คำสั่ง “งดเดินทาง” 28 จังหวัด ทุบโรงแรมปิดตัวชั่วคราว (อีกครั้ง)

มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA)
มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA)
สัมภาษณ์พิเศษ

เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัดสำหรับภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทย เมื่อ “โควิด” กลับมาแพร่ระบาดกระจายไปในทุกภาคของประเทศอย่างรวดเร็วกันอีกระลอกใหญ่ ตั้งแต่เมื่อกลางเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษ “มาริสา สุโกศล หนุนภักดี” นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) ถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดในรอบนี้ รวมถึงแนวทางของมาตรการต่าง ๆ ที่ขอให้ภาครัฐช่วยสนับสนุน เยียวยา เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจโรงแรมของไทยเมื่อการแพร่ระบาดยุติลงไว้ดังนี้

Q : สถานการณ์ของธุรกิจโรงแรมตอนนี้เป็นอย่างไร

ทันทีที่รัฐบาลออกประกาศขอความร่วมมือให้ประชาชนงดการเดินทางข้ามจังหวัด หรือเดินทางไปยังจังหวัดที่เป็นพื้นที่เสี่ยงสูง 28 จังหวัดทั่วประเทศ ทำให้บรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยที่กำลังอยู่ในแนวโน้มที่ดีต่อเนื่องในช่วงโค้งท้ายปลายปีต้องหยุดชะงัก นักท่องเที่ยวแห่ยกเลิกโรงแรมที่พักกันทันที

โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่าอัตราการเข้าพักเฉลี่ย หรือ occupancy ลดลงเหลือเป็นตัวเลขหลักเดียวอย่างชัดเจน จากที่เคยทำ occupancy ได้ค่อนข้างดีในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2563

ที่ผ่านมาโรงแรมในกรุงเทพฯที่เปิดให้บริการนั้นส่วนใหญ่จะเน้นให้บริการห้องอาหาร และห้องจัดเลี้ยง ทั้งห้องประชุม สัมมนา งานเลี้ยง งานแต่ง ฯลฯ แต่ตอนนี้คนหยุดหมด ขณะที่ผู้จัดงานเองก็แจ้งยกเลิกการจัดงานไปเกือบทั้งหมดแล้ว แม้ว่ารัฐบาลไม่ได้ประกาศล็อกดาวน์ก็ตาม

Advertisment

Q : เบื้องต้นประเมินว่าโรงแรมจะกลับมาปิดให้บริการชั่วคราวอีกครั้งมากน้อยแค่ไหน

ผลกระทบจากการระบาดของโควิดรอบแรกตลอดปี 2563 ที่ผ่านมานั้น โรงแรมจำนวนหนึ่งก็ยังไม่ได้กลับมาเปิดให้บริการ เช่น โรงแรมในเมืองท่องเที่ยวหลักอย่างสมุย, ภูเก็ต, กระบี่, พังงา ปิดกันยาวมาตั้งแต่มีนาคม-เมษายนปีที่แล้ว มีเปิดให้บริการแค่ราว 20% เท่านั้น หรือในพื้นที่พัทยา (ชลบุรี) ก็กลับมาเปิดได้เพียงแค่ราว 70-80% เท่านั้นก็ยังมีส่วนที่ยังปิดตัวชั่วคราวกันอยู่ 20-30%

Advertisment

ตอนนี้โรงแรมที่กลับมาเปิดให้บริการกำลังทบทวนเพื่อกลับไปปิดตัวชั่วคราวกันอีกครั้งแล้ว โดยส่วนตัวประเมินว่าตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไปจะเริ่มเห็นภาพการทยอยปิดตัวชั่วคราวของโรงแรมทั่วประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะดูแนวโน้มแล้วคาดว่า น่าจะมีประกาศของทางรัฐบาลออกมาอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะการออกประกาศว่าคนที่เข้า-ออก พื้นที่เสี่ยงสูงต้องกักตัว 14 วัน ซึ่งจะทำให้คนหยุดเดินทางทันที อย่างโรงแรมของกลุ่มสุโกศลเองมีที่พัทยา 3 แห่ง ล่าสุดก็ปิดชั่วคราวไปแล้ว 1 แห่ง เหลือเปิดแค่ 1 แห่ง อีก 1 แห่ง เราทำเป็นโรงแรม ALQ

