AOT ปรับเพิ่มค่าบริการผู้โดยสารขาออก 30 บาทต่อคน ใน 6 สนามบินหลัก มีผลแล้ววันนี้

สนามบิน

AOT ปรับเพิ่มค่าบริการผู้โดยสารขาออก 30 บาทต่อคน ใน 6 สนามบินหลัก “สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-ภูเก็ต-หาดใหญ่-เชียงใหม่-เชียงราย” เผยผู้โดยสารระหว่างประเทศปรับจาก 700 บาทเป็น 730 บาท ผู้โดยสารภายในประเทศปรับจาก 100 บาทเป็น 130 บาท มีผลตั้งแต่วันนี้ (1 เมษายน 2567) เป็นต้นไป

วันที่ 1 เมษายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ AOT จะปรับขึ้นค่าบริการผู้โดยสารขาออก (Passenger Service Charges : PSC) สำหรับผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ โดยปรับจาก 700 บาทต่อคน เป็น 730 บาทต่อคน และค่า PSC สำหรับผู้โดยสารขาออกภายในประเทศ ปรับจาก 100 บาทต่อคน เป็น 130 บาทต่อคน โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ เป็นตามที่ AOT ได้นําระบบบริการผู้โดยสารขึ้นเครื่อง (Common Use Passenger Processing Systems: CUPPS) มาให้บริการ ณ ท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของ AOT ทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ แม่ฟ้าหลวง (เชียงราย) ภูเก็ต และหาดใหญ่ (สงขลา) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ และอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบาย ความรวดเร็ว และความปลอดภัยในการใช้บริการมากยิ่งขึ้น

โดยปัจจุบันการให้บริการระบบ CUPPS ประกอบด้วย 1. บริการตรวจบัตรโดยสารขึ้นเครื่อง (Common Use Terminal Equipment : CUTE) ที่เข้ามาช่วยยกระดับการให้บริการของเคาน์เตอร์เช็กอินเพื่อให้ผู้โดยสารได้รับการบริการบนมาตรฐานเดียวกันกับท่าอากาศยานระดับสากล 2. บริการเช็กอินด้วยตัวเองอัตโนมัติ (Common Use Self Service : CUSS) เพื่ออำนวยความสะดวกผู้โดยสารไม่ต้องรอแถวเช็กอิน อีกทั้งยังสามารถเช็กอินล่วงหน้าเป็นเวลา 6-12 ชั่วโมงก่อนเดินทาง (ตามเงื่อนไขของแต่ละสายการบิน)

และ 3. บริการรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (Common Use Bag Drop : CUBD) สำหรับให้ผู้โดยสารสามารถโหลดสัมภาระได้ด้วยตนเอง ซึ่งการนําระบบ CUPPS มาให้บริการส่งผลให้มีต้นทุนอัตราค่าบริการที่เพิ่มขึ้น

ด้าน ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) (AOT) กล่าวว่า รายได้จากการจัดเก็บค่า PSC นั้น กฎหมายได้กำหนดให้ผู้บริหารท่าอากาศยานนำไปใช้ในการพัฒนาท่าอากาศยาน จัดหาและปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ และการบำรุงรักษาด้านความปลอดภัยท่าอากาศยานให้เป็นไปตามมาตรฐานของท่าอากาศยานในระดับสากล

รวมทั้งการพัฒนาด้านเทคโนโลยีในท่าอากาศยานทุกแห่ง ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อผู้โดยสารให้ได้รับความปลอดภัย และความสะดวกสบายจากสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่จัดไว้รองรับ ทั้งนี้ การพัฒนาของท่าอากาศยานจะช่วยขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม