โรงแรมรุมค้าน “ขึ้นค่าแรง” จี้รัฐปรับเพิ่มงบประชุมสัมมนาอุ้ม

ธุรกิจโรงแรมโอดนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำโรงแรม 4 ดาวขึ้นไปใน 10 จังหวัดท่องเที่ยวไม่แฟร์ แจงหลังโควิดต้นทุน “ค่าไฟ-ค่าแก๊ส-ค่าแรง-วัตถุดิบ” พุ่งยกแผง ชี้โรงแรมส่วนใหญ่ยังไม่ฟื้น แถมแบกดอกเบี้ยหลังแอ่น ขณะที่อุตฯท่องเที่ยวกำลังเข้าสู่โลว์ซีซั่น เร่งนัดขอเข้าพบ รมว.แรงงานด่วนก่อนเรื่องเข้า ครม. พร้อมวอนรัฐบาลปรับระเบียบการคลัง เพิ่มงบฯอบรม-สัมมนาภาครัฐช่วยผู้ประกอบการชี้เรตปัจจุบันยังใช้อัตราเดิมเมื่อ 18 ปีที่แล้ว

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี อดีตนายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) และรองประธานกรรมการบริหารกลุ่มโรงแรม เดอะสุโกศล กรุงเทพฯ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ (ไตรภาคี) มีมติปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทสำหรับธุรกิจโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไป สำหรับ 10 จังหวัดท่องเที่ยวหลัก พบว่ามีเสียงสะท้อนในมุมไม่เห็นด้วยกับนโยบายปรับค่าจ้างรายเซ็กเตอร์ และการมุ่งเป้ามาที่ธุรกิจโรงแรมเป็นกลุ่มแรกนั้น ถือว่าเป็นนโยบายที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากยังมีธุรกิจอื่น ๆ ที่ทำรายได้ได้ดีกว่า

มาริสา สุโกศล หนุนภักดี
มาริสา สุโกศล หนุนภักดี

“ค่าไฟ-ค่าแรง” ขึ้นยกแผง

นางมาริสากล่าวว่า นโยบายดังกล่าวเป็นการเพิ่มภาระต้นทุนให้กับผู้ประกอบการอีกครั้ง โดยต้นทุนการดำเนินการของธุรกิจโรงแรมนั้น ปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูงมากเมื่อเทียบกับในช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 ทั้งต้นทุนค่าพลังงาน (ค่าไฟฟ้า ค่าแก๊ส ค่าน้ำ) ราคาวัตถุดิบอาหาร และค่าบุคลากร หากรัฐบาลมีนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นครั้งที่ 2 จะยิ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการค่อนข้างหนัก เนื่องจากค่าจ้างบุคลากรเป็นต้นทุนสูงสุดของธุรกิจโรงแรม

“แม้ภาพรวมของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยจะปรับตัวดีขึ้น มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน แต่เรายังมองว่าสถานการณ์ในวันนี้ก็ยังไม่เอื้อให้ปรับค่าแรงขึ้นต่ำ เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากโควิด และส่วนใหญ่ยังมีภาระเงินกู้และแบกรับดอกเบี้ยเป็นมูลค่ามหาศาล จากการที่ไม่สามารถทำธุรกิจมากกว่า 3 ปีในช่วงโควิด” นางมาริสากล่าว

สำหรับสมาคมโรงแรมประเมินว่า ที่ผ่านมามีโรงแรมที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้ มีกำไร และขยับราคาห้องพักได้สูงกว่าในช่วงก่อนโควิดได้ มีเพียงแค่ราว 10% ของตลาดรวมเท่านั้น ขณะที่ยังมีโรงแรมอีกส่วนหนึ่ง หรือไม่ต่ำกว่า 20% ที่ยังกลับมาทำธุรกิจไม่ได้ เพราะต้นทุนบริหารที่ค่อนข้างสูง ส่วนผู้ประกอบการกลุ่มที่กลับมาเปิดให้บริการได้แล้วนั้น ส่วนใหญ่ก็ยังไม่สามารถทำกำไรได้

ท่องเที่ยวกำลังเข้าสู่ “โลว์ซีซั่น”

