สทท. เตรียมชงแผนเร่งด่วน อุ้มเอกชนท่องเที่ยวต่อนายกฯประยุทธ์ภายใน 7 วัน

“สภาอุตฯ ท่องเที่ยว” เร่งเสนอแผนเยียวยาเอกชนท่องเที่ยวเพิ่มเติมใน 7 วัน ระบุมาตรการสินเชื่อ 1.23 แสนล้านของรัฐบาลไม่เอื้อผู้ประกอบการรายเล็ก เชื่อกระทบแน่ 3 ล้านคน วอนรัฐช่วยเจรจาแบงก์หยุดชำระเงินต้น-ดอกเบี้ย 1 ปี วอนกันงบ 1 แสนล้านปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำไม่เกิน 1% พร้อมอัดงบฯ ซับซิไดซ์บูมเที่ยวในประเทศ-ดึงนักท่องเที่ยวชาติที่หนีจีนให้มาไทย

นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยว่า จากมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ออกมาตรการการเงินการคลังเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ปี 2563 วานนี้ (4 ก.พ. 63) ในวันนี้ (5 ก.พ. 2563) สทท. ได้เรียกประชุมสมาชิกทั่วประเทศจากทุกสาขาอาชีพเพื่อรวบรวมผลกระทบและสรุปแนวทางการแก้ปัญหาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า เนื่องจากปัจจุบันไม่เพียงแค่กลุ่มนักท่องเที่ยวจีนเท่านั้นที่ยกเลิกกากรเดินทางทั้งหมดแล้ว นักท่องเที่ยวในภูมิภาคอื่นๆ ก็เริ่มทะยอยยกเลิกโปรแกรมการเดินทางท่องเที่ยวแล้วเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย, เวียนาม, ยุโรป ฯลฯ

​นายชัยรัตน์กล่าวว่า การประชุมในวันนี้มีประเด็นนำเสนอเพื่อพิจารณาใน 3 เรื่องหลัก ประกอบด้วย 1. ขอให้ผ่อนผันการชำระเงินกู้และดอกเบี้ยของผู้ประกอบการท่องเที่ยวเป็นเวลา 12 เดือน 2. ขอให้ภาครัฐช่วยจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ พร้อมออกนโยบายเงื่อนไขการกู้ยืมที่ยืดหยุ่นมากขึ้นสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กเพื่อเพิ่มสภาพคล้องในการดำเนินธุรกิจ 3. ขอให้ภาครัฐสนับสนุนการจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ โดยร่วมกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและภาพอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัด โดยมีนโยนบายให้หน่วยงานรัฐช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วนให้กับนักท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น

โดยผลที่ได้จากการประชุมหารือครั้งทั้งหมดจะถุกจัดทำเป็นแผนเร่งด่วนเพื่อนำเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอมาตรการเยียวยาเพิ่มเติมให้กับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อม (SMEs) และธุรกิจไซส์เล็ก (Super Small) ในวงการท่องเที่ยวที่มีจำนวนถึงกว่า 3 ล้านคนซึ่งคิดเป็นกว่า 75% ของผู้ประกอบการท่องเที่ยวจำนวนกว่า 4 ล้านคนทั่วประเทศที่ไม่สามารถเข้าถึงเงินทุนด้วยเงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนดภายใน 7 วัน

“ถึงแม้รัฐบาลจะมีมาตรการเยียวยาด้านการคลังสำหรับผู้ประกอบการท่องเที่ยวออกมาแล้ว แต่มาตรการหลายอย่างยังเข้าไม่ถึงผู้ประกอบการท่องเที่ยวได้ครอบคลุมนัก โดยเฉพาะมาตรการสนับสนุนทางด้านแหล่งเงินทุนสินเชื่อวงเงิน 1.23 แสนล้านบาท ดอกเบี้ยอย่างต่ำ 3% สำหรับผู้ประกอบการขนาดย่อม เพราะผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่เป็นเอสเอ็มอีขนาดเล็กมากจำพวกรถทัวร์, สปา, ร้านนวด, ร้านอาหาร, ไกด์ ฯลฯ ที่ไม่เข้าเงื่อนไขการกู้ยืมที่กำหนดหลายข้อ อาทิ ไม่มีงบการเงิน หรือจดทะเบียนพาณิชย์แต่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน” นายชัยรัตน์กล่าว

และว่าจากากรทำการสำรวจกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวในช่วงที่ผ่านมาพบว่า ผู้ประกอบการกว่า 95% ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ดังนั้น ผู้ประกอบการท่องเที่ยวจำเป็นจะต้องได้รับการสนับสนุนด้านแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม โดยการลดเงื่อนไขการกู้ยืมลง

อาทิ อนุญาตให้ใช้ผู้ค้ำประกันแทนหลักทรัพย์ได้ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ผ่านช่วงวิกฤต นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังมีการเสนอให้ขอลดทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการ รวมถึงเสนอขอเลื่อนการจ่ายภาษีนิติบุคคลประจำปี 2562 ไปจ่ายในปี 2564 พร้อมกับภาษีนิติบุคคลประจำปี 2563 และเลื่อนการจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมทั้งนายจ้างและลูกจ้างอย่างน้อย 6 เดือนหรือจนกว่าเหตุการณ์จะยุติลง

รวมทั้งยังเตรียมที่จะขอให้ภาครัฐสนับสนุนการเดินทางภายในประเทศตามเส้นทางที่แต่ละจังหวัดเลือกนำเสนอ นอกจากนั้นจะต้องดึงนักท่องเที่ยวหลายชาติที่เคยวางแผนเดินทางท่องเที่ยวในประเทศจีนกว่า 60 ล้านคนต่อปี แต่ไม่สามารถเดินทางได้แล้วให้เข้ามาเที่ยวในประเทศไทยแทน อาทิ นักท่องเที่ยวจากไต้หวัน, เกาหลี, ญี่ปุ่น, ยุโรป, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศอาเซียน

ทั้งนี้ ในที่ประชุมมีผู้ประกอบการบางส่วนการเสนอให้ขอตั้งงบประมาณ 1 แสนล้านบาท สำหรับใช้เยียวยาผู้ประกอบการท่องเที่ยวและสนับสนุนการกระตุ้นตลาดแยกต่างหากจากงบประมาณในมาตรการการเงินการคลังที่ ครม. มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมาด้วย