“เอมิเรตส์” ฟื้นเครือข่าย หนุนดูไบฮับ “การค้า-ท่องเที่ยว” โลก

ออร์ฮาณ อาบบาส
สัมภาษณ์

กว่า 30 ปีที่ผ่านมา “เอมิเรตส์” สายการบินประจำชาติของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งฐานการบินที่ท่าอากาศยานนานาชาติดูไบ ทำการขนส่งผู้โดยสารไปแล้วเกือบ 720 ล้านคน และสินค้ากว่า 38 ล้านตัน ทั้งไปและผ่านดูไบ เป็นสายการบินที่ได้รับรางวัลระดับโลกมากมาย ปัจจุบันให้บริการไปยัง 144 จุดหมายปลายทางทั่วโลก (รวมดูไบ)

ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” ได้ร่วมสัมภาษณ์ “ออร์ฮาณ อาบบาส” รองประธานอาวุโสฝ่ายปฏิบัติการเชิงพาณิชย์ ตะวันออกไกล สายการบินเอมิเรตส์ ถึงภาพรวมและแนวโน้มของอุตสาหกรรมการบิน การปรับตัว รวมถึงทิศทางการดำเนินงานของเอมิเรตส์ ในโอกาสที่จัด Media FAM Trip to Dubai ในช่วงวันที่ 2-6 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ดังนี้

ดีมานด์พุ่ง-Load Factor 80%

“ออร์ฮาณ” บอกว่า ภาพรวมของเอมิเรตส์ทั่วโลกขณะนี้ฟื้นกลับมาได้เกือบเท่าก่อนวิกฤตโควิด (ปี 2562) แล้ว โดยกลับมาให้บริการเที่ยวบินไป 144 จุดหมายปลายทาง ใน 6 ทวีปทั่วโลก แบ่งเป็น 134 จุดหมายปลายทางแบบพาณิชย์ และ 10 จุดหมายปลายทางสำหรับการขนส่งสินค้า มีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร หรือ load factor ที่ประมาณ 80% ซึ่งถือว่าสูงมาก

โดยภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกและประเทศไทยเป็นตลาดที่เอมิเรตส์ให้ความสำคัญอย่างสูง ขณะนี้ได้เปิดเที่ยวบินไปในทุก ๆ ประเทศที่เคยให้บริการเมื่อก่อนโควิดแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ฯลฯ

สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันให้บริการเส้นทางบินจากสนามบินดูไบ (สหรัฐอาหรับฯ) สู่สนามบินสุวรรณภูมิ (กรุงเทพฯ) จำนวน 35 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และเส้นทางจากสนามบินภูเก็ตสู่สนามบินดูไบ จำนวน 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

ขณะเดียวกัน ยังพยายามที่จะเอาเครื่องแอร์บัส A380 ซึ่งเป็นโปรดักต์แฟลกชิปไปให้บริการในตลาดที่สนามบินสามารถรองรับได้

โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา “เอมิเรตส์” ได้เริ่มต้นเปิดเส้นทางใหม่ ได้แก่ ไมอามี (สหรัฐอเมริกา) เทลอาวีฟ (อิสราเอล) และมอนทรีออล (แคนาดา) นอกจากนี้ ยังได้เปิดตัวข้อตกลงระหว่างสายการบินและเที่ยวบินร่วมใหม่เพื่อขยายการเชื่อมต่อทั่วโลก

และขยายการดำเนินงานด้วยเครื่องบิน A380 เพื่อรองรับผู้โดยสารได้มากขึ้น และเพิ่มคาพาซิตี้การขนส่งให้ได้มากขึ้น ทำให้ “เอมิเรตส์” เป็น super contactors หรือตัวเชื่อมระหว่างโลกตะวันตกกับโลกตะวันออก (East & West) เข้าด้วยกันที่ใหญ่ที่สุด

รายได้-กำไรสูงเป็นประวัติการณ์

ทั้งนี้ จากรายงานประจำปี 2022-2023 พบว่า ปีนี้เป็นปีที่ “เอมิเรตส์” ทำกำไรได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น ครอบคลุมทั่วทั้งธุรกิจของกลุ่มบริษัทเอมิเรตส์ มีตัวเลขกำไรที่ 10.6 พันล้าน AED หรือ 2.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากที่ขาดทุนในปีก่อนหน้า 3.9 พันล้าน AED หรือ 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดยรายได้เพิ่มขึ้น 81% อยู่ที่ 107.4 พันล้าน AED (29.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ) เนื่องจากสายการบินได้ฟื้นฟูเครือข่ายทั่วโลก และกลับมาให้บริการเที่ยวบินโดยสารเพิ่มขึ้นให้สอดรับกับความต้องการของตลาด