เช่นเดียวกับโรงแรมในกรุงเทพฯที่กลับมาเปิดให้บริการกันเพียงแค่ราว 50-60% เท่านั้น ก็กำลังพิจารณาปิดตัวชั่วคราวกันอยู่เช่นกัน

Q : ประเมินกันว่ารอบนี้ผลกระทบน่าจะลากยาวแค่ไหน

เท่าที่คุยและประเมินกันคาดว่าคนไทยน่าจะกลับมาเดินทางกันได้บ้างในช่วงตั้งแต่สงกรานต์ หรือเดือนเมษายนเป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม ก็เป็นเพียงแค่การคาดการณ์เท่านั้น เพราะไม่มีใครรู้จริง ๆ ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดรอบนี้จะยืดเยื้อหรือสิ้นสุดเมื่อไหร่

แต่สิ่งที่จำเป็นต้องทำในตอนนี้คือการให้ความร่วมมือกับรัฐบาลอย่างเต็มที่ในการที่จะยกระดับมาตรฐานการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในโรงแรม ซึ่งอันนี้เป็นอะไรที่สำคัญมากเพราะครั้งนี้ต้องเอาให้จบ เพราะเราเผชิญกับภาวะยากลำบากกันมาเกือบ 1 ปีเต็ม ๆ แล้ว ตั้งแต่มีนาคม-เมษายนปีที่แล้ว ถ้ายืดเยื้อไปเป็นปีครึ่งเราก็จะยิ่งลำบาก และน่าจะเป็นวิกฤตที่หนักที่สุดในรอบ 100 ปีเลยก็ว่าได้

Q : ส.โรงแรมนำเสนอมาตรการสนับสนุน ช่วยเหลือ เยียวยารอบนี้ไปอย่างไรบ้าง

เรานำเสนอมาตรการให้รัฐบาลช่วยเหลือใน 4 เรื่อง คือ

1.ขอรัฐช่วยเงินเดือนค่าจ้างร้อยละ 50 ในรูปแบบ copayment ของอัตราเงินเดือนที่จ้างเป็นระยะเวลา 1 ปี

2.พักชําระหนี้ 2 ปี ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นคงที่ 2%

3.ขอเงินกู้ซอฟต์โลน เพื่อนำมาเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ธุรกิจรายละ 60 ล้านบาท ดอกเบี้ย 2% ปลอดจ่ายเงินต้น และดอกเบี้ย 2 ปี และให้สิทธิรายใหญ่ด้วย

และ 4.ขยายเวลามาตรการบรรเทาผลกระทบของผู้ใช้ไฟฟ้า 6 เดือน

โดยมาตรการเร่งด่วนที่สุดตอนนี้คือ รัฐช่วยจ่ายค่าจ้างพนักงาน 50% เพื่อรักษาการจ้างงานเดิมเอาไว้ เรื่องนี้เป็นภาระที่ใหญ่และหนักที่สุดสำหรับโรงแรมตอนนี้ เพราะลูกค้าหายหมดแต่โรงแรมยังมีค่าใช้จ่ายอยู่ บวกกับความที่ธุรกิจขาดทุนมาตั้งแต่ต้นปีที่แล้วทำให้ผู้ประกอบการไม่เหลือแล้วจึงอยากขอให้รัฐช่วย

โรงแรมที่เปิดให้บริการมาตั้งแต่กรกฎาคมปีที่แล้วส่วนใหญ่ก็ยังขาดทุนอยู่แม้ว่ารัฐจะออกมาตรการมาช่วย แต่ก็ช่วยได้แค่ขาดทุนน้อยลงเท่านั้น ทุกโรงแรมที่เปิดแล้วก็ยังรัดเข็มขัดและลดเงินเดือนพนักงานกันอยู่

