‘ไวรัสอู่ฮั่น’ เอฟเฟ็กต์แรงงาน 7 ล้านคน พัทยา-ภูเก็ตป่วน ทัวร์จีนเบี้ยวหนี้

ไวรัสอู่ฮั่นเอฟเฟ็กต์แรงงานภาคท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวข้อง 7 ล้านคน ธุรกิจทัวร์-โรงแรม-ร้านค้าทยอยปิดตัว-ปลดคนลดต้นทุน พัทยาเงียบเหงา “ตลาดน้ำ 4 ภาค” เผยร้านค้าแห่เลิกสัญญาเช่า “ภูเก็ต” ป่วนทัวร์จีนแจ้งเลื่อนจ่ายหนี้ไม่มีกำหนด “รถทัวร์-สปีดโบ๊ต” อลหม่านไม่มีเงินจ่ายค่างวดแบงก์กสิกรฯ เผยโรงแรมขยับลดลูกจ้างชั่วคราว ประเมินพนักงานโรงแรมตกงาน 30% สทท.นัดถก “บิ๊กตู่” ยื่นขอมาตรการเยียวยาเพิ่ม กระทรวงท่องเที่ยวฯระดมหน่วยงานรัฐ-เอกชน 500 รายถกใหญ่ 13 ก.พ. “กู้วิกฤต” ท่องเที่ยวไทย แรงงาน 7 ล้านคนสะเทือน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า แรงงานในภาคท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่องในปี 2562 มีจำนวนสูงถึง 7.66 ล้านคน ประกอบด้วย ธุรกิจโรงแรม 3.85 แสนคน, ขนส่งโดยสารทั้งสายการบิน รถทัวร์ และอื่น ๆ 5 แสนคน, กิจกรรมท่องเที่ยวต่าง ๆ อาทิ บริษัททัวร์ ร้านสปา นวด 7.95 หมื่นคน, ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 2.48 ล้านคน และค้าปลีก 4.2 ล้านคน ซึ่งจะครอบคลุมทั้งห้างค้าปลีก, ร้านสะดวกซื้อ, โชห่วย, ร้านขายของที่ระลึก, ร้านค้าขายสินค้าชุมชนต่าง ๆ โดยแรงงานเหล่านี้จะได้รับผลกระทบทางตรงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่ามากกว่ากลุ่มอื่น ๆ ซึ่งหากไม่นับรวมในส่วนค้าปลีกก็จะเป็นแรงงานในภาคท่องเที่ยวตรงเกือบ 4 ล้านคน

หนักสุดในประวัติศาสตร์

นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า หรือไวรัสอู่ฮั่น จากประเทศจีน ครั้งนี้เป็นเหตุการณ์ที่กระทบต่อภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยหนักที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ ทำให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและผู้ที่เกี่ยวข้องในวงจรภาคท่องเที่ยว ซึ่งเป็นภาคบริการที่มีซัพพลายเชนมากกว่า 50,000 บริษัท และบุคลากรในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกว่า 4 ล้านคน (จากสำนักงานสถิติ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ) ได้รับผลกระทบทันทีโดยปี 2562 ภาคท่องเที่ยวสร้างรายได้

รวมกว่า 3 ล้านล้านบาท หรือราว 20% ของจีดีพี แต่เนื่องจากการท่องเที่ยวเป็นธุรกิจบริการ สินทรัพย์หลักคือคน และส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตจะทำให้คนที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญผู้ประกอบการมีโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อของสถาบันการเงินน้อย

“ครั้งนี้ภาคท่องเที่ยวได้รับผลกระทบหนักจริง ๆ เรียกว่ากระทบทุกเซ็กเตอร์ หลายส่วนธุรกิจต้องปิดกิจการไป เพราะนักท่องเที่ยวจีนหยุดเดินทาง ทั้งผู้ประกอบการและลูกจ้าง พนักงานได้รับผลกระทบหมด ทุกฝ่ายขาดสภาพคล่องด้านการเงิน ซึ่งที่ผ่านมา สทท.ได้ประชุมประเมินผลกระทบและมาตรการเสนอให้รัฐบาลช่วยเหลือต่อเนื่อง” นายชัยรัตน์กล่าวนัดถก “บิ๊กตู่” ยื่นข้อเสนอเพิ่ม

