ศบค.ตั้งวอร์รูมคุมเกาะภูเก็ต ตุลาคมพร้อมเปิดทั่วประเทศ

Photo by AFP

ศบค.อนุมัติ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” สั่งตั้งวอร์รูมคุมเปิดเมือง วางกฎเข้มพบความเสี่ยง 5 เกณฑ์ พร้อมยกเลิก-ปรับเปลี่ยนมาตรการ ไฟเขียวแผนกระจายวัคซีนกรกฎาคม 10 ล้านโดส จัดสรรให้ กทม.สกัดโควิด 5 ล้านโดส กดปุ่มเงินซื้อวัคซีนเพิ่มให้ครบ 150 ล้านโดส ซิโนแวคเฮ ไทยสั่งเพิ่มอีก 28 ล้านโดส กระทรวงการท่องเที่ยวฯกระชับแผน ต.ค.เปิดเที่ยวทุกจังหวัด

วันที่ 18 มิถุนายน 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาและเห็นชอบแผนการบริหารวัคซีนโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข

กระจายให้หมอพร้อม กทม.+ภูเก็ต

โดยในเดือน ก.ค. 2564 จะมีวัคซีนเข้ามา 10 ล้านโดส พิจารณาจัดสรรให้กับผู้จองฉีดวัคซีนล่วงหน้าในระบบหมอพร้อม (กรณีผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง) ให้ กทม.ได้รับจัดสรรวัคซีนอย่างน้อย 5 ล้านโดส ภายในเดือน ก.ค. และให้ภูเก็ตได้รับวัคซีนเข็ม 2 อย่างน้อยร้อยละ 70 ภายในเดือน ก.ค. และกระจายให้จังหวัดที่มีการแพร่ระบาดของโควิด เช่น พื้นที่ควบคุมสูงสุด 4 จังหวัด กทม. (รวมที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย และประกันสังคม) 2.3 ล้านโดส สมุทรปราการ นนทบุรี และปทุมธานี 6 แสนโดส รวมถึงภูเก็ต 2 แสนโดส

กระจายต่ออีก 72 จังหวัด

กลุ่มที่ 2 จังหวัดที่มีชายแดนติดประเทศเพื่อนบ้าน จังหวัดที่ควบคุมสูงสุด หรือมีความเร่งด่วนในการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ภายหลังการระบาด 23 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ตาก หนองคาย สระแก้ว ระนอง นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา ตรัง ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี นครปฐม พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี บุรีรัมย์ สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย) พังงา และกระบี่ รวมกัน 2.5 ล้านโดส

อีก 49 จังหวัดที่เหลือได้รับวัคซีน 3.5 ล้านโดส เฉลี่ยจังหวัดละ 7 หมื่นโดส รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ ได้แก่ หน่วยฉีดส่วนกลาง องค์กรภาครัฐ และสำรองส่วนกลางสำหรับตอบโต้การระบาด 1 ล้านโดส ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการส่งมอบของบริษัทผู้ผลิตวัคซีน และเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์

สั่งซิโนแวคเพิ่ม 28 ล้านโดส

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า การจัดหาวัคซีนจากเดิม 100 ล้านโดส จะต้องเผื่อไว้ ที่ประชุมจึงเห็นชอบการจัดสรร 150 ล้านโดส ในปี 2565 โดยเพิ่มเติมกลุ่มเป้าหมายให้วัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรค หรือกรณีอื่นใดที่ต้องใช้วัคซีนเพิ่มเติม ขณะนี้มีการจัดหาเจรจาจองวัคซีนแล้ว 105 ล้านโดส ประกอบด้วย แอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส ซิโนแวค 19.5 ล้านโดส ไฟเซอร์ 20 ล้านโดส จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน 5 ล้านโดส

ดังนั้น ไทยต้องเตรียมงบประมาณจัดหาเพิ่มเติมให้ครบ 150 ล้านโดส โดยให้ภาครัฐจัดหาวัคซีนซิโนแวค 28 ล้านโดส วัคซีนอื่น ๆ 22 ล้านโดส ทั้งนี้ ขึ้นกับผลการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีน และสถานการณ์ของเชื้อกลายพันธุ์

อนุมัติภูเก็ตแซนด์บอกซ์

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมได้พิจารณาหลักการเปิดพื้นที่นำร่องรับนักท่องเที่ยวใน จ.ภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า) ที่เสนอโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในหลักการเปิดพื้นที่นำร่อง จ.ภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี แต่ยังเน้นหนักที่ภูเก็ต

