เบรกนำเข้าแรงงานท่องเที่ยว “พิพัฒน์” จ่อขึ้นค่าแรงปีใหม่

โรงแรม

“ท่องเที่ยว-โรงแรม” ลุ้นเก้อ รมว.พิพัฒน์เบรกนำเข้าแรงงานต่างชาติ แนะใช้วิธีพัฒนาศักยภาพคนในประเทศรองรับ เผยกระทรวงแรงงานพร้อมอัพสกิลป้อนทุกตำแหน่งงาน พร้อมวางแผนแนะแนวเด็กมัธยมให้รู้จักอาชีพที่ชอบ แก้ปัญหาแรงงานระยะยาวเตรียมปรับขึ้นค่าแรงเป็นของขวัญปีใหม่ต้นปี’67

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ก่อนหน้านี้ว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้แรงงานภาคการท่องเที่ยวออกจากอุตสาหกรรมจำนวนมาก เมื่อการท่องเที่ยวฟื้นตัวแรงงานบางส่วนไม่กลับเข้ามา ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยว โรงแรมและบริการขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก และคาดว่าจะรุนแรงต่อเนื่องในฤดูกาลท่องเที่ยวที่กำลังจะมาถึงนี้

ซึ่งในส่วนของธุรกิจโรงแรมอาจต้องปรับตัวโดยการจ้างแรงงานรายวัน จ้างพนักงานพาร์ตไทม์ รวมถึงแรงงานต่างด้าว พร้อมเสนอให้รัฐบาลเปิดรับแรงงานต่างชาติมากขึ้น โดยอาจขยายกรอบความร่วมมือจากการรับแรงงานเพียงแค่ประเทศเพื่อนบ้านเป็นเปิดรับแรงงานจากประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย รวมถึงสร้างความมั่นใจให้กับนักเรียน นิสิต นักศึกษาไทย ให้มีความมั่นใจในเส้นทางของวิชาชีพธุรกิจโรงแรม

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการเสนอให้เปิดรับแรงงานต่างชาติจากฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย เนื่องจากมองว่าปัจจุบันยังมีแรงงานในประเทศอีกจำนวนมากที่ไม่มีงานทำ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในด้านการท่องเที่ยวและบริการ จึงอยากให้พัฒนาศักยภาพและองค์ความรู้แรงงานกลุ่มนี้ให้เหมาะสมกับตำแหน่งงานเข้าสู่ตลาดแรงงานก่อน

ซึ่งกระทรวงแรงงานจะมีการร่วมมือระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อวางแผนพัฒนาศักยภาพของนักเรียน นักศึกษา เข้าสู่ตลาดแรงงาน และขณะนี้ได้หารือกันเรียบร้อยแล้ว และเตรียมลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ร่วมกันเร็ว ๆ นี้

“ผมเสนอแนวคิดว่าจะร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการส่งเสริมการค้นหาตัวตนของนักเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เพื่อให้สามารถตัดสินใจเลือกสายการเรียนหลังจากจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ได้ว่า สนใจเรียนต่อในสายการเรียนอาชีวะ หรือสามัญต่อไป แม้บางส่วนอาจเลือกเรียนสามัญและก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ภาคบริการยังสามารถดึงดูดแรงงานในกลุ่มนี้ได้อยู่ เนื่องจากนักศึกษากลุ่มนี้มีความรู้ด้านภาษาอังกฤษ ดังนั้นจึงสามารถชักชวนให้นิสิตนักศึกษาเข้ารับการอบรมตามมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง และในส่วนของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน พร้อมให้ความร่วมมือการจัดอบรมอีกด้วย

“ก่อนหน้านี้ผมอยู่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ พบว่าก่อนการระบาดของโควิด-19 ในปี 2562 ประเทศไทยมีแรงงานภาคท่องเที่ยวประมาณ 4 ล้านคน แต่ปัจจุบันพบว่ายังขาดแคลนแรงงานอยู่ประมาณ 25% หรือราว 1 ล้านคน ซึ่งตอนที่อยู่กระทรวงท่องเที่ยวฯก็เห็นด้วยกับการนำเข้าแรงงาน แต่ตอนนี้ผมมาดูกระทรวงแรงงาน และไม่เห็นด้วย กระทรวงแรงงานพร้อมทำหน้าที่ในการสนับสนุนเพื่อฝึกฝน เพิ่มพูน ทบทวนทักษะของแรงงาน โดยให้หน่วยงานที่มีความประสงค์แจ้งความต้องการมายังกระทรวงได้”

นายพิพัฒน์กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันหลายประเทศต้องการพลิกฟื้นเศรษฐกิจผ่านการกระตุ้นการท่องเที่ยว แต่ทุกประเทศต่างก็มีปัญหาคล้ายกันคือ ขาดแคลนแรงงานในภาคการท่องเที่ยว ดังนั้นเป้าหมายสำคัญของกระทรวงแรงงานจึงต้องโฟกัสผลิตแรงงานป้อนในประเทศไทยให้ได้ก่อน ซึ่งที่ผ่านมามีประเทศในแถบตะวันออกกลางประสานงานเพื่อให้ช่วยอบรมวิชาชีพให้กับแรงงานเขาเช่นกัน แต่จำเป็นต้องตอบปฏิเสธไปก่อน

สำหรับประเด็นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำยืนยันว่าจะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแน่นอน เบื้องต้นต้องมีการหารือร่วมคณะกรรมการค่าจ้างที่ประกอบไปด้วยภาครัฐ นายจ้าง และลูกจ้างก่อน อย่างไรก็ตาม อัตราค่าแรงที่ปรับขึ้นนั้นต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานค่าแรงขั้นต่ำของแต่ละจังหวัด ค่าแรงขั้นต่ำของแต่ละภาคอุตสาหกรรม รวมถึงปัจจัยภาวะเงินเฟ้อของประเทศและค่าครองชีพที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วย

และท้ายที่สุดคือ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งจำเป็นต้องมีการหารือกับทุกฝ่ายเพื่อหาจุดร่วม และพิจารณาว่าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ที่มีการจ้างงานแรงงานเป็นจำนวนมาก จะได้รับผลกระทบมากแค่ไหน และคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเดือนพฤศจิกายน 2566 จากนั้นประกาศเดือนธันวาคม และปรับขึ้นค่าแรงเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ในเดือนมกราคม 2567

“ส่วนอัตราค่าแรงขั้นต่ำนั้นยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะเป็นอัตรา 400 บาทต่อวันหรือไม่ เนื่องจากหากประกาศขั้นต่ำแล้วหมายความว่าทุกคนต้องได้ค่าแรงเท่าเทียมกันทั้งชาวไทยและชาวต่างด้าว ดังนั้นกระทรวงแรงงานจะหาแนวทางเพิ่มพูนทักษะ (Upskill) ให้แก่แรงงานคนไทย เพื่อให้ได้ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทให้เร็วที่สุด

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าประเทศไทยยังต้องการแรงงานต่างชาติ เนื่องจากบางตำแหน่งงานคนไทยไม่ทำ แรงงานต่างชาติจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เช่นกัน เพราะมีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจ และเชื่อว่าในอนาคตจะมีแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นด้วย” นายพิพัฒน์กล่าว