ททท.เปิดแผนสื่อสารปี”62 ชูท่องเที่ยวเชิง “กีฬา-อาหาร”

นอกเหนือจากโจทย์สร้างการเติบโตด้านรายได้และกระจายนักท่องเที่ยวไปยังเมืองรองแล้ว การสร้างภาพจำใหม่ ๆ ให้แก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยถือเป็นหนึ่งในโจทย์สำคัญที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้ความสำคัญ

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสร่วมสัมภาษณ์ “ธเนศวร์ เพชรสุวรรณ” รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด ททท. เกี่ยวกับทิศทางแผนสื่อสารการตลาดสำหรับปี 2562 เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพให้เข้ามาจับจ่ายในไทยอย่างต่อเนื่องและหลากหลาย

ย้ำเดสติเนชั่นออฟสปอร์ต

“ธเนศวร์” เริ่มต้นเล่าให้ฟังว่า โจทย์ของฝ่ายสื่อสารการตลาด ททท.ในปี 2562 คือต้องไปเซต “มู้ด แอนด์ โทน” ของภาคการท่องเที่ยวไทยให้ชัดว่ามีภาพจำใหม่ ๆ ใดเกิดขึ้นบ้าง เพื่อโปรโมตภาพสินค้าและบริการท่องเที่ยวไทย 5 หมวด ทั้งการท่องเที่ยวเชิงอาหาร วัฒนธรรม วิถีชีวิต ศิลปหัตถกรรม และการท่องเที่ยวเชิงกีฬา ได้อย่างหลากหลายและสอดรับกับทิศทางการสื่อสารตลาดต่างประเทศ ซึ่งยังคงใช้แคมเปญ “โอเพ่น ทู เดอะ นิว เชดส์” (Open to the New Shades) ภายใต้แบรนด์ “อะเมซิ่ง ไทยแลนด์” เหมือนเดิม

“ตัวที่แรงจริง ๆ ในปีหน้ามีอยู่ 2 อย่าง คือ การท่องเที่ยวเชิงกีฬา หรือสปอร์ตทัวริซึ่ม กับการท่องเที่ยวเชิงอาหาร หรือแกสโตรโนมีทัวริซึ่ม เพราะสินค้าท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเป็นตัวที่นักท่องเที่ยวรู้อยู่แล้วว่าประเทศไทยเราแข็งแรงในเรื่องนี้”

โดยภาพของการท่องเที่ยวเชิงกีฬานั้น “ธเนศวร์” บอกว่า ประเทศไทยจะมีการแข่งขันรถจักรยานยนต์ชิงแชมป์โลก 2018 หรือ “โมโตจีพี” จัดขึ้นที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จังหวัดบุรีรัมย์ ระหว่างวันที่ 5-7 ตุลาคมนี้ ซึ่งจะเป็นตัวคิกออฟสำคัญที่จะช่วยสร้างการรับรู้และภาพจำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเห็นว่า ไทยเป็นจุดหมายด้านการท่องเที่ยวเชิงกีฬา หรือ sport destination แห่งใหม่ของโลก

มุ่งขาย 4 กีฬายอดฮิต

ทั้งนี้ ททท.ได้มองประเภทกีฬา 4 ประเภทที่สามารถนำมาส่งเสริมและต่อยอดด้านการท่องเที่ยวได้ อย่างแรกคือ มวยไทย เนื่องจากประเทศไทยมีชื่อเสียงเรื่องของมวยไทยอยู่แล้ว สามารถนำไปต่อยอดได้อีกมาก ทั้งเวทีการแข่งขันภายในประเทศและต่างประเทศ

อย่างที่สอง คือ การแข่งขันวิ่งมาราธอน ซึ่งถือเป็นเทรนด์ใหม่ของโลก คนส่วนใหญ่สนใจการแข่งวิ่งมาราธอน ประกอบกับกระแสคนรักสุขภาพมาแรง ทำให้เกิดการจัดอีเวนต์วิ่งแข่งมาราธอนจำนวนมาก โดยที่ผ่านมาประเทศไทยเองก็ได้จัดงานวิ่งรายการใหญ่ ๆ อย่าง กรุงเทพมาราธอน ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้สนใจเข้าร่วมงานที่ดี

นอกจากมวยไทยและแข่งวิ่งมาราธอนแล้ว อีกหนึ่งกีฬาที่ได้รับความนิยม คือ การปั่นจักรยาน โดยล่าสุดประเทศไทยได้สิทธิ์จัดแข่งขันจักรยาน รายการ “เลแทป ไทยแลนด์ บาย เลอ ตูร์เดอฟร็องส์” 3 ปี เรียกว่าเป็นมินิตูร์เดอฟร็องส์ ในช่วงปลายปีนี้ ที่จังหวัดพังงา

และกีฬาสุดท้าย คือ กอล์ฟ เป็นกีฬาที่ ททท.โปรโมตมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ด้วยศักยภาพของสนามกอล์ฟในไทยเองสามารถจัดรายการแข่งขันใหญ่ ๆ

