“แอร์เอเชีย” ลดเป้าผู้โดยสาร 10 ล้าน เตรียมตบเท้าทวงซอฟท์โลนตุลาคมนี้

“แอร์เอเชีย” ปรับเป้าผู้โดยฯ เหลือ 9.5 ล้านจาก 22 ล้านในปีก่อน โควิดเป็นเหตุทุบตลาดระหว่างประเทศ ด้านตลาดในประเทศลดลงเล็กน้อยจากปีก่อน เผยเตรียมเดินหน้าทวงซอฟท์โลนตุลาคมนี้ พร้อมขอปลดล็อกเงื่อนไขสำรองจ่ายค่าตั๋วบิน “เราเที่ยวด้วยกัน” หวังดูดคนไทยใช้สิทธิ เชื่อเปิดประเทศ STV เป็นก้าวแรกที่ดีสู่การต้อนรับนักท่องเที่ยว เอเย่นต์จีนสอบถามตรึม

ตั้งเป้าผู้โดยสาร 9.5 ล้าน

วันที่ 28 กันยายน 2563 นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย เปิดเผยว่า ในปี 2563 หลังจากปรับเป้าหมายมาหลายครั้งตามความคืบหน้าของสถานการณ์โควิด-19 ปัจจุบันไทยแอร์เอเชียตั้งเป้าเก็บจำนวนผู้โดยสารสะสม 9.5 ล้านคน หลังสะสมในช่วงต้นปีราว 5-6 ล้าน

และตั้งเป้าหมายเก็บเพิ่มอีกเดือนละ 1 ล้านคนใน 3 เดือนที่เหลือของปีเพื่อให้เป็นไปตามเป้า แม้จะปรับลดเป้าหมายลงเดิม 22 ล้าน แบ่งเป็นไทยและต่างชาติอย่างละครึ่ง เนื่องจากการสูญเสียนักท่องเที่ยวต่างชาติในสถานการณ์โควิด-19 และมีตัวแปรสำคัญเป็นการเปิดประเทศ

โดยปัจจุบันไทยแอร์เอเชียกลับมาเปิดให้บริการแล้ว 35 เส้นทางบินในประเทศ นับรวมเที่ยวบินในประเทศ 97 เที่ยวบินต่อวันจากปกติ 110-120 เที่ยวบินต่อวัน คิดเป็นกว่า 90% ของเดิมที่แอร์เอเชียเคยให้บริการอยู่ และ ขยับลดลงเล็กน้อยเนื่องจากการลดความถี่ในบางเส้นทางที่ต้องพึ่งพิงนักท่องเที่ยวต่างชาติร่วมด้วย อาทิ เส้นทางภูเก็ต ลดลงจาก 17 เที่ยวบินต่อสัปดาห์เป็น 10 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เส้นทางกระบี่ลดลงจาก 5 เที่ยวบินต่อสัปดาห์เป็น 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ฯลฯ

ด้านอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (load factor) เฉลี่ยราว 70% เนื่องจากเป็นช่วงโลว์ซีซั่นและน่าจะขยับเพิ่มขึ้นเป็น 80% ได้ในช่วงไฮซีซั่นที่จะถึงนี้ ส่วนค่าตั๋วโดยสารเฉลี่ยภายในประเทศอยู่ที่ราว 1 พันบาท ยกเว้นในพื้นที่ที่มีความต้องการเดินทางสูงกว่าปกติ ราคาตั๋วโดยสารก็จะขยับขึ้นเล็กน้อย ในส่วนของฝูงบินแอร์เอเชียให้บริการบินภายในประเทศด้วยเครื่องบิน 37 ลำจากทั้งหมด 62 ลำที่มีอยู่ซึ่งถือว่ากลับมาใช้งานเต็มกำลังสำหรับตลาดในประเทศแล้ว โดยเร่งหมุนเวียนเครื่องออกมาใช้งานเพื่อลดปัญหาซ่อมบำรุง

ในส่วนของความคุ้มทุนในการบินนั้นยากที่จะประเมินตามปกติ ด้วยสายการบินมีต้นทุนผันแปรที่สามารถปรับลดได้ตามสถานการณ์การบินที่เปิดได้เพียงเที่ยวบินในประเทศก็จริง แต่ก็มีต้นทุนคงที่ที่ยากจะปรับลดแม้ว่าจะไม่สามารถเปิดการบินระหว่างประเทศได้

ตอนนี้ไทยแอร์เอเชียจึงมุ่งลดต้นทุนผ่านการเจรจาการคู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจขอยืดระยะเวลาชำระและลดค่าบริการเช่นเดียวกับที่ ทอท.ให้ส่วนลดค่าลงจอดและค่าจอดกับสายการบิน นอกจากนั้น สายการบินยังเปิดให้พนักงานลาโดยไม่รับค่าจ้าง (leave without pay) ซึ่งทำให้สายการบินสามารถลดต้นทุนลงไปได้ราว 30% โดยในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้สายการบินมีเงินสดในมือเหลืออยู่ราว 3,000 ล้านบาท ส่วนในไตรมาสที่ 3 ยังไม่สรุป

