สทท. ต่อยอด Ignite Thailand ใช้ Tourism Hub เพิ่มมูลค่าภาคการท่องเที่ยว

สทท. ต่อยอด Ignite Thailand เสนอยุทธศาสตร์ใช้ Tourism Hub เชื่อมโยง 7 เสาหลัก เพิ่มมูลค่า กระจายรายได้อย่างสมดุล หนุน Digital Wallet เพื่อการท่องเที่ยว

วันที่ 11 เมษายน 2567 นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวถึงความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวไตรมาส 1/2567 พบว่า อยู่ที่ระดับ 81 เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4/2566 ที่ระดับ 77 และไตรมาส 1/2566 ที่ 74 สะท้อนสถานการณ์ท่องเที่ยว ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติมาก แต่สูงกว่าในรอบ 4 ปี โดยอันดับ 1 มาจากสถานการณ์ท่องเที่ยว รองลงมาเป็นธุรกิจที่พักแรมและบริษัทนำเที่ยว ส่วนร้านขายของฝากของที่ระลึกและสถานบันเทิงมีความเชื่อมั่นต่ำกว่าธุรกิจประเภทอื่น

สำหรับอัตราการเข้าพักในธุรกิจพักแรมในภาพรวมร้อยละ 60 น้อยกว่าไตรมาส 4/2566 โดยภาคใต้มีอัตราการเข้าพักสูงสุดที่ร้อยละ 72 รองลงมาเป็นภาคตะวันออกร้อยละ 64 ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอัตราการเข้าพักน้อยที่สุด อยู่ที่ร้อยละ 51 ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นมีการคาดการณ์สถานการณ์การท่องเที่ยวในไตรมาส 2/2567 จากผู้ประกอบการทั่วประเทศอยู่ที่ระดับ 83 สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของสถานการณ์ท่องเที่ยวไตรมาสนี้จากช่วงเทศกาลสงกรานต์

“ไตรมาส 1/2567 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 9.37 ล้านคน เพิ่มขึ้น 44% จากปีที่แล้ว ไทยเที่ยวไทยมากกว่า 50 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้รวมประมาณ 6.5 แสนล้านบาท คาดว่าทั้งปีจะมีนักท่องเที่ยวประมาณ 34-36 ล้านคน รายได้ 2.5 ล้านล้านบาท ขณะที่ในเชิง Demand ยังมีโอกาส ที่จะเพิ่มรายได้เป็น 3.0-3.5 ล้านล้านบาท ซึ่งวันนี้เรามีความท้าทายเร่งด่วน 4 ข้อ คือ PM 2.5, ทักษะคนท่องเที่ยว, ค่าตั๋วเครื่องบินแพง และการแข่งขันในช่วง Green Season ไตรมาส 2-3 ที่หลายประเทศอัดแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง” นายชำนาญกล่าว

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์

นายชำนาญกล่าวเพิ่มเติมว่า สทท. จึงมีการเสนอต่อรัฐบาลว่าอาจจะออกแคมเปญ “เที่ยวคนละครึ่ง” 1 แสนล้านบาท ซึ่งหากทำได้จะสามารถเพิ่มรายได้จากไทยเที่ยวไทยไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท อาจส่งผลให้เป้าหมายของการท่องเที่ยวในประเทศไทย อยู่ที่ 3.5 ล้านล้านบาท เป็นไปได้มากยิ่งขึ้น รวมถึงสามารถกำหนดเป้าหมายให้กระจายรายได้ไปยังเมืองทองได้อีกด้วย

“เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย IGNITE Thailand ของรัฐบาล ต้องสร้างความท้าทายในเรื่องของการเพิ่มทักษะบุคลากรด้านการท่องเที่ยว Upskill/ReSkill ที่จำเป็นต้องใช้ในอนาคต เพื่อการแข่งขันที่ยั่งยืน เช่น พัฒนาฝืมือสำหรับเชฟ ออกมาตรการรองรับมาตรฐานสุขาภิบาลอาหารให้นักท่องเที่ยวอย่างชัดเจน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการยกระดับทักษะแรงงานผ่านมาตรการต่าง ๆ รวมไปถึงยกระดับทักษะแรงงานภาคการท่องเที่ยวโดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะการสื่อสารกับลูกค้าต่างชาติ จัดการอบรมและมอบโอกาสให้กับมัคคุเทศก์ ได้ชูด้านภาษา เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับบุคลากรมากขึ้น ตลอดจนเร่งแก้ไขปัญหาในเรื่องของฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM 2.5 โดยมีการรณรงค์อย่างจริงจัง เพื่อกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวมากขึ้น” นายชำนาญกล่าวเสริม

อย่างไรก็ตาม นายชำนาญกล่าวปิดท้ายว่า ตนนั้นเห็นด้วยกับนโยบาย Ignite Thailand ใช้ Tourism Hub ที่จะเป็นแกนกลางเชื่อมโยงกับภาคการท่องเที่ยว เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และกระจายรายได้สู่ชุมชนมากยิ่งขึ้น ซึ่งตนมั่นใจว่าในอาเซียนประเทศไทยไม่เป็นสองรองใครด้านการท่องเที่ยวอย่างแน่นอน

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์