ขณะนี้ทาง สทท.ได้เตรียมทำหนังสือปกขาวรายงานสถานการณ์ผลกระทบที่เกิดขึ้น และมาตรการเสนอให้รัฐบาลช่วยเหลือเพิ่มเติม จากมาตรการที่รัฐบาลประกาศออกมาแล้วในหลาย ๆ ประเด็น อาทิ ขอให้รัฐจัดสรรงบประมาณ 1 แสนล้านบาท สำหรับปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ พร้อมทั้งปรับเกณฑ์เงื่อนไขให้ผู้ประกอบการรายย่อยให้เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการท่องเที่ยวกว่า 80% เป็นกลุ่มเอสเอ็มอีและไม่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นในเรื่องขอผ่อนผันการชำระเงินกู้และดอกเบี้ยของผู้ประกอบการท่องเที่ยวเป็นเวลา 12 เดือน และขอให้รัฐสนับสนุนการทำเส้นทางท่องเที่ยวภายในประเทศ เพื่อกระตุ้นตลาดไทยเที่ยวไทย โดยให้หน่วยงานรัฐช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วน (subsidize) กับนักท่องเที่ยวไทย เป็นต้น ซึ่งทาง สทท.เตรียมนำเสนอดังกล่าวกับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาการช่วยเหลือต่อไป

13 ก.พ.รัฐ-เอกชนประชุมกู้วิกฤต

แหล่งข่าวในภาคธุรกิจท่องเที่ยว เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการประชุมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐหลายครั้ง ทั้งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ทุกฝ่ายยอมรับว่าวิกฤตครั้งนี้ทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยได้รับผลกระทบเป็นมูลค่าสูงราว 3 แสนล้านบาท และสิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ กลุ่มผู้ประกอบการในภาคท่องเที่ยวที่มีกว่า 4 ล้านคน จะได้รับผลกระทบมากกว่าที่คาดกาณ์ไว้

ทั้งนี้ รัฐบาลนำโดยกระทรวงการท่องเที่ยวฯ และกระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมนัดประชุมร่วมกับภาคเอกชนครั้งใหญ่ในวันที่ 13 ก.พ.นี้ โดยเชิญเอกชนผู้เกี่ยวข้องราว 400-500 ราย ที่ได้รับผลกระทบมาร่วมประชุมหารือ และเพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องทั้งเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส และทิศทางการทำธุรกิจกับกลุ่มผู้ประกอบการ ทำเวิร์กช็อปเพื่อหาทิศทางการแก้ปัญหาและร่วมกันหาทางรอดท่องเที่ยวไทย รวมถึงได้เชิญทางผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทยมาชี้แจงทำความเข้าใจเรื่องมาตรการความช่วยเหลือ และการให้ความรู้เรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ 

ก๊อก 2 เข้า ครม. 18 ก.พ.

ด้านนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้กล่าวก่อนหน้านี้ว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าส่งผลให้เดือน ก.พ. มีนักท่องเที่ยวจีนลดลงไปกว่า 80-85% หรือจากวันละ 30,000 คน เหลือเพียง 3,000 คน อย่างไรก็ตาม กระทรวงเตรียมที่จะเร่งประชาสัมพันธ์ให้คนไทยและนักท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียนเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยให้มากขึ้น ทดแทนนักท่องเที่ยวจีนที่หายไป 