เกณฑ์การรับนักท่องเที่ยวจะต้องเป็นกลุ่มประเทศเสี่ยงต่ำ และปานกลาง และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เลือกบางประเทศ กรณีมาจากประเทศอื่นต้องอยู่ในประเทศที่กำหนดอย่างน้อย 21 วัน การได้รับวัคซีนที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่กำหนดไว้ คือ แอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ซิโนฟาร์ม โมเดอร์นา ครบ 2 เข็ม อย่างน้อย 14 วัน และมีเอกสารรับรองการได้รับวัคซีนตามกำหนด กรณีเด็กมากับผู้รับวัคซีนให้เดินทางพร้อมผู้ปกครองได้ กรณีเคยติดเชื้อต้องได้รับวัคซีนตามกำหนด 2 เข็ม อย่างน้อย 14 วัน และมีผลการตรวจโควิด-19 ภายใน 72 ชั่วโมง

ตั้งวอร์รูมคุมเปิดเมือง

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ในส่วนของที่พำนักจะต้องพำนักในภูเก็ต 14 คืน จึงสามารถเดินทางออกไปจังหวัดอื่น ๆ ได้ และถ้าอยู่น้อยกว่าจะต้องกลับออกนอกราชอาณาจักรเท่านั้น และต้องตรวจหาโควิดอีก 2 ครั้งขณะอยู่ในไทย นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขมีข้อมีมาตรการกำกับเพิ่มเติม ดังนี้ 1.จ.ภูเก็ต จัดตั้งคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการควบคุมการเปิดเมือง มีองค์ประกอบเป็นผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน และมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน

ส่วนเกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า มีระบบกำกับควบคุมในที่พัก (COVID manager อาสาสมัครสาธารณสุขประจำโรงแรม) กำกับควบคุม มีระบบกำกับควบคุมในการเดินทาง sealed route โดยที่พักและบริษัทนำเที่ยว จัดระบบควบคุมคัดกรองด่านเข้า-ออกทางอากาศ และทางเรือ ทั้ง 3 เกาะ และเชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อตรวจสอบ

2.เตรียมความพร้อมประชาชน จัดเวทีแสดงความคิดเห็นของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีแผนการสื่อสารทั้งออนไลน์และออฟไลน์ 3.เตรียมความพร้อมมาตรการการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค โดย จ.ภูเก็ต ใช้ระบบ EOC และ อสม.รายตำบล ใช้แอปพลิเคชั่นหมอชนะ (ภาษาอังกฤษ) ส่วนเกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า มีคณะทำงานดำเนินการตามแผนคัดกรองและเฝ้าระวัง สถานประกอบการมีใบรับรองแสดงภูมิคุ้มกันหมู่ ผู้ให้บริการที่ต้องสัมผัสตรงกับนักท่องเที่ยวต้องใส่ชุดป้องกันและรับวัคซีนครบโดส

พบความเสี่ยง 5 เกณฑ์พับโครงการ

สำหรับการจัดทำแผนรับมือและแผนชะลอ หรือยกเลิกโครงการ ในส่วนภูเก็ต 1.จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 90 ราย/สัปดาห์ 2.ลักษณะการกระจายโรคในจังหวัดทั้ง 3 อำเภอ และมากกว่า 6 ตำบล 3.มีการระบาดเกิน 3 คลัสเตอร์ หรือมีการระบาดในวงกว้าง หาสาเหตุหรือความเชื่อมโยงไม่ได้ 4.ความพร้อมในการรองรับผู้ป่วย มีผู้ติดเชื้อครองเตียงตั้งแต่ร้อยละ 80 ของศักยภาพจังหวัด 5.พบการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์แบบวงกว้าง ควบคุมไม่ได้

โดยมีมาตรการปรับเปลี่ยน 4 ระดับ คือ 1.ปรับลดกิจกรรม 2.sealed route 3.hotel quarantine 4.ทบทวนยุติ Phuket Sandbox ส่วนเกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า หากเกิดการระบาดจนเกินศักยภาพรองรับของโรงพยาบาลสมุย จะดำเนินตามแผนบริหารความเสี่ยงที่วางไว้

“เน้นย้ำวันนี้ยังอยู่ที่ภูเก็ต ส่วนเกาะเต่า เกาะพะงัน และเกาะเต่า ยังเป็นสเต็ปถัดไป ทั้งนี้ วันที่ 1 ก.ค.นี้ พล.อ.ประยุทธ์จะไปคิกออฟการเปิดภูเก็ตแซนด์บอกซ์”

บิ๊กตู่ โทร.จองวัคซีนเพิ่ม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเช้าวันที่ 18 มิ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ได้โทรศัพท์พูดคุยกับ นายหยาง ซิน (Mr. Yang Xin) อุปทูตสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย เพื่อเจรจาซื้อวัคซีนเพิ่มเติม