“ในช่วงซัมเมอร์คือระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2566 ถือเป็นช่วงที่คึกคักมากของเอมิเรตส์ โดยได้รองรับผู้โดยสารมากกว่า 14 ล้านคน มีจำนวนที่นั่งโดยเฉลี่ยเกิน 80% ทั่วทั้งเครือข่ายทั่วโลก”

ขณะเดียวกันยังเห็นแนวโน้มการจองล่วงหน้า (forward booking) ที่สะท้อนว่า ตลาดยังคงมีความต้องการการเดินทางระหว่างประเทศในเครือข่ายของเอมิเรตส์เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

จึงเชื่อมั่นว่าอุตสาหกรรมการเดินทางและการบินทั่วโลกจะกลับมาสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดภายในปี 2567 อย่างแน่นอน

ปรับโปรดักต์-เพิ่มโซลูชั่นบริการ

ขณะเดียวกันในช่วงปี 2022-2023 เอมิเรตส์ยังได้ลงทุนกว่า 6.7 พันล้าน AED เพื่อส่งมอบตามคำมั่นสัญญา “Fly Better” ของเรา ผ่านการสร้างประสบการณ์ที่ราบรื่น หรูหราในทุกจุดสัมผัสในการเดินทางของลูกค้า ตั้งแต่ออนไลน์ไปจนถึงออฟไลน์

โดยล่าสุดกลับมาเปิดห้องรับรอง หรือ lounge ในสนามบินจำนวน 32 แห่งทั่วโลก อาทิ โอกแลนด์ กรุงเทพฯ เบอร์มิงแฮม บอสตัน ไคโร เคปทาวน์ โคลัมโบ แฟรงก์เฟิร์ต ฮัมบูร์ก ลอนดอน ลอสแองเจลิส ฯลฯ และอีก 7 แห่งในดูไบแล้ว

รวมถึงมอบคุณภาพการบริการลูกค้าตลอดการเดินทาง ตั้งแต่ประสบการณ์ที่ดีด้วยบริการ Chauffeur-drive Service จากที่บ้านไปถึงสนามบิน จนไปถึงการบริการในเครื่องบิน อาหาร รวมถึงระบบความบันเทิงบนเครื่องที่ได้ลงทุน 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับฝูงบินที่ A350

ไม่เพียงเท่านี้ ยังได้ลงทุนพัฒนาโซลูชั่นสำหรับการเดินทางที่เป็นนวัตกรรมชั้นนำของอุตสาหกรรมสำหรับรองรับผู้บริโภคยุคใหม่ที่อยู่กับเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นการทำแอปพลิเคชั่น สำหรับการจองตั๋ว เช็กเที่ยวบิน รวมถึงจองอาหารล่วงหน้า และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น

“อย่างสนามบินนานาชาติดูไบ ตอนนี้เรามีจุดเช็กอินด้วยตนเอง 32 จุด และตู้โหลดสัมภาระ kiosks 16 จุด รวมถึงการใช้เทคโนโลยีการสแกนม่านตาไบโอเมตริกซ์ที่ช่วยให้ผู้โดยสารสามารถผ่านกระบวนการตรวจคนเข้าเมืองโดยแบบไร้สัมผัสและใช้เอกสารน้อยลง ซึ่งได้ดีไซน์มาในช่วงโควิด แต่สามารถนำมาใช้ต่อยอดในช่วงหลังโควิด”

ไม่เพียงเท่านี้ เพื่อให้บริการได้อย่างครอบคลุม เอมิเรตส์ยังมีพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน (cabin crew) จาก 160 ประเทศทั่วโลก ที่สามารถสื่อสารภาษาได้หลากหลาย

กราฟฟิก ฝูงบินเอมิเรตส์

หนุนดูไบฮับการค้า-ท่องเที่ยวโลก

“ออร์ฮาณ” บอกอีกว่า ปัจจุบันเครือข่ายของเอมิเรตส์ ประกอบด้วยจุดหมายปลายทาง 144 แห่ง (รวมดูไบ) ใน 6 ทวีป มีเที่ยวบินร่วม (code share) กับ 29 สายการบิน สายการบินเชื่อมต่อ (inter line) 117 สายการบิน และพันธมิตรระบบขนส่งมวลชน 11 รายทั่วระบบนิเวศการขนส่งในกว่า 100 ประเทศ

ทั้งนี้ เพื่อมอบทางเลือกที่เพิ่มขึ้นและมีตารางเวลาที่ยืดหยุ่นสำหรับนักเดินทาง รวมถึงมอบการเชื่อมต่อที่ราบรื่นด้วยการเข้าถึงเครือข่ายที่ขยายไปยังภาคส่วนเพิ่มเติมกว่า 5,250 แห่ง ครอบคลุมกว่า 800 เมืองทั่วโลก

