ทอท.เชื่ออีก 2 ปี “สุวรรณภูมิ” กลับมาติด 1 ใน 50 สนามบินดีที่สุดในโลก

ทอท.ย้ำความสำคัญ ฟันเฟืองสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เปิดวิสัยทัศน์พัฒนาสนามบินที่มีอยู่ ศึกษาโปรเจ็กต์สนามบินใหม่ เชียงใหม่-ภูเก็ตแห่งที่ 2 อยู่ในแผนศึกษา ย้ำต้องลงทุนวันนี้เพื่ออนาคต เชื่อในอีก 2 ปี โครงการพัฒนาเห็นผล ทำ “สุวรรณภูมิ” ติดท็อป 50 สนามบินดีที่สุดในโลก และก้าวสู่ 1 ใน 30 อีก 4 ปี

วันที่ 29 กันยายน 2566 นายเอนก ธีระวิวัฒน์ชัย รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานยุทธศาสตร์ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในงานสัมมนา “ถอดรหัสลงทุน ก้าวข้ามวิกฤต” ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ว่าประเทศไทยมีข้อได้เปรียบและความพร้อมต่อการประกอบธุรกิจการท่องเที่ยว ทั้งตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ ซัพพลายภาคโรงแรม แหล่งท่องเที่ยว รวมถึงค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวที่เหมาะสม

เอนก ธีระวิวัฒน์ชัย
เอนก ธีระวิวัฒน์ชัย

จากนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ทอท.มีหน้าที่ต้องตอบสนองภาครัฐ ด้วยการจัดสลอตการบินต่าง ๆ ให้เหมาะสม รวมถึงพัฒนาสนามบินที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น พัฒนาอาคารผู้โดยสารที่มีอยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

นายเอนกกล่าวว่า ด้วยธุรกิจการบินยังมีแนวโน้มเติบโตต่อไปในอนาคต ทอท.จึงมีภารกิจสำคัญในการลงทุนพัฒนาสนามบินแห่งใหม่ โดยปัจจุบัน ทอท.อยู่ระหว่างการศึกษาโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเชียงใหม่ แห่งที่ 2 (ท่าอากาศยานล้านนา) วงเงินการลงทุน 70,000 ล้านบาท และโครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ตแห่งที่ 2 (ท่าอากาศยานอันดามัน) วงเงินลงทุน 80,000 ล้านบาท

“ธุรกิจการบินมีแต่โตเพิ่มขึ้น ประเทศไทยยังโตได้อีกมาก เดิมไทยมีปัญหาเรื่องการพัฒนาที่ช้า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของสนามบินจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกระจายจากหัวเมืองหลัก การจะให้หัวเมืองหลักโตมันยังมีข้อจำกัด สนามบินภูเก็ตและเชียงใหม่แน่นแล้ว ถ้าใช้สนามบินเหล่านี้ต่อไป ต้องใช้เวลาราว 10 ปี ดังนั้น การลงทุนต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้”

ทั้งนี้ เชื่อว่าการพัฒนาโครงการทั้ง 2 สนามบินจะสร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมทั้งระหว่างการก่อสร้าง และหลังก่อสร้างแล้วเสร็จ

สำหรับโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นายเอนกกล่าวว่า ล่าสุดได้เปิดให้บริการ (Soft Opening) อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) ซึ่งจะขยายขีดความสามารถท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจาก 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปี ซึ่งจะช่วยลดความแออัดในอาคารผู้โดยสาร

โดยอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 นี้ ได้พัฒนาโดยคำนึงถึงข้อผิดพลาดที่ได้เรียนรู้จากอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 เช่น จำนวนห้องน้ำ การออกแบบห้องน้ำ การจัดการระบบไหลเวียนอากาศ พื้นที่พักคอยหน้าประตูขึ้นเครื่อง ระบบหลังคา

นอกจากนี้ ในปี 2567 การก่อสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) ที่ 3 จะแล้วเสร็จ ทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรองรับเที่ยวบินได้ที่ 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง จากเดิม 68 เที่ยวบิน เป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง

นายศิโรตม์ ดวงรัตน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจและการตลาด บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้ติดตั้งระบบเช็กอินและฝากสัมภาระด้วยตนเอง จำนวน 190 เครื่อง เพิ่มเครื่องลงทะเบียน ณ ด่านตรวจคนเข้าเมืองระบบอัตโนมัติจำนวน 23 เครื่อง และเตรียมเชื่อมต่อข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสนามบิน

ศิโรตม์ ดวงรัตน์
ศิโรตม์ ดวงรัตน์

นายศิโรตม์กล่าวว่า การพัฒนาดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ใช้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้รับความสะดวก คล่องตัว ย่นระยะเวลาในแต่ละจุดสัมผัส และหวังว่าเมื่อผนวกการพัฒนาดังกล่าวเข้ากับการเปิดอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 จะช่วยให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกลับสู่การจัดอันดับ 1 ใน 50 ของท่าอากาศยานที่ดีที่สุดในโลกของสกายแทรกซ์ (Skytrax) ใน 2 ปี และเป็น 1 ใน 30 ของท่าอากาศยานที่ดีที่สุดในโลก ในระยะเวลา 4 ปี

“การพัฒนาต่าง ๆ ของสุวรรณภูมิ รวมถึงรันเวย์ที่ 3 จะเสร็จในปีหน้า จะทำให้สุวรรณภูมิกลับสู่ 1 ใน 50 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก ใน 2 ปี และติดอันดับ 1 ใน 30 สนามบินที่ดีที่สุดในอีก 4 ปีแน่นอน”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ตามการจัดอันดับของสกายแทรกซ์ พบว่าปัจจุบันท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ครองอันดับ 68 ของสนามบินที่ดีที่สุดในโลก ครองอันดับดีขึ้นจากปี 2565 ซึ่งรั้งที่อันดับ 77

ปัจจุบันปริมาณผู้โดยสารเดินทางทางอากาศฟื้นตัวสู่ระดับ 70% ของปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19 โดยหากเจาะเฉพาะผู้โดยสารชาวจีน จะพบว่าครองสัดส่วนราว 12-13% ของจำนวนผู้โดยสารต่างประเทศทั้งหมด น้อยกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ระบาดที่มีสัดส่วน 26% ซึ่งอาจเกิดจากแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนที่ส่งเสริมให้ชาวจีนจับจ่ายในประเทศ รวมถึงความไม่สะดวกในการขอวีซ่าก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ ประเมินว่าตามตารางการบินฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง และฤดูร้อนในปี 2567 จะมีผู้โดยสารระหว่างประเทศเดินทางเข้าไทย 73-83 ล้านคน และประเมินว่าใน 1-2 ปี ปริมาณผู้โดยสารจะฟื้นตัวสู่ระดับเดียวกับก่อนการระบาดของโควิด-19 ที่จำนวน 160 ล้านคน