การบินไทย ตั้งรับ 5 ปัจจัยเสี่ยงธุรกิจการบินปี 2567

เครื่องบินแบบโบอิ้ง 787-800 การบินไทย
ที่มาภาพ​ : การบินไทย

ภาพรวมเศรษฐกิจโลกและบรรยากาศของการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2566 ที่ผ่านมาเริ่มส่งสัญญาณการชะลอตัว จากความกังวลในเรื่องของความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเคน และอิสราเอล-ฮามาสที่ยืดเยื้อ อัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง

ขณะที่กลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อาทิ เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซน เศรษฐกิจจีน รวมถึงกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนายังเติบโตได้ต่ำกว่าศักยภาพ

อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยจำนวนถึง 7.1 ล้านคน สูงกว่าในช่วงไตรมาส 1 ที่มีจำนวน 6.476 ล้านคน และไตรมาส 2 ที่มีจำนวน 6.436 ล้านคน

5 ปัจจัยเสี่ยงธุรกิจการบินปี 2567

“ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์” ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มองว่า สัญญาณการชะลอตัวดังกล่าวนี้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจการบินในช่วงไตรมาส 4 ปี 2566 ต่อเนื่องถึงไตรมาส 1 ปี 2567 แน่นอน

โดยประเมินว่าแม้ว่าในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ต่อเนื่องถึงต้นปีหน้าจะเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูการท่องเที่ยว (high season) ของนักท่องเที่ยวจากหลายภูมิภาค แต่สำหรับภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจการบินอาจไม่สดใสหรือคึกคักมากนัก และต้องบริหารด้วยความระมัดระวังสูง เนื่องจากในภาพรวมยังมีปัจจัยที่ท้าทายและเป็นความเสี่ยงของธุรกิจการบินถึง 5 ประเด็นหลัก

ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์
ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์

ประกอบด้วย 1.สภาวะการแข่งขันที่คาดว่าจะปรับตัวรุนแรงขึ้นจากการที่สายการบินหลายแห่งเริ่มทยอยนำเครื่องบินกลับมาทำการบินในระดับที่ใกล้เข้าสู่ภาวะปกติก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

เช่น การเปิดเส้นทางบินและเพิ่มความถี่เที่ยวบินของสายการบินในหลายเส้นทาง อาทิ สายการบิน “สแกนดิเนเวียนแอร์ไลน์ส” กลับเข้ามาทำการบินในเส้นทางกรุงเทพฯ-กรุงโคเปนเฮเกน (เดนมาร์ก) หรือสายการบิน “ลุฟท์ฮันซ่า” ที่นำเครื่องแอร์บัสแบบ A380 กลับเข้ามาทำการบินในเส้นทางกรุงเทพฯ-นครมิวนิก (เยอรมนี) เป็นต้น

2.ปัญหาข้อพิพาทในภูมิภาคตะวันออกกลางและพื้นที่ฉนวนกาซา (อิสราเอล) และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลกระทบต่ออัตราการสำรองที่นั่งล่วงหน้าในหลาย ๆ เส้นทางในช่วงฤดูหนาวนี้ไม่คึกคักเท่าที่ควร โดยเฉพาะเส้นทางทวีปยุโรป รวมถึงเที่ยวบิน “กรุงเทพฯ-นครอิสตันบูล” สาธารณรัฐทูร์เคีย ซึ่งการบินไทยมีกำหนดเปิดให้บริการในวันที่ 1 ธันวาคม 2566 นี้

3.การชะลอตัวของเศรษฐกิจในสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเห็นได้จากการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ยังเป็นไปอย่างล่าช้าและยังอยู่ในระดับที่ไม่ดีเท่าที่ควร แม้ว่าประเทศไทยจะมีมาตรการยกเว้นการตรวจลงตรา หรือวีซ่าฟรี ก็ตาม

“ที่ผ่านมาสายการบินจีนบางรายก็ได้ทำการจองสลอตการบิน และคุยกับการบินไทยเรื่องการบริการกราวด์เซอร์วิสแล้ว แต่ในที่สุดก็ต้องยกเลิกไป”

4.ราคาน้ำมันก็ยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งในไตรมาส 3/2566 ที่ผ่านมา “การบินไทย” มีต้นทุนค่าน้ำมันคิดเป็นสัดส่วนถึง 41% ของต้นทุนทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากช่วงไตรมาส 2/2566 ที่มีสัดส่วนประมาณ 33% และ 5.ค่าใช้จ่ายการบริการภาคพื้นในต่างประเทศปรับตัวสูงขึ้นจากปัญหาการขาดแคลนบุคลากร

มุ่งแก้ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ

“ปิยสวัสดิ์” บอกว่า ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ “การบินไทย” ต้องมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการบริหารผลตอบแทนต่อหน่วย (yield) ให้เป็นไปตามเป้าหมาย เช่นเดียวกับการจัดการด้านค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

