“บินไทย” แจงแผนซื้อเครื่องบินใหม่ “ที่ปรึกษาอยู่ระหว่างหาเงินทุน”

จากตัวเลข “ขาดทุน” อย่างต่อเนื่องของ บมจ.การบินไทย ในห้วงเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมา บวกกับบริษัทยังอยู่ในแผนปฏิรูปองค์กรระยะที่ 3 คือ การเติบโตอย่างยั่งยืน ส่งผลให้องค์กรถูกจับตามองในทุกย่างก้าว

โดยส่วนใหญ่ยังมองว่า ณ วันนี้ องค์กร “การบินไทย” ควรมุ่งโฟกัสไปที่ “ผลประกอบการ” เป็นหลัก กล่าวคือ จะทำอย่างไรให้องค์กรมีผลประกอบการที่เป็น “กำไร” ไม่ใช่ “ขาดทุน” อย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ ที่สำคัญยังเป็นองค์กรที่อยู่ในสถานะที่ไม่ควรลงทุนเพิ่มอีกด้วย

ดังนั้น ทันทีที่ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงคมนาคมเห็นชอบแผนการจัดซื้อเครื่องบินใหม่ของ “การบินไทย” จำนวน 23 ลำ วงเงินมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท พร้อมระบุว่าจะเสนอเข้าบอร์ดสำนักคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) พิจารณาอนุมัติโครงการในเดือนสิงหาคมนี้ จากนั้น จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติในขั้นตอนสุดท้ายต่อไปในเดือนกันยายนนี้

จากเมสเสจดังกล่าวนี้ ทำเอาหลายฝ่ายจับตามอง และลุกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ นานา พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า งบประมาณดังกล่าวมีที่มาที่ไปอย่างไร รัฐบาลควักกระเป๋าจ่ายให้หรือไม่ ซึ่งหากเป็นงบประมาณรัฐเม็ดเงินดังกล่าวนี้ก็ล้วนเป็นเงินภาษีที่ประชาชนคนทำมาหากินจ่ายไปทั้งนั้น ซึ่งไม่เหมาะสม เนื่องจาก บลจ.การบินไทยดำเนินธุรกิจคล้ายเอกชน ขณะเดียวกัน ยิ่งสถานะในเวลาที่ยังแบกตัวเลขขาดทุน และขาดทุนสะสมอยู่หลายหมื่นล้านบาทจะหาเงินทุนที่ไหนมาซื้อเอง

“อุษณีย์ แสงสิงแก้ว” รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จึงต้องออกมาชี้แจงทันทีว่า โครงการจัดหาเครื่องบินของ บลจ.การบินไทย นั้น เป็นแผนการจัดหาเครื่องบินปี 2561-2565 จำนวน 23 ลำ มูลค่าราว 1 แสนล้านบาท ตามที่เป็นข่าวไปแล้วนั้น

ยืนยันว่า “การบินไทย” ไม่ได้ใช้งบประมาณของภาครัฐ ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชนมาใช้ในการจัดซื้อเครื่องบิน และที่ผ่านมาก็ได้ดำเนินธุรกิจโดยไม่ได้พึ่งพางบประมาณของภาครัฐ และรัฐบาลก็มิได้มีการจัดสรรงบประมาณมาให้แต่อย่างใด

พร้อมบอกว่า การจัดหาเงินทุนของโครงการจัดหาเครื่องบินดังกล่าวนี้ ทางการบินไทยอยู่ระหว่างการหารือกับที่ปรึกษาด้านการเงิน เพื่อช่วยพิจารณาการจัดหาแหล่งเงินทุนที่เหมาะสมกับสถานะของบริษัท

“โดยโครงการดังกล่าวนี้ เป็นการจัดหาเพื่อทดแทนเครื่องบินเก่าที่มีอายุใช้งานมากกว่า 20 ปี และจะต้องปลดระวางตามแผนปฏิรูปองค์กร ซึ่งแผนดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากกระทรวงคมนาคมแล้ว และจะนำเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป” อุษณีย์ระบุ

ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) อีกรายหนึ่งที่ระบุว่า แผนการจัดซื้อเครื่องบินใหม่ของ “การบินไทย” จำนวน 23 ลำดังกล่าวนี้ เป็นแผนเดิมตามกรอบลงทุนที่เป็นการลงทุนสำหรับจัดซื้อเครื่องบิน ในช่วงเวลา 5 ปี (2561-2565) ซึ่งทั้งหมดเป็นการซื้อเพื่อทดแทนเครื่องเก่าที่มีอายุเกิน 20 ปี และต้องปลดระวางเท่านั้น ยังไม่ได้จัดสรรเผื่อสำหรับการเพิ่มเส้นทางบินใหม่ หรือการเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางที่ได้รับความนิยม

ดังนั้น หลังจากเพิ่มเครื่องบินใหม่จำนวน 23 ลำ ตามแผนจัดซื้อแล้ว การบินไทยจะยังคงมีจำนวนเครื่องบินและจำนวนการผลิตผู้โดยสาร (ที่นั่ง) ใกล้เคียงกับที่มีอยู่ในปัจจุบัน คือ ประมาณ 100-105 ลำ

“เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2560 ที่ผ่านมา บอร์ดการบินไทยได้อนุมัติแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี เรื่องการให้จัดหาเครื่องบินใหม่ทดแทนเครื่องเก่า จำนวน 28 ลำ พร้อมทั้งสั่งให้คณะทำงานไปศึกษารายละเอียด ทั้งข้อเสนอผู้ผลิตและผู้ให้เช่าเครื่องบิน แผนการเงิน รายได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งล่าสุดแผนนี้ได้ปรับแผนการซื้อจาก 28 ลำ เหลือ 23 ลำในที่สุด”

พร้อมทั้งระบุว่า การจัดซื้อเครื่องบินลอตใหม่นี้ใช้ระเบียบจัดซื้อเครื่องบินปี 2555 ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาเห็นชอบของคณะกรรมการหลายชุดก่อนเสนอให้บอร์ดการบินไทยเห็นชอบ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส

อย่างไรก็ตาม ตามแผนข้างต้นนี้คาดว่าจะทยอยรับมอบเครื่องบินลำแรกได้ในช่วงประมาณต้นปี 2563