“ขณะนี้ผมได้รับทราบข้อเสนอของภาคเอกชนที่ผ่านมาทางสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ เกี่ยวกับงบประมาณเพื่อเยียวยาผู้ประกอบการราว 1 แสนล้านบาท ตอนนี้ก็ขอให้ไปทำข้อมูลมาเพื่อหารือร่วมกับรองนายกรัฐมนตรีอนุทิน และส่วนราชการต่าง ๆ เกี่ยวกับการเยียวยาระยะสั้นและระยะยาวในวันที่ 13 ก.พ.นี้ หากสรุปได้ทันจะเสนอเข้าที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ วันที่ 14 ก.พ. และเสนอเข้าที่ประชุม ครม.ในวันที่ 18 ก.พ.ต่อไป” นายพิพัฒน์กล่าว

ทัวร์จีนชักดาบเรือ-รถทัวร์ภูเก็ต

นายสมเกียรติ ปิติภาคย์ตวงสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท อันดามัน เซาท์ โคสท์ ทราเวล จำกัด ผู้ประกอบการรถทัวร์ท่องเที่ยวรายใหญ่ จังหวัดภูเก็ต เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กำลังเกิดปัญหาขึ้นอย่างหนักในวงการธุรกิจรถทัวร์ และเรือสปีดโบ๊ต จ.ภูเก็ต เนื่องจากผู้ประกอบการรถทัวร์ และเรือหลายรายต่างได้รับหนังสือขอเลื่อนการชำระหนี้จากบริษัททัวร์จีนในประเทศไทย ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ใช้บริการไปแล้วตั้งแต่ต้นเดือน ม.ค. 2563 วงเงินรวมหลายร้อยล้านบาท โดยให้เหตุผลว่า เอเย่นต์ทัวร์เมืองจีนปิดตัวชั่วคราว ทำให้ไม่มีเงินมาจ่ายบริษัทเรือ และรถทัวร์ของไทย โดยเลื่อนการจ่ายไปแบบไม่มีกำหนด หรือบางรายแจ้งมาทางไลน์บอกจะจ่ายเช็คให้เมื่อทัวร์จีนกลับมาเที่ยวภูเก็ต  

“สิ่งที่น่ากังวลคือ บริษัททัวร์จีนพวกนี้พร้อมปิดและหนี จึงต้องการแจ้งให้ภาครัฐเห็นถึงปัญหาที่ประสบกันอยู่ ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ เมื่อบริษัทรถทัวร์ไม่มีรายได้เข้ามา โดยเฉพาะมีค่าใช้จ่ายหลักในการผ่อนค่ารถกับธนาคารและไฟแนนซ์ ซึ่งรถทัวร์ในภูเก็ตมีอยู่ราว 5,000-6,000 คัน ราว 80% ยังมีภาระค่าผ่อนรถประมาณ 25,000-30,000 บาท/คัน/ต่อเดือน ซึ่งตอนนี้เป็นการพูดคุยกันในวงการถึงปัญหาที่บริษัททัวร์จีนไม่จ่ายเงินให้ผู้ประกอบการรถบัส เรือสปีดโบ๊ต ทั้งที่ได้รับเงินจากนักท่องเที่ยวไปแล้ว และโยนความเดือดร้อนมาให้บริษัทรถทัวร์ และเรือ”

ขอยืดเวลาจ่ายประกันสังคม

ขณะที่นายสุพจน์ รอดเรือง ณ หนองคาย รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้ประชุมรับฟังปัญหาผู้ประกอบการขนส่งรถโดยสารสาธารณะ เมื่อวันที่ 7 ก.พ.ระบุว่า รถที่ให้บริการในภูเก็ตมีจำนวน 8,176 คัน เมื่อนักท่องเที่ยวลดน้อยลง โดยเฉพาะจีนหายไป 90% ผลกระทบตามมาชัดเจน จึงเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับฟังปัญหา และร่วมกันหาแนวทางช่วยเหลือ โดยกลุ่มผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะขอให้ภาครัฐช่วยเหลือทั้งเรื่องสินเชื่อต่าง ๆ รวมทั้งการยืดเวลาจ่ายค่าประกันสังคมของนายจ้างและลูกจ้าง รวมถึงขอลดเบี้ยประกันภัยรถตลาดน้ำ 4 ภาคพัทยาซบหนัก