นางมาริสากล่าวด้วยว่า ปัจจุบันต้นทุนโรงแรมสูงมาก ซึ่งแน่นอนว่าหากต้องแบกรับต้นทุนค่าแรงเพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับขึ้นค่าห้องพัก หรืออาจทำให้ผู้ประกอบการปรับลดจำนวนพนักงาน ซึ่งจะกระทบต่อการบริการ นางมาริสากล่าวและว่า นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 3 นี้ยังเป็นช่วงโลว์ซีซั่นของการท่องเที่ยวไทย ซึ่งไม่เหมาะที่รัฐบาลจะเพิ่มต้นทุนให้ผู้ประกอบการ

สอดรับกับนางสริญทิพญ ทัพมงคลทรัพย์ นายกสมาคมท่องเที่ยวเกาะเสม็ด จ.ระยอง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท เนื่องจากภาพรวมการท่องเที่ยวปัจจุบันเพิ่งเริ่มฟื้นตัว ประกอบกับต้นทุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทั้งค่าไฟ ค่าวัตถุดิบทุกอย่างขึ้นราคาไปหมดแล้ว และมองว่าก่อนขึ้นค่าแรงรัฐบาลควรสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการด้วย

ธเนศ ศุภรสหัสรังสี
ธเนศ ศุภรสหัสรังสี

ใช้เกณฑ์อะไรวัด “ดาว”

นายธเนศ ศุภรสหัสรังสี นายกสมาคมสมาพันธ์ท่องเที่ยวชลบุรี เสริมว่า รูปแบบการจ้างงานของธุรกิจโรงแรมต่างจากธุรกิจอื่น กล่าวคือ ค่าจ้างพนักงานจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ เงินเดือนประจำและค่าเซอร์วิสชาร์จ (ขึ้นกับรายได้) ปัจจุบันหากนำเซอร์วิสชาร์จมารวมกับเงินเดือนพนักงานโรงแรม ส่วนใหญ่จะเกินวันละ 400 บาทไปหมดแล้ว

“ในธุรกิจโรงแรมเงินเดือนประจำอาจไม่ได้สูงมาก แต่จะมีค่าเซอร์วิสชาร์จที่บางโรงแรมจ่ายกันได้ 30,000-40,000 บาทต่อเดือน ตามที่เป็นข่าวฮือฮาในพื้นที่ภูเก็ต แต่ค่าจ้างตามกฎหมายไม่ได้รวมเซอร์วิสชาร์จ ประเด็นที่เกิดขึ้นนี้อาจเป็นเพราะคนกำหนดนโยบายอาจไม่เข้าใจธรรมชาติของธุรกิจ” นายธเนศกล่าวและว่า

นอกจากนี้ การกำหนดว่าต้องเป็นโรงแรม 4 ดาวขึ้นไปยิ่งเป็นอะไรที่คลุมเครือ การปฏิบัติตามก็ลำบาก เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีมูลนิธิมาตรฐานโรงแรมไทยเพียงองค์กรเดียวที่ทำเรื่องสตาร์เรตติ้ง หรือกำหนดระดับดาว แต่ในทางปฏิบัติโรงแรมส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าสู่ระบบสตาร์เรตติ้ง แต่เลือกกำหนดมาตรฐานของตัวเอง แล้วรัฐบาลจะใช้เกณฑ์อะไรวัดว่าโรงแรมไหนกี่ดาว โรงแรมไหนบ้างที่ต้องปฏิบัติตาม

“ที่สำคัญระบบการขายห้องพักโรงแรมในบางตลาด เช่น ตลาดยุโรป สหราชอาณาจักร ส่วนใหญ่จะทำสัญญาขายเอเย่นต์ล่วงหน้า 1-2 ปี การขึ้นค่าแรงทำให้โรงแรมได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะต้องแบกต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ไม่สามารถปรับราคาขายล่วงหน้าได้” นายธเนศกล่าว

เตรียมทำหนังสือร้อง “เศรษฐา”

ดร.สิทธิพงษ์ สิทธิภัทรประภา นายกสมาคมโรงแรมหาดใหญ่สงขลา กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทางสมาคมโรงแรมหาดใหญ่ฯ จะทำหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพื่อชี้แจงให้ทราบถึงผลกระทบของโรงแรม 4 ดาวในอำเภอหาดใหญ่ ที่ถูกนำไปรวมเป็น 10 จังหวัดท่องเที่ยว ทั้งที่อัตราค่าห้องพักแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน โดยโรงแรมในอำเภอหาดใหญ่ สูงสุดไม่เกิน 2,000 บาท