ตลอดจนดำเนินการตามแผนปฏิรูปองค์กรและการดำเนินธุรกิจอย่างเคร่งครัด และมีวินัย เพื่อให้การดำเนินการปรับโครงสร้างทุนด้วยการแปลงหนี้เป็นทุนและเพิ่มทุนได้สำเร็จภายใน 31 ธันวาคม 2567 ตามกรอบเวลาที่ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ

โดยเงื่อนไขสำคัญ 2 อย่างในการออกจากแผนคือ 1.EBIDA ในรอบ 12 เดือนจะต้องเกิน 20,000 ล้านบาท และ 2.ส่วนของผู้ถือหุ้นไม่ติดลบ

“ตอนนี้ส่วนของผู้ถือหุ้นของการบินไทยยังติดลบอยู่ 54,706 ล้านบาท ดังนั้นต่อไปเราต้องเน้นในเรื่องของผลประกอบการที่ดี เพราะผลประกอบการที่ดีจะทำให้มีเงินสดและเงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นดีขึ้น”

เร่งเสริมฝูงบิน

ในส่วนของแผนการทำการตลาดนั้น “กรกฎ ชาตะสิงห์” ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ ให้ข้อมูลว่า ปัญหาใหญ่ของการบินไทยในวันนี้คือ จำนวนเครื่องบินมีไม่เพียงพอสำหรับทำการตลาด โดยข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 บริษัท และบริษัทย่อยมีเครื่องบินที่ใช้ทำการบินทั้งสิ้น 68 ลำ (รับเพิ่มมา 3 ลำในปีนี้)

ในไตรมาส 3 ปี 2566 ที่ผ่านมามีอัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบิน (aircraft utilization) เฉลี่ย 12.1 ชั่วโมง มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้น 21.5% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 22.0% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (cabin factor) เฉลี่ย 77.3% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 3.27 ล้านคน

“การบินไทย” มีแผนรับมอบเครื่องบินเข้ามาอีกจำนวน 26 ลำ แบ่งเป็น เครื่องบินลำตัวกว้าง 14 ลำ ประกอบด้วย แอร์บัส A350 จำนวน 11 ลำ โบอิ้ง 787 จำนวน 1 ลำ และแอร์บัส A330 จำนวน 2 ลำ และเครื่องบินลำตัวแคบ A321 Neo อีกจำนวน 12 ลำ

ทั้งนี้ เพื่อรองรับความต้องการเดินทางของผู้โดยสารที่เติบโตอย่างต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบิน โดยการบินไทยได้พัฒนาความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์กับเตอร์กิชแอร์ไลน์สทำการบินไปยังเมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี (ทูร์เคีย) สัปดาห์ละ 7 เที่ยวบินตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2566 เป็นต้นไป

“กรกฎ” บอกด้วยว่า ตามแผนการรับมอบเครื่องบินเพิ่มดังกล่าวนี้จะทำให้การบินไทยมีเครื่องบินสำหรับรองรับการเพิ่มเส้นทางบินเพื่อขยายตลาดไปที่ตลาดยุโรป ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ต่อเนื่องปีหน้า ทั้งเพิ่มความถี่ในเส้นทางที่ให้บริการอยู่แล้ว และฟื้นเส้นทางการบินเดิมที่เคยให้บริการเมื่อก่อนโควิดกลับมา

“เส้นทางสู่จีนเดิมเราเตรียมคาพาซิตี้ไว้ที่ประมาณ 60% ของปี 2562 แต่ปัจจุบันเรายังมีเพียงแค่ประมาณ 40% เนื่องจากตลาดจีนยังคงชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ยังไม่สามารถเพิ่มความถี่ได้ตามแผน เราจึงปรับแผนเอาเครื่องบินที่เตรียมไว้รองรับตลาดจีนไปทำการบินสู่ตลาดอื่นที่มีศักยภาพแทน”

คาดปีนี้รายได้ 1.5 แสนล้าน

“ปิยสวัสดิ์” ยังระบุด้วยว่า ในช่วง 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน) ของปี 2566 การบินไทยและบริษัทย่อยมีรายได้รวม 115,897 ล้านบาท มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) จำนวน 29,330 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 16,342 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อนขาดทุน 11,237 ล้านบาท

ตัวเลขดังกล่าวนี้สะท้อนถึงทิศทางที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นไปตามแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย

และคาดการณ์ว่าในเดือนพฤศจิกายน 2566 อัตราการบรรทุกผู้โดยสาร หรือ load factor ของการบินไทยจะอยู่ที่ประมาณ 78% และเพิ่มเป็น 80% ในเดือนธันวาคม 2566 ซึ่งจะทำรายได้รวมของปี 2566 นี้ขยับไปอยู่ในระดับ 150,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปี 2562 ก่อนโควิดที่ทำได้ถึง 180,000 ล้านบาท

และหากไม่มีวิกฤตอะไรมาซ้ำเติมเชื่อมั่นว่า “รายได้รวม” ของการบินไทยจะพุ่งไปอยู่ระดับที่มากกว่าก่อนโควิดได้ในปี 2568 แน่นอน…