น.ส.ฐิติภัสร์ ศิรณัฐศรีกุล นายกสมาคมแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดชลบุรี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สถานที่ท่องเที่ยวของชลบุรีได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากรับนักท่องเที่ยวจีนถึง 95% โดยเฉพาะบ้านสุขาวดีพัทยา สวนนงนุช ตลาดน้ำ 4 ภาค และสวนเสือศรีราชา ทำให้ขณะนี้เงียบเหงามาก ไม่มีนักท่องเที่ยว ต้องเร่งปรับตัวและขอให้ภาครัฐหามาตรการช่วยเหลือ

ด้านนางธิชาธร ศรีเมือง ผู้บริหารฝ่ายการตลาด ตลาดน้ำ 4 ภาค (พัทยา) จ.ชลบุรี เปิดเผยว่า กลุ่มนักท่องเที่ยวหลักของตลาดน้ำ 4 ภาค คือ นักท่องเที่ยวจีน ซึ่งปัจจุบันเหลือเฉลี่ย 1,000 คนต่อวัน จากเดิมที่มีนักท่องเที่ยวเฉลี่ย 10,000-12,000 คนต่อวัน ประเมินมูลค่าความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท ขณะที่ผู้ประกอบการเช่าพื้นที่ในตลาดน้ำ 4 ภาค 

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการขอยกเลิกเช่าพื้นที่กว่า 20 ราย จากผู้ประกอบการทั้งหมดราว 400 ราย ขณะนี้กำลังพิจารณาช่วยเหลือด้วยการลดค่าเช่า หรือการพักชำระค่าเช่าต้องรอดูอีกครั้ง ขณะที่ตัวโครงการมีพนักงานกว่า 300 คน ไม่มีการปลดพนักงานแต่อย่างใด เชียงใหม่หั่นราคาดึงคนไทย

นางวัชราภรณ์ จงเผ่าพันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด โรงแรมเชียงใหม่ ออคิด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้นักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นลูกค้าต่างชาติกลุ่มหลักที่มีสัดส่วนราว 80% ของโรงแรม หายไป 100% ตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค.จนถึงปัจจุบัน ห้องพักที่จองมาล่วงหน้า 150 ห้อง ถูกยกเลิกทั้งหมด ทำให้สูญรายได้ประมาณ 2.4 ล้านบาท ทางโรงแรมประเมินในเบื้องต้นว่า ตลาดท่องเที่ยวจีนจะชะลอไปถึง ต.ค. 2563 ทางโรงแรมจึงเร่งปรับแผนการตลาดตั้งแต่ 1 ก.พ.

ที่ผ่านมา มุ่งทำตลาดภายในประเทศโดยปรับลดราคาห้องพักลง 50% จากราคาปกติที่ขายต่างชาติ 2,000 บาท เหลือเพียง 1,000 บาท เพื่อกระตุ้นตลาดไทยเที่ยวไทย พร้อมทั้งทำตลาดผ่านออนไลน์มากขึ้น ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมาการจองห้องพักในแพลตฟอร์ม OTA ของโรงแรมเติบโตขึ้น 30%

ธุรกิจโรงแรมตกงาน 30%

นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการหารือถึงผลกระทบของไวรัสโคโรน่ากับผู้ประกอบการโรงแรม ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่หนักมาก ทำให้ขณะนี้ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องพนักงาน ซึ่งกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบก่อนก็คือ กลุ่มลูกจ้างชั่วคราว ที่มีประมาณ 10-20% ของแรงงานในธุรกิจโรงแรม เนื่องจากนักท่องเที่ยวหายไปจำนวนมาก