โดย พล.อ.ประยุทธ์ได้แจ้งที่ประชุม ศบค.ว่า อุปทูตจีนยืนยันว่าจะส่งมอบวัคซีนเพิ่มเติมจากยอดที่ได้จองซื้อไว้ก่อนหน้านี้ ในเดือน มิ.ย. ประกอบด้วย วัคซีนซิโนแวค 2,000,000 โดส และซิโนฟาร์ม 1,000,000 โดส

เปิดแผนกระจายวัคซีน

รายงานข่าวจากกรมควบคุมโรค (คร.) เผยแผนกระจายวัคซีนในเดือน มิ.ย. กว่า 6 ล้านโดสว่า จะจัดส่งกระจายไปยังเขตสาธารณสุขทั้ง 13 เขต และโรงพยาบาลทั่วประเทศ 2 งวด งวดที่ 1 (7-22 มิ.ย.) จัดส่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 ล้านโดส และซิโนแวค 1 ล้านโดส สำหรับ กทม. 5 แสนโดส สำนักงานประกันสังคม 3 แสนโดส ทปอ.-อว. 1.5 แสนโดส หมอพร้อม 76 จังหวัด 1.1 ล้านโดส และองค์กรภาครัฐ 1 แสนโดส งวดที่ 2 (21 มิ.ย.-2 ก.ค.) เป็นแอสตร้าเซนเนก้า 1.5 ล้านโดส ซิโนแวค 2 ล้านโดส

ก่อนหน้านี้ เมื่อ 16 มิ.ย. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการกระจายวัคซีนโควิด-19 ว่า กรมควบคุมโรคได้รับมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 6 แสนโดส และวันที่ 18 มิ.ย. จะรับมอบวัคซีนแอสตร้าฯอีก 1 ล้านโดส รวมเป็น 1.6 ล้านโดส

ขณะที่รายงานจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า สำหรับรายการที่ 1 วัคซีนแอสตร้าฯรอบ 1 จำนวน 6 แสนโดส จะกระจายลงพื้นที่ระหว่างวันที่ 17-19 มิ.ย.นี้ รายการที่ 2 วัคซีนแอสตร้าฯรอบ 2 จำนวน 9 แสนโดส กระจายลงพื้นที่ 19-21 มิ.ย.นี้ ส่วนวัคซีนซิโนแวค ลอต 1 ล้านโดส ยังอยู่กระบวนการตรวจสอบคุณภาพ จะกระจายได้ปลายเดือน มิ.ย.

ซื้อวัคซีนเพิ่มอีก 3 ยี่ห้อ

สำหรับแผนการจัดหาวัคซีนจำนวน 100 ล้านโดส ภายในสิ้นปีนี้ ปัจจุบันมีวัคซีนเข้ามาแล้วกว่า 8 ล้านโดส แบ่งเป็น แอสตร้าเซนเนก้า 2.1 ล้านโดส ซิโนแวค 6 ล้านโดส นอกจากนี้ สาธารณสุขยังได้เซ็นสัญญาซื้อวัคซีนแอสต้าเซนเนก้า ซึ่งยังอยู่ระหว่างการผลิตและเตรียมทยอยจัดส่งอีก 60 ล้านโดส จะทยอยส่งมอบเดือนละ 10 ล้านโดส ตั้งแต่เดือน ก.ค.-พ.ย. และ ธ.ค.อีก 5 ล้านโดส ที่เหลือ 37 ล้านโดส อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อซื้อเพิ่ม อาทิ ไฟเซอร์ 20 ล้านโดส จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน 10 ล้านโดส และซิโนแวค 7 ล้านโดส

นอกจากนี้จะเป็นวัคซีนทางเลือก “โมเดอร์นา” ที่นำเข้าโดยสมาคมโรงพยาบาลเอกชน โดยองค์การเภสัชกรรม 10 ล้านโดส ช่วงเดือน ต.ค. และวัคซีนตัวเลือก “ซิโนฟาร์ม” โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เบื้องต้นจะนำเข้าลอตแรก 1 ล้านโดส ปลายเดือน มิ.ย.