เตรียมทวงซอฟท์โลนตุลาคมนี้

นายสันติสุข กล่าวต่อว่า หลังจาก 7 สายการบินเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อขอให้รัฐช่วยสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) ให้สายการบินนำไปหมุนเวียนในธุรกิจหลังประสบวิกฤตจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มาจนถึงปัจจุบันยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ จากฝั่งรัฐบาล แม้นายกฯ จะรับปากในวันนั้นว่าจะผลักดันซอฟท์โลนมาถึงมือสายการบินในเดือนตุลาคม ระหว่างนี้สายการบินจึงอยู่ระหว่างรอความเคลื่อนไหว ก่อนเข้าทวงต่อรัฐบาลอีกครั้งในเดือนตุลาคมนี้

โดยรายละเอียดการพูดคุยนัดล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ รับปากจะช่วยเยียวยาด้วยซอฟท์โลนผ่านทางธนาคารพาณิชย์ โดยอาจจะเป็นโปรแกรมช่วยเหลือภาคธุรกิจโดยรวม ไม่ใช่เพียงแต่สายการบินเท่านั้น โดยสายการบินคาดหวังว่าจะได้ซอฟท์โลนก้อนแรกภายในตุลาคมนี้ เพื่อให้มีสภาพคล่องเพียงพอที่จะขยายฝูงบินกลับมาเปิดให้บริการประชาชนคนไทยในหน้าไฮซีซั่นที่กำลังจะมาถึง

ขอรัฐเลิกเงื่อนไขสำรองจ่ายเราเที่ยวด้วยกัน

นายสันติสุข เสริมว่า ในส่วนของโครงการเราเที่ยวด้วยกัน มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศของรัฐบาลในส่วนของสายการบินก็ยังคงมีจำนวนผู้ใช้สิทธิน้อยมาก ราว 40,000-50,000 สิทธิจากจำนวนกว่า 2,000,000 สิทธิที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ และแม้จะปรับเพิ่มจำนวนเงินที่รัฐออกให้จาก 1,000 เป็น 2,000 บาท จำนวนผู้ใช้สิทธิก็ไม่เพิ่มขึ้นมากนัก

“จึงเสนอให้รัฐปรับลดเงื่อนไขและความซับซ้อนของการใช้สิทธิให้เป็นเช่นเดียวกับการใช้สิทธิเราเที่ยวด้วยกันในโรงแรม คือหักส่วนลดที่รัฐมอบให้ออกเลยทันทีที่มีการจองตั๋วเดินทาง ไม่ต้องสำรองจ่ายไปก่อน และไม่ต้องกังวลว่าประชาชนจะใช้ผิดวัตถุประสงค์หรือไม่ เพราะไม่จำเป็นที่การเดินทางท่องเที่ยวจะต้องเข้าพักในโรงแรมเสมอไป ประชาชนหลายคนก็เลือกเข้าพักในบ้านญาติ กางเตนท์ หรืออื่นๆ”

พร้อมทั้งขยายกรอบเวลาของโครงการเราเที่ยวด้วยกันออกไปจนถึงปลายปี 2563 เป็นการระดมกำลังหนุนท่องเที่ยวในประเทศอย่างเต็มที่ให้สอดคล้องกับช่วงเวลาที่ไทยกำลังเดินทางเข้าสู่ไฮซีซั่นด้านการท่องเที่ยว เชื่อว่าถ้าหากหนุนเต็มที่การท่องเที่ยวภายในประเทศจะเพียงพอสำหรับประคองอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยไปจนกว่าจะมีการเปิดประเทศ เช่นเดียวกับจีนที่รัฐเร่งดันท่องเที่ยวในประเทศเต็มที่จนสามารถพยุงภาคธุรกิจไว้ได้

เชื่อ STV ก้าวแรกสู่เปิดประเทศ

ด้านการเปิดประเทศอย่างจำกัดด้วย Special Tourist Visa (STV) ที่กำลังจะเปิดทางให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยได้ถือเป็นก้าวแรกที่น่ายินดี แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่สามารถเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยได้จะยังมีจำนวนน้อยมากและไม่มีผลต่อสายการบินโดยตรง แต่เป็นจุดสำคัญที่รัฐบาลจะพิสูจน์ประสิทธิภาพของมาตรการและถ้าหากมีการบริหารจัดการที่ดีก็อาจขยายผลของโครงการไปสู่การต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างกว้างขวาง

โดยเชื่อว่าหลังจากการเปิดประเทศอย่างจำกัดผ่านระยะแรกไปแล้ว น่าจะมีโอกาสที่รัฐบาลจะปรับลดวันกักตัวลง เพื่อเปิดทางให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจเดินทางง่ายขึ้นไปจนเข้าสู่จุดที่สามารถตรวจก่อนและหลังเดินทางข้ามชายแดน โดยไม่จำเป็นจะต้องกักตัว ในส่วนของทางแอร์เอเชียก็มีเอเย่นต์ที่เคยทำงานร่วมกันในหลายประเทศ โดยเฉพาะจีนที่สอบถามถึงโครงการนี้