“ดูไบพยายามที่จะขยายขอบเขตทางเศรษฐกิจ ซึ่งตลอดทศวรรษหน้า เอมิเรตส์จะมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มเมืองต่าง ๆ เข้าสู่เครือข่ายการค้าต่างประเทศ และเปิดเส้นทางเศรษฐกิจใหม่ พร้อมทั้งทำงานร่วมกับพันธมิตร เพื่อกำหนดรูปแบบอนาคตของการเดินทางและการบิน และส่งมอบผลกระทบเชิงบวกต่อผู้คนและชุมชนทั่วโลก”

“ออร์ฮาณ” บอกด้วยว่า ในเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา “เชค โมฮัมเหม็ด บิน ราชิด อัล มักตูม” รองประธานาธิบดี และนายกรัฐมนตรีของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเจ้าผู้ครองนครดูไบ ได้เปิดตัววาระเศรษฐกิจดูไบ D33 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มเศรษฐกิจของเมืองเป็น 2 เท่าภายในปี 2573

โดย “เอมิเรตส์” จะเป็นแรงผลักดันหลักของการทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นและกำหนดอนาคตของโลก จึงมุ่งเน้นกลยุทธ์ไปที่การเสริมแกร่งในการมอบข้อเสนอที่ดีที่สุดผ่านผลิตภัณฑ์และบริการ การเชื่อมต่อที่ครอบคลุมทั่วโลก และสนับสนุนดูไบในฐานะศูนย์กลางการค้าและการท่องเที่ยวระดับโลก

อุตสาหกรรมการบินโลกกำลังกลับสู่ปกติ

“ออร์ฮาณ” ยังประเมินด้วยภาพรวมของอุตสาหกรรมการบินปีนี้จะเป็นปีที่ดีและแข็งแกร่งมากขึ้นเรื่อย ๆ และอาจจะมีการขยายตัวไปในตลาดใหม่ ๆ ด้วย ซึ่งทาง “เอมิเรตส์” เองก็มีการลงทุนซื้อเครื่องบินใหม่เพิ่มเติมฝูงบินในอนาคตด้วย (ดูตารางประกอบ)

รวมทั้งปรับปรุงเครื่องบินครั้งใหญ่ที่สุด ด้วยงบฯมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงลงทุนเพิ่มเติมในเครื่องบินใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นแอร์บัส A350 และโบอิ้ง 777-X เพื่อให้มั่นใจว่าประสบการณ์บนเครื่องบินยังคงความเป็นเลิศอยู่เสมอ

ยกตัวอย่าง เช่น เครื่องบิน A380 และ B777 จำนวน 120 ลำของเอมิเรตส์ ได้รับการติดตั้งที่นั่งชั้นประหยัดพรีเมี่ยม (premium economy) ใหม่ ซึ่งปัจจุบันให้บริการไปแล้ว 11 ประเทศทั่วโลก อาทิ สิงคโปร์ และภายในสิ้นปีนี้จะเพิ่มเป็น 15 ประเทศ เช่น ในตลาดญี่ปุ่น (นาริตะ) ส่วนประเทศไทยนั้นอยู่ในแผนในอนาคต

ซึ่งหลังจากปรับปรุงเครื่องบินแล้วก็จะเริ่มทยอยเปิดตลาดใหม่ต่อไปเช่นกัน เพราะเชื่อว่าธุรกิจการบินทั่วโลกจะฟื้นกลับมาสู่ภาวะปกติ หรือเทียบเท่าก่อนวิกฤตโควิด-19 ได้ในปี 2567 นี้

โดย “เอมิเรตส์” เองจะทำงานอย่างหนักเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ขณะเดียวกันก็จับตาดูอัตราเงินเฟ้อ ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และความไม่แน่นอนทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด

และจะมุ่งสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งต่อไป เพื่อรับประกันความสำเร็จในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่ง การลงทุนอย่างต่อเนื่อง การรวบรวมผู้มีความสามารถ และร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับพันธมิตร

โดย 3 ปีที่ผ่านมา “เอมิเรตส์” ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความแข็งแกร่งที่แท้จริง มีความว่องไว ยืดหยุ่น มองไปข้างหน้า และสามารถรับมือกับความท้าทายใหม่ที่เกิดขึ้นได้อย่างดี

สะท้อนว่า “เอมิเรตส์” อยู่ในโพซิชั่นที่ดี และเชื่อว่าอนาคตก็จะยังคงอยู่ในโพซิชั่นที่ดีต่อเนื่องเช่นกัน