Q : แรงงานในภาคธุรกิจโรงแรมในเวลานี้มีประมาณเท่าไหร่

ตอนนี้แรงงานที่อยู่ในภาคธุรกิจโรงแรมเราประเมินว่าน่าจะประมาณ 8-9 แสนคน โดยคำนวณจากโรงแรมที่ถูกกฎหมายประมาณ 1.6 หมื่นแห่ง (ไม่รวมโรงแรมที่ไม่จดทะเบียน) ซึ่งก่อนหน้านี้สมาคมเคยทำเซอร์เวย์ตอนนั้นได้ข้อมูลว่าโรงแรม 4 ดาว และ 5 ดาว เลิกจ้างพนักงานไปแล้วกว่า 37% หรือประมาณกว่า 3 แสนคนแล้ว

วิกฤตครั้งนี้อาจจะมากกว่าครั้งก่อน โดยขณะนี้ทางสมาคมประเมินว่าหากรัฐไม่มีมาตรการออกมาช่วยเหลือภาคธุรกิจโรงแรมอาจต้องมีการเลิกจ้างงานเพิ่มขึ้นอีกราว 4 แสนคน เพราะทุกคนก็คาดการณ์ไม่ได้ว่าธุรกิจจะปิดชั่วคราวอีกนานแค่ไหน

นอกจากมาตรการ copayment แล้ว อีกวิธีการหนึ่งคือ โรงแรมที่ต้องปิดตัวเองลงด้วยเหตุสุดวิสัย (รัฐไม่ได้สั่งปิด) นั้น ขอให้พนักงานได้รับสิทธิประโยชน์จากประกันสังคมเยียวยาให้พนักงาน 50% จากเงินเดือนที่ 15,000 บาท หรือ 7,500 บาท ตลอดระยะเวลาที่ปิดชั่วคราว ซึ่งแนวทางนี้น่าจะเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยพยุงการจ้างงานได้

Q : ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิดแบบนี้ทางสมาคมยังขับเคลื่อนแนวทางเปิดประเทศรับต่างชาติต่ออย่างไร

ประเด็นการหาแนวทางเปิดรับชาวต่างชาตินั้นยังเป็นวาระที่ต้องขับเคลื่อนต่อเนื่อง เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมเปิดรับต่างชาติหลังจากสามารถจัดการเรื่องการแพร่ระบาดได้แล้ว

ตอนนี้ก็ดูกันว่าหากมีการฉีดวัคซีนแล้ว หรือคนไทยได้รับการฉีดวัคซีนในสัดส่วนครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้แล้ว รัฐช่วยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เดินทางเข้ามาได้โดยไม่ต้องกักตัวได้ไหม เพราะหากเราต้องมีกักตัว 14 วันก็จะยังไม่มีนักท่องเที่ยวทั่วไปเข้ามา

และหลังจากนี้เราจะเสนอให้รัฐทำเรื่อง area quarantine หรือกักตัวในพื้นที่โรงแรมตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เคยพูดถึงไว้ก่อนหน้านี้ เช่นเดียวกับที่ปลดล็อกในส่วนของ golf quarantine และ wellness quarantine ไปแล้ว เพื่อให้การท่องเที่ยวของไทยเราเดินต่อได้ทันทีหลังสิ้นสุดวิกฤตโควิด

รอบนี้รัฐบาลคงต้องรีบดำเนินการช่วยเหลือ เยียวยาอย่างเร่งด่วนและขอย้ำว่าเราเข้าใจรัฐว่าต้องช่วยหลายภาคส่วน แต่ก็อยากให้คิดถึงธุรกิจท่องเที่ยวด้วย เพราะเป็นธุรกิจที่กระทบก่อนแล้วฟื้นช้าที่สุด ที่สำคัญอยากให้เข้าใจว่าโรงแรมเป็นธุรกิจที่ต้องดูแลเรื่องพนักงานและเรื่องการดูแลรักษาความต้องการจึงค่อนข้างสูงกว่าธุรกิจอื่น