ทอท.โชว์ตัวเลขปี”61 รูตบิน “ระหว่างประเทศ” โตทุกสนามบิน

แม้ว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การปรับตัวลดลงของกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนไปบ้างในช่วงเดือนกรกฎาคม สิงหาคม และกันยายนที่ผ่านมา แต่ภาพรวมในโค้งแรกของปีนั้น ภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทยมีอัตราการเติบโตที่พุ่งสูงขึ้นอย่างชัดเจน

ล่าสุด ท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท.ผู้บริหารท่าอากาศยานหลัก 6 แห่งของไทย ได้สรุปสถิติตัวเลขการดำเนินงานด้านการจราจรทางอากาศของปีงบประมาณ 2561 (ตุลาคม 2560-30 กันยายน 2561) ทั้งจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการและจำนวนเที่ยวบินทั้งหมดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ผู้โดยสาร 6 สนามบินเพิ่ม 8%

“นิตินัย ศิริสมรรถการ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท.ระบุว่า ณ วันที่ 19 ตุลาคม 2561 ผลการดำเนินการด้านปริมาณการจราจรทางอากาศในปีงบประมาณ 2561 ของท่าอากาศยาน 6 แห่ง ของ ทอท. ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.), ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.), ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.), ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.), ท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) และท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) มีผู้โดยสารใช้บริการทั้งสิ้น 139.52 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยในจำนวนนี้แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 80.49 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.0 และผู้โดยสารภายในประเทศ 59.03 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2

และมีจำนวนเที่ยวบินทั้งสิ้น 875,000 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 462,230 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3 และเที่ยวบินภายในประเทศ 412,770 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1

“สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง” ทะลัก

ทั้งนี้ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง มีจำนวนผู้โดยสารและเที่ยวบินใช้บริการมากที่สุดตามลำดับ โดยที่ท่าอากาศสุวรรณภูมิ มีผู้โดยสาร 62.81 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 แบ่งเป็น ผู้โดยสารระหว่างประเทศ 51.15 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 และผู้โดยสารภายในประเทศ 11.66 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 และมีเที่ยวบิน 364,000 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 แบ่งเป็น เที่ยวบินระหว่างประเทศ 277,900 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 และเที่ยวบินภายในประเทศ 86,100 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3

ท่าอากาศยานดอนเมือง มีผู้โดยสาร 40.56 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 15.83 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.2 และผู้โดยสารภายในประเทศ 24.73 ล้านคน

เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 และมีเที่ยวบิน 270,000 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 แบ่งเป็น เที่ยวบินระหว่างประเทศ 96,160 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 และเที่ยวบินภายในประเทศ 173,840 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1

ภูเก็ต-เชียงใหม่-เชียงรายพุ่ง

สำหรับท่าอากาศยานอีก 3 แห่ง คือ ท่าอากาศยานภูเก็ต, เชียงใหม่ และแม่ฟ้าหลวง เชียงราย พบว่า มีปริมาณการจราจรทางอากาศเติบโตเช่นกัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยที่ท่าอากาศยานภูเก็ต มีผู้โดยสาร 18.26 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5 และมีเที่ยวบิน 116,500 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1

ส่วนที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ มีผู้โดยสาร10.81 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 และมีเที่ยวบิน 75,600 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย มีผู้โดยสาร 2.81

ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.6 และมีเที่ยวบิน 19,700 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.7

ส่วนท่าอากาศยานหาดใหญ่ (จังหวัดสงขลา) มีจำนวนผู้โดยสารและเที่ยวบินลดลงเล็กน้อย โดยมีผู้โดยสาร 4.27 ล้านคน ลดลงร้อยละ 1.9 และมีเที่ยวบินจำนวน 29,200 เที่ยวบิน ลดลงร้อยละ 4.2

“จีน-เกาหลี-ญี่ปุ่น” รั้งท็อปทรี

“นิตินัย” ให้ข้อมูลด้วยว่า ในภาพรวมเที่ยวบินและปริมาณผู้โดยสารระหว่างประเทศเติบโตได้ดีทุกท่าอากาศยาน โดยผู้โดยสารที่เข้าและออก ณ ด่านตรวจคนเข้าเมืองของท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ ทอท. แยกตามสัญชาติส่วนใหญ่เป็นสัญชาติที่อยู่ในกลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิก รองลงไปเป็น รัสเซีย และอเมริกา

โดย 10 อันดับแรก (ไม่รวมสัญชาติไทย) ประกอบด้วย จีน, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, อินเดีย, มาเลเซีย, รัสเซีย, อเมริกัน, ฮ่องกง, สิงคโปร์ และอังกฤษ

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2561 มีผู้โดยสารสัญชาติจีนเดินทางผ่านท่าอากาศยานของ ทอท.กว่า 19.79 ล้านคน เติบโตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 21.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

“อีอีซี” หนุนผู้โดยสารกลุ่มธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม การเติบโตของผู้โดยสารของ ทอท.จะขึ้นอยู่กับผู้โดยสารต่างชาติในแถบเอเชีย-แปซิฟิกเป็นหลัก และขยายตัวตามการเพิ่มขึ้นของรายได้ต่อหัวของประชากรที่สอดคล้องกับพฤติกรรมและการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศของชนชั้นกลางของ 3 ชาติ (จีน อินเดีย และรัสเซีย) ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ของภาครัฐ ที่มุ่งมั่นจะใช้ EEC เป็นเครื่องมือสร้างรายได้เพื่อการยกระดับประเทศไทยจากการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะเกิดขึ้น

ทอท.คาดว่าจะมีผู้โดยสารกลุ่มใหม่ หรือ new emerging passengers เดินทางเข้าและออกประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น เช่น กลุ่มนักธุรกิจ กลุ่มผู้ชำนาญการ ฯลฯ ซึ่งจะไม่ใช่เพียงแค่นักท่องเที่ยวอีกต่อไป