ได้ ประกอบกับนักกอล์ฟมืออาชีพของไทยหลายคนมีชื่อเสียงระดับโลก โดยเฉพาะ “โปรเม-เอรียา จุฑานุกาล” ซึ่งก่อนหน้านี้ ททท.ได้ตั้งให้เป็นทูตการท่องเที่ยวเชิงกีฬากอล์ฟไปแล้ว

“ททท.มีแผนหารือกับการกีฬาแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการพิจารณาโปรแกรมการจัดแข่งขันกีฬาระดับชาติ รวมถึงการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติรายการใหญ่ของโลกว่ามีแผนต่อเรื่องนี้อย่างไร เพื่อที่ ททท.จะได้นำอีเวนต์การจัดแข่งขันเหล่านั้นมาต่อยอด และทำแผนการตลาดดึงดูดนักท่องเที่ยวต่อไป”

โหมอาหารริมทางยันดาวมิชลิน

“ธเนศวร์” ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงการโปรโมตท่องเที่ยวเชิงอาหารว่า ถือเป็นงานหลักที่ ททท.ต้องส่งเสริมเพื่อผลักดันภาพการท่องเที่ยวด้านนี้ให้เป็นที่จดจำของนักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ภาพของอาหารริมทาง (สตรีตฟู้ด) ไปจนถึงร้านอาหารที่ผ่านมาตรฐานของมิชลินไกด์ หลังจากได้ร่วมมือกับทางมิชลินเปิดตัวคู่มือแนะนำร้านอาหาร มิชลินไกด์ฉบับกรุงเทพฯไปเมื่อปลายปี 2560 และยังมีสัญญากับมิชลินอีก 4 ปี

โดยล่าสุดทางมิชลินได้ส่งคณะผู้ตรวจสอบอาหาร (อินสเป็กเตอร์) ลงพื้นที่ร้านอาหารในภูเก็ตและพังงาแล้ว เพื่อเตรียมเปิดตัวมิชลินไกด์ ฉบับที่ 2 ในช่วงปลายปีนี้ ส่วนในปีต่อ ๆ ไป อาจขึ้นไปตรวจสอบร้านอาหารอร่อยคุณภาพดีในภาคเหนือเพิ่มเติม

อีกสิ่งสำคัญที่ ททท.จะทำคือการโปรโมต “อาหารถิ่น” เพื่อผลักดันและส่งเสริมอาหารในแบบฉบับท้องถิ่นแท้ ๆ ทั่วประเทศให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัส ภายใต้แคมเปญ “อะเมซิ่ง ไทย เทส” (Amazing Thai Taste) หลังจาก ททท.ได้จัดอีเวนต์ใหญ่ด้านอาหารใจกลางสยามสแควร์อย่างงาน “อะเมซิ่ง ไทย เทส เฟสติวัล” ไปเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พบว่าได้รับความสนใจจากคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมาก นอกจากนี้ยังเตรียมแผนส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่สนใจอาหารไทย เดินทางเข้ามาเรียนทำอาหารไทยที่สถาบันสอนอาหารซึ่งมีอยู่หลายแห่งในประเทศอีกด้วย

สื่อสารแบบ “สตอรี่มาร์เก็ตติ้ง”

ส่วนแคมเปญสื่อสารหลักของตลาดไทยเที่ยวไทยในปีหน้า ก็ยังเป็น “อะเมซิ่ง ไทย เท่” ให้คนไทยออกไปเที่ยวแบบเท่ ๆ โดยเราจะเชิญชวนให้สำนักงานทั้ง 40 แห่งในประเทศ ส่งกิจกรรมท่องเที่ยวแบบเท่ ๆ และ “โลคอลฮีโร่” มาให้เราดูว่า โลคอลฮีโร่ที่จะกลายเป็น “ไอดอล” ของแต่ละท้องถิ่นมีใครบ้าง เพราะการขับเคลื่อนแผนส่งเสริมตลาดในประเทศ จะไม่ใช่แค่เน้นภาพความสวยงามของแหล่งท่องเที่ยวอย่างเดียว แต่จะเน้นเรื่องของ “สตอรี่มาร์เก็ตติ้ง” บอกเล่าเรื่องราวเท่ ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น เรื่องราวของคุณลุงจอมพลังที่ภูกระดึง จังหวัดเลย วัย 70 ปี แต่ยังรับจ้างเป็นลูกหาบขนของขึ้นภูกระดึง หรือผู้คุมนักโทษที่เรือนจำในจังหวัดแม่ฮ่องสอน กลางวันทำงานเป็นผู้คุม แต่ตอนเย็นมาเล่นกีตาร์เปิดหมวกที่ตลาดเปิดท้ายขายของ หรือนายธนาคารปูที่จังหวัดสตูล

นี่คือส่วนหนึ่งของ “สตอรี่” ที่ทางสำนักงาน ททท.ทั่วประเทศจะส่งเข้ามา เพื่อนำไปพัฒนาเป็นเรื่องราวสื่อสารถึงใจนักท่องเที่ยวตลาดภายในประเทศต่อไป