่ละช่วงเวลา กำหนดราคาได้หลายระดับ “บางกอกแอร์เวย์ส-ไทยสมายล์” แจงต้นทุนธุรกิจการบินมหาศาล แนะจองก่อนได้ตั๋วราคาถูกกว่า

นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายมีปริมาณความต้องการเดินทางภายในประเทศสูงขึ้นมาก ทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติ และนักท่องเที่ยวชาวไทย ในขณะที่สายการบินยังฟื้นตัวได้ต่ำกว่าระดับการให้บริการในปี 2562 ส่งผลให้ไม่สามารถเพิ่มเที่ยวบินและที่นั่งเพื่อรองรับปริมาณความต้องการได้เพียงพอ ทำให้เกิดสถานการณ์ที่ผู้โดยสารหลายคนต้องซื้อตั๋วที่นั่งใบท้าย ๆ ในราคาสูง โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาว

นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย อุปสงค์ในการเดินทางเพิ่มมากขึ้น แต่สายการบินยังไม่สามารถกลับมาให้บริการได้เท่าเดิม เนื่องด้วยข้อจำกัดในหลาย ๆ ด้าน เช่น ขั้นตอนการนำเข้าอากาศยาน การซ่อมบำรุงอากาศยาน บุคลากร ฯลฯ จึงส่งผลให้ราคาโดยเฉลี่ยของตั๋วเครื่องบินทั่วโลกเพิ่มขึ้นมาประมาณ 17-18 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตาม ราคาตั๋วเครื่องบินจะถูกกำหนดราคาด้วยหลัก dynamic pricing คือ การตั้งราคาแบบยืดหยุ่น สามารถเปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยต่าง ๆ โดยเฉพาะ ปริมาณความต้องการเดินทางของผู้โดยสารในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งราคาตั๋วในหนึ่งเที่ยวบินจะมีราคาที่แตกต่างกัน ไล่ระดับราคาเป็นขั้นบันได หรือที่เรียกว่า fare class ทำให้สายการบินสามารถตั้งราคาตั๋วโดยสารได้หลายระดับ ช่วยให้ผู้โดยสารเข้าถึงบริการได้มากขึ้น

“ก่อนช่วงสถานการณ์โควิด-19 การแข่งขันของธุรกิจการบินในประเทศค่อนข้างสูง และมีการนำเอากลยุทธ์ด้านราคามาใช้เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาด ซึ่งก็อาจส่งผลให้ประชาชนรู้สึกว่าราคาตั๋วเครื่องบินก่อนช่วงโควิด-19 มีราคาถูกกว่าในปัจจุบัน” นายสุทธิพงษ์กล่าว

ทั้งนี้ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยได้เก็บข้อมูลราคาตั๋วเครื่องบินเส้นทางภายในประเทศของสายการบินต่าง ๆ เป็นระยะ เช่น ข้อมูลสถิติราคาตั๋วเครื่องบิน เส้นทางกรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-ภูเก็ต วันที่ 19 พฤษภาคม 2566 พบว่า ผู้โดยสารซื้อตั๋วในราคาต่ำกว่า 1,000 บาท อยู่ที่ 32.8% ซื้อตั๋วได้ในราคา 1,001-1,500 บาท อยู่ที่ 37.9% ซื้อตั๋วในราคา 1,501-2,000 บาท 19% ซื้อตั๋วได้ในราคา 2,00-2,500 บาท อยู่ที่ 9.3% ซื้อตั๋วได้ในราคา 2,501-3,000 บาท อยู่ที่ 0.2% และส่วนตั๋วราคาสูงที่อยู่ในช่วงราคา 3,001-3,500 บาท มีผู้โดยสารซื้อเพียง 0.8% เป็นต้น

กราฟฟิคแสดงระดับราคาบัตรโดยสารสายการบิน เส้นทางดอนเมือง - ภูเก็ต 19 พฤษภาคม 2566 ราคาส่วนใหญ่ อยู่ต่ำกว่าระดับ 2,000 บาท
ที่มา : CAAT

นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า โครงสร้างต้นทุนค่าโดยสารภายในประเทศของสายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (full service) อยู่ที่ 13 บาทต่อกิโลเมตร โดยมีสัดส่วนต้นทุนมาจากน้ำมันอากาศยาน 25% การปฏิบัติการบิน (flight operation) 20% ค่าบำรุงรักษา 16% ค่าบริการผู้โดยสาร (pax service) 15% ค่าใช้จ่ายของสถานี 6% ค่าเสื่อมราคา (depreciation) 5% user charge 5% ต้นทุนการขาย 4% ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ 4%