ส่วนกลุ่มพนักงานประจำ แม้ว่าจะยังไม่ได้ลดจ้างงานทันที แต่ก็ได้รับผลกระทบในแง่ของรายได้ที่ลดลงทันที เนื่องจากกลุ่มพนักงานโรงแรมขนาดใหญ่ ส่วนมากจะมีรายได้จากค่าเซอร์วิสชาร์จ และจากทิปของนักท่องเที่ยว คิดเป็นสัดส่วนราว 50% ของรายได้รวม ซึ่งรายได้ก็จะหายไปตามจำนวนนักท่องเที่ยว ส่งผลให้พนักงานเหล่านี้ขาดสภาพคล่องได้ เราจึงมีมาตรการออกเป็นแพ็กเกจช่วยเหลือกลุ่มลูกค้ารายย่อยด้วย โดยการพักหนี้สูงสุด 6 เดือน 

อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์จากไวรัสโคโรน่ามีความรุนแรงมากขึ้น คาดว่าในปีนี้พนักงานโรงแรมมีโอกาสตกงานราว 20-40% ซึ่งความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับสัดส่วนการรับนักท่องเที่ยวจีน ค่าเฉลี่ยทั้งอุตสาหกรรมน่าจะตกงานราว 30% 

ชำระหนี้ถดถอยลามเป็นลูกโซ่

นางอภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ตอนนี้ธนาคารเริ่มเห็นลูกค้ามีความสามารถในการชำระหนี้ลดลง โดยผลกระทบเริ่มขยายวงเป็นลูกโซ่ ตั้งแต่ธุรกิจโรงแรม ลูกจ้าง ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก รวมถึงรถทัวร์-รถบัสที่รับนักท่องเที่ยว รวมถึงไปธุรกิจเกี่ยวเนื่องทั้งหมด ซึ่งเห็นสัญญาณการชำระหนี้ถดถอยลง และโรงแรมบางแห่งก็ปิดชั่วคราว โดยคาดว่าจะเห็นอาการจริง ๆ ภายใน 2 เดือนนี้

โดยธนาคารจะมีมาตรการช่วยเหลือออกมาเรื่อย ๆ ทั้งในส่วนผู้ประกอบการโรงแรม และลูกค้ารายย่อย และมีการพูดคุยกับ ธปท. ถึงการช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยซึ่งกำลังจ่ายลดลง เช่น บัตรเครดิต จากเดิมผ่อนชำระขั้นต่ำ 10% ให้ปรับลดลงมาเหลือ 5% และแปลงวงเงินเป็นสินเชื่อ โดยคิดอัตราดอกเบี้ยถูกตามกลุ่มลูกค้าเฉลี่ยอยู่ที่15-18% เพื่อลดภาระรายย่อย

นายศิริเดช เอื้องอุดมสิน รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า เท่าที่สำรวจพบว่าลูกค้าธุรกิจท่องเที่ยวขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ทุกคนพยายามปรับลดรายจ่ายเพื่อให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลง เพื่อประคองธุรกิจให้สามารถอยู่รอด ซึ่งธนาคารได้ส่งทีมงานเครือข่ายสาขาลงไปสำรวจ และให้การช่วยเหลือตามปัญหาลูกค้า  

AOT เปิดทางคืนสลอตการบิน

ด้านนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทอท.ได้ออกมาตรการจูงใจให้สายการบินที่ได้รับผลกระทบจากตลาดจีน สามารถคืนสลอตการบินชั่วคราว เพื่อเปิดโอกาสให้สายการบินมีฐานลูกค้าอยู่ในมือสามารถเปิดเส้นทางบินและขนนักท่องเที่ยวตลาดอื่น ๆ เข้ามาประเทศไทย ในรูปแบบเที่ยวบินพิเศษ (extra flight) และเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (charter flight)  เพื่อเป็นการช่วยให้ภาคท่องเที่ยวของประเทศไทยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

“ตารางการบินของสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองแน่นมานานแล้ว มีสายการบินอีกจำนวนมากที่ต่อคิวขอสลอตการบินเข้ามายังประเทศไทย แต่ไม่สามารถหาตารางบินที่เหมาะสมได้ วิกฤตครั้งนี้จึงน่าจะเป็นโอกาสที่เราจะดึงสายการบินกลุ่มนี้เข้ามาให้บริการเสริมในช่วงที่ภาคท่องเที่ยวกำลังเผชิญปัญหาที่ตลาดนักท่องเที่ยวจีนหายไปทั้งหมด” นายนิตินัยกล่าวและว่า มาตรการดังกล่าวจะมีส่วนช่วยเหลือธุรกิจการบินในช่วงที่มีปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารเที่ยวบินให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วย

ททท.หั่นเป้านักท่องเที่ยว-รายได้

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ล่าสุด ททท.ปรับลดเป้ารายได้จากการท่องเที่ยวรวมจากเดิม 3.18 ล้านล้านบาท เหลือ 2.91 ล้านล้านบาท และลดเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจากเดิม 40.8 ล้านคน เหลือ 36 ล้านคน ลดลงจากปีก่อนราว 9.5% หรือสร้างรายได้ 1.78 ล้านล้านบาท ลดลง 7.7% จากเป้าหมายรายได้เดิมที่ 2.02 ล้านล้านบาท

“การปรับลดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลงไป 5 ล้านคน และรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติไปราว 3 แสนล้านบาทนั้น เป็นการประเมินจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าที่คาดว่าส่งผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวจีนออกไปอีกอย่างน้อย 5 เดือนนับจากนี้ ซึ่งทำให้ ททท.ต้องปรับเป้าหมายและกลวิธีการทำงานใหม่ เพื่อให้รายได้จากการท่องเที่ยวรวมของไทยลดลงน้อยที่สุด” 

เร่งปลุก “ไทยเที่ยวไทย”

นายยุทธศักดิ์กล่าวว่า สำหรับตลาดไทยเที่ยวไทย ททท.ยังคงเป้าหมายเดิม 

คือ 172 ล้านคนครั้ง สร้างรายได้รวม 1.13 ล้านล้านบาท หรือขยายตัว 4% จากปีที่ผ่านมา เนื่องจากทุกภาคส่วนต้องช่วยกันเร่งกระตุ้นตลาดไทยเที่ยวไทย 

เพื่อทำให้ภาคการท่องเที่ยวยังมีส่วนสำคัญในการพยุงรายได้รวมเอาไว้ 

หลังจากนี้ ททท.จะเดินหน้าเพิ่มความเชื่อมั่นฟื้นฟูภาคท่องเที่ยวให้รวดเร็วที่สุด เร่งกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ 

พร้อมเร่งหาตลาดใหม่ และเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสในปรับปรุงการทำงานร่วมกัน โดยมีธีม “บอกรักเมืองไทย” 

เป็นธีมหลักของการทำตลาดทั้งในและต่างประเทศ 

“เชื่อว่าการเดินทางท่องเที่ยวของ

คนไทยจะไม่ชะลอตัวมากนัก โดยคาดว่า

นักท่องเที่ยวไทยจะกลับมาคึกคักเหมือนเดิมไม่เกินช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้” นายยุทธศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ ททท.วางแผนจัดงานดีเดย์

ท่องเที่ยวไทย ในวันที่ 18 มี.ค.นี้ ในโอกาสครบรอบ 60 ปี ททท. เพื่อส่งเสริม

การเดินทางในภาพรวมของคนไทยให้มีความถี่มากขึ้น พร้อมทำโปรโมชั่น

ลดราคาแบบ flash sale นำเสนอสินค้าราคาพิเศษในเวลาที่จำกัด 

ในช่วง 3-6 เดือน

สำหรับมาตรการกระตุ้นภาคการ

ท่องเที่ยวระยะสั้น จะใช้งบประมาณ 500 ล้านบาท ซึ่ง ททท.ได้ขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในช่วง

ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือถึงรายละเอียดโครงการเพื่อจัดทำแผนก่อนเข้าหารือกับสำนักงบประมาณเพื่อเบิกจ่ายต่อไป