ขณะที่จังหวัดท่องเที่ยวอื่น ๆ ราคาหลายพันบาท บางแห่งหลักหมื่นบาท แต่มาปรับอัตราค่าแรงที่เท่ากัน จึงเป็นการสร้างความไม่เป็นธรรมทั้งนี้ การปรับอัตราค่าแรงควรเป็นไปตามที่คณะอนุกรรมการพิจารณาค่าแรงจังหวัดสงขลา มีนายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ ซึ่งประกอบด้วยไตรภาคี 3 ฝ่าย ที่มีมติให้ปรับค่าแรงในอัตราที่สอดคล้องกับบริบทของอำเภอหาดใหญ่

“หากมีการปรับอัตราค่าแรงโรงแรม ทางโรงแรมก็จะต้องมาปรับราคาค่าห้องพัก และบริการต่าง ๆ จะส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวทันที เพราะจุดขายสำคัญของอำเภอหาดใหญ่ คือ อัตราค่าครองชีพต่ำ ค่าห้องพักต่ำ จึงได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวไทย และนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ เช่น ประเทศมาเลเซีย” ดร.สิทธิพงษ์กล่าว

เช่นเดียวกับนายศิวัตน์ สุวรรณวงศ์ อุปนายกประจำพื้นที่ จ.สงขลา สมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ กล่าวว่า อัตราค่าห้องพักโรงแรมในอำเภอหาดใหญ่ เฉลี่ยประมาณ 1,500 บาทต่อคืน ถือว่าสูงมากแล้ว ไม่สามารถเทียบกับโรงแรมในภูเก็ต เชียงใหม่ และกรุงเทพฯได้ แต่การปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำจาก 345 บาท เป็น 400 บาท เท่ากับปรับขึ้น 55 บาท หรือปรับขึ้นประมาณ 10% เท่ากับปรับขึ้นเฉลี่ยกว่า 1,600 บาทต่อเดือน

“โรงแรมมีพนักงานจำนวนมาก ทั้งระดับปฏิบัติการ หัวหน้างานหลายระดับ และศักยภาพของโรงแรมแต่ละแห่งจะแตกต่างกัน ขณะที่โรงแรมในอำเภอหาดใหญ่แต่ละแห่งมีรายได้ต่อหน่วยยังไม่ดีนัก ขณะเดียวกันจะกระทบต่อโรงแรมขนาดเล็ก โรงแรมบูติค โรงแรม 20 ห้อง และโฮสเทล แรงงานจะเกิดการเปรียบเทียบและจะไหลออกสู่โรงแรมขนาดใหญ่ที่มีอัตราค่าจ้างที่สูงกว่า” นายศิวัตน์กล่าว

เทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์
เทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์

พบ รมว.แรงงานก่อนเข้า ครม.

นายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) (เพิ่งรับตำแหน่งเมื่อ 28 มีนาคม 2567) และกรรมการบริหาร เครือแกรนด์ ไดมอนด์ และโรงแรมเดอะภัทรา พระราม 9 กล่าวว่า สมาคมโรงแรมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับนโยบายการปรับขึ้นค่าแรง 400 บาทสำหรับโรงแรม 4 ดาวขึ้นไปที่เผยแพร่ออกมา และมีแผนจะนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 2 เมษายนนี้ เพื่อให้มีผลทันทีในวันที่ 13 เมษายน 2567 นี้

โดยมองว่าการปรับขึ้นค่าแรงต้องตอบให้ได้ว่าอัตราที่ปรับขึ้นนั้น สอดรับและเหมาะสมกับค่าครองชีพอย่างไร และเป็นไปตามหลักเศรษฐศาสตร์ สำหรับพนักงานกลุ่มโรงแรมนั้น เชื่อว่าไม่ได้เดือดร้อน เพราะมีค่าเซอร์วิสชาร์จสมทบอีกส่วนหนึ่ง

นายเทียนประสิทธิ์กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ทางสมาคมมีแผนขอนัดคิวเข้าพบนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานโดยเร็ว เพื่อให้ข้อมูลปัญหาและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากนโยบายดังกล่าว ก่อนที่จะมีการนำรายละเอียดดังกล่าวเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 2 เมษายนนี้

“ระหว่างรอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ทางสมาคมก็จะรวบรวมประเด็นปัญหาและผลกระทบจากกรรมการในแต่ละภูมิภาค โดยเฉพาะใน 10 จังหวัดท่องเที่ยวหลักที่อยู่ในแผนปรับขึ้น และหากเป็นไปได้เราก็อยากจะคุยกับคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ หรือไตรภาคีด้วย เพื่อสอบถามว่าหลักการและเหตุผลในการปรับขึ้นด้วย” นายเทียนประสิทธิ์กล่าว

