ก.การท่องเที่ยวฯ​ ปิ๊งไอเดีย ยกระดับแหล่งน้ำพุร้อนไทย สู่ “เมืองออนเซน” แบบญี่ปุ่น

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เยี่ยมชมบ่อน้ำพุร้อน
ที่มา : กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

กระทรวงการท่องเที่ยวฯ เล็งยกระดับแหล่งน้ำพุร้อนของไทย เป็น “สปา ทาวน์” แบบยุโรป หรือ “ออนเซน ทาวน์” แบบญี่ปุ่น “สุดาวรรณ” สั่งกรมการท่องเที่ยวออกแบบ 7 เส้นทางท่องเที่ยวสายน้ำพุร้อนของประเทศไทย

วันที่ 23 มกราคม 2567 นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ตนได้ลงพื้นที่จังหวัดระนอง พร้อมกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะรัฐมนตรี เพื่อตรวจราชการที่จังหวัดระนอง ก่อนที่จะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่จังหวัดระนอง

ในโอกาสนี้ตนจะได้เข้าเยี่ยมชมการบริหารจัดการบ่อน้ำร้อนรักษะวาริน ซึ่งเป็นบ่อน้ำแร่ร้อนแหล่งเดียวในประเทศไทย และได้มอบหมายให้กรมการท่องเที่ยว พัฒนาแหล่งน้ำพุร้อนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยยกระดับสู่ Spa Town แบบยุโรป หรือ Onsen Town แบบญี่ปุ่น เพื่อให้เป็นเศรษฐกิจน้ำพุร้อน (Hot Spring Economy) ของไทยที่มีศักยภาพและสร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่น โดยเฉพาะในพื้นที่เมืองรอง

อย่างไรก็ตาม การเริ่มต้นของประเทศไทยถือว่าพัฒนาหลังประเทศในยุโรป และญี่ปุ่นกว่า 1,000 ปี จึงเป็นเรื่องที่ต้องทำโดยเร่งด่วน

“การพัฒนาจะต้องเชื่อมโยงร้อยเรียงแหล่งน้ำพุร้อนในจังหวัดใกล้เคียงต่าง ๆ ทั้งระบบเป็นเส้นทางท่องเที่ยวสายน้ำพุร้อน หรือสายเวลเนส ในเบื้องต้นมอบหมายให้กรมการท่องเที่ยวออกแบบเป็น 7 เส้นทาง หรือ 7 Hot Springs or Wellness Routes เพื่อสร้างแบรนด์การตลาดสู่ตลาดสากล และกระจายการท่องเที่ยวสู่เมืองรอง”

ประชาชนนั่งแช่เท้า ในบ่อน้ำที่เชื่อมต่อทางน้ำมาจากบ่อน้ำพุร้อน
ที่มา : กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

พร้อมกันนี้ จะต้องสร้างองค์ความรู้และแนวทางการพัฒนาแหล่งน้ำพุร้อนธรรมชาติที่มีมาตรฐานสากล สอดคล้องกับการท่องเที่ยววิถีใหม่ (New Normal) ให้สามารถนำไปเป็นต้นแบบในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวน้ำพุร้อนธรรมชาติต่อไป

อีกทั้งส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถต่อยอดธุรกิจบริการสุขภาพที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำพุร้อนธรรมชาติ และพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ให้มีความรู้และทักษะในการให้บริการด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และสามารถพัฒนา ต่อยอด และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจากแหล่งท่องเที่ยวน้ำพุร้อนให้ได้

เปิดข้อมูลแหล่งน้ำพุร้อนของไทย

ข้อมูลจากกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อ้างอิงข้อมูลจากกรมทรัพยากรธรณี และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่า ประเทศไทยมีแหล่งน้ำพุร้อนจำนวน 118 แห่ง จำแนกตามภูมิภาคได้ดังนี้

  • ภาคเหนือ 71 แห่ง
  • ภาคใต้ 32 แห่ง
  • ภาคกลาง 12 แห่ง
  • ภาคตะวันออก 2 แห่ง

อีกทั้งสามารถแบ่งตามพื้นที่ ได้ดังนี้

  • แหล่งน้ำพุร้อนในพื้นที่ธรรมชาติสันโดษ 12 แห่ง
  • แหล่งน้ำพุร้อนในพื้นที่ธรรมชาติ 33 แห่ง
  • แหล่งน้ำพุร้อนในพื้นที่ชนบท 63 แห่ง
  • แหล่งน้ำพุร้อนในพื้นที่เมือง 10 แห่ง

การใช้ประโยชน์พื้นที่ มีทั้งการใช้ประโยชน์เพื่อเป็นพื้นที่สาธารณะ (แหล่งน้ำสาธารณะ) ของชุมชนหรือเมือง และการใช้ประโยชน์เพื่อการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ในแหล่งน้ำพุร้อนหลาย ๆ แห่งยังไม่มีการใช้ประโยชน์ เนื่องจากตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ยังคงมีความเป็นธรรมชาติสูง หรืออยู่ในพื้นที่ชนบทที่มีการเข้าถึงยาก

ส่วนแหล่งน้ำพุร้อนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เมืองนั้น ได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งแช่และอาบน้ำพุร้อนของเมือง รวมทั้งพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นจุดดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมเยือน

ดันพัฒนาแหล่งน้ำพุร้อน 5 จังหวัดอันดามัน

ก่อนหน้านี้ สโมสรน้ำพุร้อนไทย ขออนุมัติงบประมาณพิเศษจากคณะรัฐมนตรี จำนวน 270 ล้านบาท และได้เสนอให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นเจ้าภาพดำเนินการโครงการนำร่อง เพื่อตั้งเป้าให้แหล่งน้ำพุร้อนในไทยสามารถเปิดใช้บริการได้ ภายในปี 2568

โดยสโมสรน้ำพุร้อนไทย ได้เสนอแผนงานการศึกษาทำ Feasibility ออกแบบและก่อสร้างพัฒนาน้ำพุร้อนทั้ง 16 แห่ง ใน 5 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน ประกอบด้วย 1.ระนอง จำนวน 5 แห่ง (75 ล้านบาท) 2.พังงา จำนวน 2 แห่ง (30 ล้านบาท) 3.กระบี่ จำนวน 7 แห่ง (105 ล้านบาท) 4.ตรัง จำนวน 1 แห่ง (30 ล้านบาท) 5.สตูล จำนวน 1 แห่ง (30 ล้านบาท)

กระทรวงการท่องเที่ยวฯรายงานโดยอ้างอิงสมาคมน้ำพุร้อนไทย โดยระบุว่า แผนงานดังกล่าวจะช่วยยกระดับการให้บริการระดับ Local Users ปัจจุบันสู่ระดับบริการอาบน้ำพุร้อนสาธารณะมาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสากล (International Standard Public Bath)

บ่อน้ำพุร้อน ชื่อว่า "บ่อแม่"
ที่มา : กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

ขณะเดียวกัน จะช่วยตอบสนองเทรนด์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การสร้างและกระจายรายได้ในแหล่งท่องเที่ยว การยกระดับคุณภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวในแบรนด์ “Andaman Wellness Corridor”

เชื่อพัฒนาแหล่งน้ำพุร้อน บูสต์รายได้ท้องถิ่น

สโมสรน้ำพุร้อนไทยให้ความเห็นว่า การพัฒนาน้ำพุร้อนสู่ระดับ Public Bath และ Hot Spring Spa Destination จะช่วยสามารถดึงดูดเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการอาบน้ำพุร้อนที่ยกระดับมาตรฐาน ความสะอาดและความสะดวก โดยในบางโครงการอาจทำให้สามารถเก็บค่าบริการเข้าพื้นที่ได้สูงขึ้นถึง 10 เท่า

เช่น น้ำตกร้อน ภายใต้การกำกับดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบลคลองท่อมเหนือ อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ และสระมรกต ภายใต้การดูแลของเขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าเขาประ-บางคราม มีนักท่องเที่ยวไปเยือนวันละ 500-1,000 คน หากมีรายได้จากการเก็บค่าเข้าพื้นที่คนละ 200 บาท อาจทำให้มีรายได้ 50,000-200,000 บาทต่อวัน หรือ 18-72 ล้านบาทต่อปี

อีกทั้ง หากสามารถพัฒนายกระดับสู่จุดหมายปลายทางด้านสปาด้วยน้ำพุร้อน (Hot Spring Spa Destination) อาจทำให้นักท่องเที่ยวอยู่พักค้างคืนในพื้นที่หรือในอำเภอ สามารถสร้างรายได้จากที่พัก อาหาร ของฝาก การเดินทางท่องเที่ยวของทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