“ทีเส็บ”ผนึกสถาบันการศึกษา ผลิตบุคลากรอุตฯไมซ์รับอีอีซี

“ทีเส็บ” ลุย EEC จับมือ 8 สถาบันการศึกษา ปูพรมสร้างบุคลากรไมซ์ ด้าน EEC อัดสิทธิพิเศษด้านภาษี 200% หวังดึงภาคธุรกิจร่วมหนุนการศึกษา พร้อมรับเด็กเข้าทำงานทันที ดันคนไมซ์ใน EEC โตทะลุ 5 พันคน ใน 1 ปี

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ เปิดเผยว่า ทีเส็บได้จับมือกับคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC-HDC) และมหาวิทยาลัยบูรพา ลงนามบันทึกความตกลงใน “โครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรไมซ์ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก”

โดยมีจุดประสงค์เพื่อจัดตั้งศูนย์กลางคณะทำงานด้านการพัฒนาศักยภาพบุคลากรไมซ์ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรไมซ์รองรับการขยายตัวของภาคธุรกิจและความต้องการของผู้ประกอบการในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน “เขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” ที่มีการท่องเที่ยวที่ทำรายได้ดีและไมซ์เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

ทั้งนี้ ทีเส็บตั้งเป้าที่จะพัฒนาบุคลากรไมซ์ที่มีคุณภาพให้กับภาคตะวันออกในปี 2563 ไม่ต่ำกว่า 5,000 คนต่อปี ให้สอดคล้องกับข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกปี 2562-2566 ซึ่งระบุว่ามีความต้องการแรงงานในพื้นที่รวมทั้งสิ้น 475,668 อัตรา โดยแบ่งเป็นความต้องการด้านการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและไมซ์ 4% หรือคิดเป็น 16,920 อัตราของความต้องการแรงงานในพื้นที่ทั้งหมด

นอกจากนั้น ทีเส็บยังได้ลงนามบันทึกความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในภาคตะวันออกอีก 8 แห่งลงใน “โครงการจัดตั้งศูนย์เครือข่ายด้านการศึกษาไมซ์ในภาคตะวันออก” (Eastern MICE Academic Cluster) เป็นศูนย์เครือข่ายด้านการศึกษาไมซ์ภูมิภาคที่ 5 นอกเหนือจากที่ทำมาแล้วใน 4 ภาค เพื่อผลิตบุคลากรในอุตสาหกรรมไมซ์ทั้งในหลักสูตรระยะสั้นและระยะยาว

โดยสถาบันการศึกษาทั้ง 8 แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยบูรพา (มบ.), มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา (มก.ศรีราชา), มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ (มรร.), มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี (มรพ.), มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี (มจพ.ปราจีนบุรี), วิทยาลัยดุสิตธานี ศูนย์การศึกษาเมืองพัทยา (วดธพ.), วิทยาลัยอาชีวศึกษาฉะเชิงเทรา (วอศ.) และวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ (วทส.)

ด้าน ดร.อภิชาต ทองอยู่ ประธานคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากร ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า เนื่องจากในอนาคตความก้าวหน้าของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกจำเป็นจะต้องอาศัยแรงงานจำนวนมาก การสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรภายในพื้นที่ให้พร้อมต่ออุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 อย่างจึงมีความสำคัญ

โดยในปีนี้รัฐบาลได้ทุ่มงบประมาณ 200 ล้านบาทในการผลักดันการผลิตบุคลากรในพื้นที่เขตให้ได้อย่างน้อย 20,000 คน โดยมีโมเดลหลักเป็น “EEC model type A” ในการส่งเสริมให้สถานประกอบการช่วยออกค่าใช้จ่ายให้กับสถานศึกษาอย่างน้อย 50% ในการผลิตบุคลากรที่ตรงกับสายงาน พร้อมแบ่งหลักสูตรการเรียนให้มีสัดส่วนของการทำงานจริงมากขึ้น เพื่อให้นักศึกษาจบออกมาแล้วสามารถเข้าทำงานในสถานประกอบการได้ทันที ยืนยันอัตราจบแล้วมีงานทำ 100% โดยสถานศึกษาจะได้สิทธิพิเศษในการได้รับการลดหย่อนภาษีสูงสุด 200%

นอกจากนั้น ยังมี “EEC model type B” ในลำดับรองลงมา โดยเปิดให้นักศึกษาได้เข้าฝึกงานกับสถานประกอบการเพื่อให้พร้อมกับการทำงานจริง โดยสำนักงานตั้งเป้าหมายเพิ่มนักศึกษาในโมเดล A และ B ประมาณ 70-80% ภายใน 5 ปี โดยมีอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและไมซ์เป็นหนึ่งในเป้าหมาย เนื่องจากเป็นอุตฯที่ทำให้เกิดการกระจายรายได้และส่งผลต่อรายได้ชุมชนมากกว่าอุตฯอื่น ๆ จึงทำให้การท่องเที่ยวและไมซ์อยู่ใน 5 อันดับอุตสาหกรรมที่ต้องได้รับการผลักดันด้านบุคลากรอย่างเร่งด่วนร่วมกับอุตสาหกรรมดิจิทัล โลจิสติกส์ และสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์

อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 สำนักงานวางแผนที่จะของบประมาณเพิ่มอีก 3,000 ล้านบาท เพื่อเร่งผลักดันให้เกิดการพัฒนาบุคลากรให้เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและคุณภาพโดยเร็วที่สุด