แรงงานไหลสู่พื้นที่ค่าแรงสูงแน่

นายเทียนประสิทธิ์กล่าวอีกว่า ถ้าประกาศปรับขึ้นค่าแรงแบบไม่เท่าเทียมตามที่เผยแพร่ออกมา เชื่อได้ว่าจะเกิดการไหลของแรงงานจากพื้นที่ที่มีฐานค่าจ้างต่ำไปยังพื้นที่ที่มีฐานค่าจ้างขั้นต่ำสูงกว่าแน่นอน ซึ่งแน่นอนจะยิ่งทำให้ภาคธุรกิจโรงแรมประสบปัญหาแรงงานขาดแคลนหนักขึ้นไปอีก

ปัจจุบันตลาดแรงงานไม่นิ่งเหมือนช่วงก่อนโควิด เพราะตลาดเป็นของลูกจ้าง ทุกที่ขาดแคลน ลูกจ้างก็จะไปหาที่ที่ได้ค่าจ้างและค่าเซอร์วิสชาร์จมากกว่า แน่นอนโรงแรมขนาดเล็ก หรือโรงแรม 3 ดาวลงมาก็จะยิ่งเจอปัญหาขาดแรงงานที่รุนแรงขึ้น ขณะที่ประเทศไทยยังมีกฎระเบียบเรื่องการนำเข้าแรงงานต่างชาติที่จำกัด

วอนรัฐเพิ่มงบฯอบรม-สัมมนา

นายเทียนประสิทธิ์กล่าวอีกว่า หลังมีกระแสข่าวออกมา สมาคมได้รับเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการจำนวนมากว่า นโยบายดังกล่าวทำให้ต้นทุนค่าบุคลากรเพิ่มขึ้นเฉลี่ยที่ประมาณ 10-20% ดังนั้นในเบื้องต้นทางสมาคมอยากขอให้รัฐบาลพิจารณาปรับระเบียบ และเพิ่มค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน การจัดประชุมสัมมนาของหน่วยงานภาครัฐเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ

ทั้งนี้ เนื่องจากอัตราที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นอัตราเดิมเมื่อ 18 ปีที่แล้ว ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับต้นทุนต่าง ๆ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 18 ปีที่ผ่านมา

“ในภูมิภาคของเรามาตรฐานโรงแรมของประเทศไทยถือว่าอยู่ในอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์ แต่ราคาห้องพักเฉลี่ยของเรายังต่ำกว่าสิงคโปร์กว่า 1 เท่าตัว ซึ่งเราอยากให้ภาครัฐปรับขึ้นค่าที่พัก ค่าอาหาร สำหรับงานประชุมภาครัฐ เพื่อเป็นการช่วยผู้ประกอบการทางหนึ่งด้วย” นายเทียนประสิทธิ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ที่ผ่านมาสมาคมโรงแรมได้ทำหนังสือถึงภาครัฐเพื่อขอปรับขึ้นงบฯสำหรับงานการฝึกอบรม ประชุมสัมมนาไปหลายครั้ง แต่ไม่ได้รับการตอบรับ โดยระเบียบปัจจุบัน การฝึกอบรมข้าราชการประเภท ก ระบุว่า กรณีมีอาหารครบทุกมื้อ (เช้า+กลางวัน+เย็น) จำนวน 1,000 บาท กรณีจัดไม่ครบทุกมื้อ (กลางวัน+2 เบรก) จำนวน 700 บาท

ส่วนการฝึกอบรมข้าราชการประเภท ข และฝึกอบรมบุคลากรภายนอก ระบุว่า กรณีอาหารครบทุกมื้อ (เช้า+กลางวัน+เย็น) จำนวน 800 บาท กรณีจัดไม่ครบทุกมื้อ (กลางวัน+2 เบรก) จำนวน 600 บาท และในส่วนของห้องพักนั้น การฝึกอบรมข้าราชการประเภท ก ระบุว่า กรณีห้องพักคนเดียว 2,000 บาท กรณีห้องพักคู่ 1,100 บาท การฝึกอบรมข้าราชการประเภท ข และฝึกอบรมบุคคลภายนอก ระบุว่า กรณีห้องพักคนเดียว 1,200 บาท กรณีห้องพักคู่ 750 บาท เป็นต้น