ขณะที่สายการบินต้นทุนต่ำ (low cost) มีต้นทุนอยู่ที่ 9.4 บาทต่อกิโลเมตร โดยมีสัดส่วนต้นทุนมาจากน้ำมันอากาศยาน 33% การปฏิบัติการบิน (flight operation) 31% ค่าบำรุงรักษา 8% ค่าบริการผู้โดยสาร (pax service) 6% ค่าใช้จ่ายของสถานี 0% ค่าเสื่อมราคา (depreciation) 2% user charge 12% ต้นทุนการขาย 3% admin 3% ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ 2%

แผนภูมิวงกลมแสดงต้นทุนของสายการบิน โดยส่วนใหญ่มาจากราคาน้ำมัน การซ่อมบำรุง และการปฏิบัติการบิน
ที่มา : CAAT

นายสุทธิพงษ์ กล่าวด้วยว่า โครงสร้างค่าใช้จ่ายของสายการบินส่วนใหญ่มาจากต้นทุนน้ำมัน ครองสัดส่วนประมาณ 30-40% เป็นปัจจัยที่ผันแปร (variable factor) มากที่สุด ขณะที่ต้นทุนด้านอากาศยาน ต้นทุนค่าบริการภาคพื้น เช่น ค่าลงจอด ค่าจอดเครื่องบิน ค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้บริษัทวิทยุการบิน ต้นทุนด้านการบริหาร ต้นทุนด้านพนักงาน และอื่น ๆ อยู่ในระดับคงที่ไม่ปรับเปลี่ยนรุนแรง

ด้านนายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ นายกสมาคมสายการบินประเทศไทย กล่าวว่า อยากสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้โดยสารว่า ราคาตั๋วของสายการบินในประเทศไทยเป็นราคาที่สมเหตุสมผลแล้ว โดยคนส่วนใหญ่มักคิดว่าธุรกิจสายการบินเป็นธุรกิจที่ทำกำไรมหาศาล แต่ในความเป็นจริงเมื่อดูราคาเฉลี่ยตั๋วเครื่องบินเปรียบเทียบกับต้นทุนจะพบว่าค่าตั๋วจะมีส่วนต่างกำไรที่น้อยมาก

ดังนั้น สายการบินจึงต้องพึ่งพารายได้จากช่องทางอื่นมาเสริม เช่น รายได้จากการขนสินค้า รายได้จากการจำหน่ายบริการเสริม รายได้จากการโฆษณาในนิตยสาร in-flight หรือการขายของที่ระลึกบนเครื่องบิน

ขณะที่นายวรเนติ หล้าพระบาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยเวียตเจ็ท กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประเด็นราคาบัตรโดยสารสายการบินแพงหรือไม่นั้น จำเป็นต้องพิจารณาเปรียบเทียบ โดยหากเทียบราคาบัตรโดยสารสายการบินในช่วงการระบาดโควิด-19 กับปัจจุบัน แน่นอนว่าราคาย่อมสูงขึ้น เนื่องจากในช่วงของการระบาดความต้องการเดินทางมีอยู่น้อย สายการบินต้องมีการจัดโปรโมชั่นเป็นเรื่องธรรมดา

แต่ปัจจุบันความต้องการเดินทางกลับมามากขึ้น สวนทางกับปัญหาสายการบินทั่วโลกประสบปัญหาขาดแคลนอากาศยาน ราคาบัตรโดยสารจึงปรับขึ้นเล็กน้อยตามกฎอุปสงค์-อุปทาน

“โครงสร้างของราคาบัตรโดยสารมีการออกแบบโครงสร้างราคาแบบไล่ราคาต่ำไปสูง หากค้นหาบัตรโดยสารในช่วงที่ยังห่างวันเดินทาง ผู้โดยสารที่สำรองตั๋วล่วงหน้าอาจมีโอกาสได้พบกับบัตรโดยสารที่ราคาถูก ขณะที่หากจองบัตรโดยสารใกล้วันเดินทาง ผู้โดยสารก็อาจพบกับราคาที่สูงขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะช่วงวันหยุดยาว” นายวรเนติกล่าว

กราฟฟิคแสดงระดับราคาบัตรโดยสารสายการบิน เมื่อจองล่วงหน้า เช่น 1-3 เดือน มีโอกาสเจอราคาตั๋วถูกกว่า
ที่มา : CAAT