ขณะที่ฐานข้อมูล MOPH Immunization Center กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ตั้งแต่ 28 ก.พ.-16 มิ.ย. มีผู้ได้รับวัคซีนโควิด-19 สะสมทั้งสิ้น 7,003,783 โดส แบ่งเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 5,114,755 ราย และฉีดครบ 2 เข็ม 1,889,028 ราย

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เปิดเผยรายงานผลสรุปจำนวนองค์กรที่ยื่นความประสงค์ขอรับวัคซีนตัวเลือก “ซิโนฟาร์ม” ตั้งแต่ 14-17 มิ.ย.ว่า มีทั้งหมด 14,634 องค์กร และบุคคลที่องค์กรยื่นขอรับการจัดสรรสะสม 4,545,272 คน

ลุ้นหนัก 120 วันเปิดประเทศ

แหล่งข่าวระดับสูงจากโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่แสดงความเห็นถึงกรณีพลเอกประยุทธ์ ประกาศจะเปิดประเทศภายใน 120 วัน และตั้งเป้าเดือน ต.ค. คนไทยฉีดวัคซีนเข็มแรก 50 ล้านคน ว่าเป็นความท้าทายที่ต้องลุ้นมาก มีตัวแปรหลัก 2 เรื่อง คือ วัคซีน ที่ยังรอการส่งมอบจากบริษัทผู้ผลิต หากเลื่อนส่งมอบ หรือการผลิตมีปัญหาไม่สามารถส่งได้ตามแผน จะกระทบกับแผนการฉีดเป็นลูกโซ่ อีกเรื่องก็คือ ปัญหาการแพร่ระบาด หรือคลัสเตอร์ใหม่ ๆ ที่ยังไม่สามารถตัดวงจรได้ เท่ากับต้องทำงานหนัก 2 ด้าน

“สำหรับการฉีดวัคซีน คิดคร่าว ๆ ว่า ขณะนี้คนไทยฉีดไปแล้ว 7 ล้านคน ตามเป้า 50 ล้านคน เหลือ 43 ล้านคน ต้องเร่งฉีดภายใน 120 วัน เท่ากับต้องฉีดให้ได้วันละ 350,000-360,000 คน” แหล่งข่าวกล่าว

พร้อมเปิดทุกจังหวัดทั่วประเทศ ต.ค.นี้

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้ย้ำว่า การเปิดประเทศเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ และกำหนดแนวทางการเปิดประเทศของจังหวัดที่เป็นพื้นที่นำร่องสำหรับเป็นโมเดลให้กับจังหวัดอื่น ๆ นำไปพัฒนาต่อไป และเพื่อเป็นการดำเนินการให้สอดรับกับนโยบายเปิดประเทศภายใน 120 วัน ทางกระทรวงจึงปรับแผนการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง โดยใช้พื้นที่จังหวัดภูเก็ต ภายใต้ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 นี้

จากนั้นทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศที่มีความพร้อมสามารถเปิดดำเนินการได้เลยทันที ภายใต้เงื่อนไขเดียวกับจังหวัดภูเก็ต อาทิ ประชาชนในจังหวัดนั้น ๆ ต้องได้รับวัคซีน 70% สถานประกอบการจำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีน 100% (ขึ้นอยู่กับประเภทวัคซีน) มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่เกิน 20-30 รายต่อวัน เป็นต้น

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวเสริมถึงแผนการดำเนินภายในนโยบายใหม่ของกระทรวงการท่องเที่ยวฯว่า ททท.จะดำเนินการเปิดเมือง (พื้นที่นำร่อง) ที่จังหวัดภูเก็ต (Better Phuket) ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ตามด้วยเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ในรูปแบบ sealed routes (0+3+4+7) จากนั้นจะเปิดกระบี่ (เกาะพีพี เกาะไหง และไร่เลย์), พังงา (เขาหลัก เกาะยาว) ในเดือนสิงหาคม 2564

และเปิดเชียงใหม่ (อ.เมือง แม่ริม แม่แตง ดอยเต่า) ชลบุรี (พัทยา บางละมุง สัตหีบ) บุรีรัมย์ (อ.เมือง สนามช้างอารีน่า) ในเดือนกันยายน และในเดือนตุลาคม มีแผนเปิดกรุงเทพฯ, ชะอำ, หัวหิน และจังหวัดอื่น ๆ ที่มีความพร้อมตามเงื่อนไข

ศรีตรังโกลฟส์หนุนเปิดประเทศ

นางสาวจริญญา จิโรจน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ STGT เปิดเผยว่า ไทยต้องเปิดประเทศ 120 วัน ตามไทม์ไลน์เพราะต้องอยู่กับโควิดให้ได้ และต้องมีมาตรการดูแลผลกระทบภาคเอกชน ทั้งภาคการผลิต การท่องเที่ยว

โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนต้องทำให้ได้ตามไทมไลน์ สร้างภูมิคุ้มกันหมู 70% ซึ่งรัฐและเอกชนต้องร่วมมือกัน ในส่วนของบริษัทได้จองใช้วัคซีนซิโนฟาร์มฉีดเข็มแรกให้พนักงานทุกคน รวม 10,000 โดส และได้จองผ่านช่องทางอื่นทุกช่องทาง ทั้งผ่านกระทรวงสาธารณสุข ผ่านประกันสังคม มาตรา 33