ธุรกิจโรงแรมไร้ทางเลือก ชี้ “ฮอสพิเทล” ช่วยแค่ลดขาดทุน

ฮอสพิเทล+มาริสา
มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA)
สัมภาษณ์

จากรายงานของกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า ในช่วงครึ่งปีแรก (มกราคม-มิถุนายน 2564) ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติประเภทพิเศษ (STV) รวมถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มสิทธิพิเศษ (Thailand Privilege Card) และนักธุรกิจ รวมจำนวน 5,694 คน

ขณะที่ผลการสำรวจของสมาคมโรงแรมช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยสำรวจจากโรงแรมทั่วไป 200 แห่ง พบว่า มีโรงแรมที่เปิดกิจการปกติเพียงแค่ 41% เท่านั้น เปิดบริการบางส่วนมากกว่า 50% มี 9.5% เปิดให้บริการบางส่วนน้อยกว่า 50% มี 30% และปิดกิจการชั่วคราว 19.5%

ย้ำชัดวัคซีนคือคำตอบสุดท้าย

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “มาริสา สุโกศล หนุนภักดี” นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) ถึงการประเมินภาพรวม รวมถึงแนวทางการปรับตัวของธุรกิจโรงแรมในขณะนี้ ไว้ดังนี้

“มาริสา” บอกว่า วิกฤตครั้งนี้ถือเป็นจุดแตกหัก หรือจุดเปลี่ยนของธุรกิจอย่างหนัก รวมถึงธุรกิจโรงแรมด้วย ซึ่งมีหลายประเด็นที่เจ้าของโรงแรม หรือผู้บริหารต้องคิดใหม่ ทำใหม่รอบด้านจริง ๆ ทั้งในมุมของการบริหาร และจำนวนพนักงาน และรูปแบบการจ้างงาน

และมองว่าหัวใจสำหรับการบริหารวิกฤตเศรษฐกิจขณะนี้นั้น “วัคซีน” ยังเป็นคำตอบสุดท้ายที่ดีที่สุด หากมีการกระจายและฉีดวัคซีนในสัดส่วนที่เกินภูมิคุ้มกันหมู่ (hard immunity) ได้เร็วก็น่าจะทำให้เกิดการเดินทางสำหรับตลาดภายในประเทศได้บ้าง

หวังธุรกิจพลิกฟื้นต้นปี’65

แต่ปัจจุบันนี้ธุรกิจยังไม่เห็นแผนการกระจายวัคซีนที่ชัดเจนเท่าไหร่ ยกเว้นที่นายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ออกมาประกาศว่า จะเปิดประเทศภายใน 120 วัน เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งตามไทม์ไลน์น่าจะประมาณกลางเดือนตุลาคมนี้

ในทางกลับกันยังมีสำนักวิจัยบางแห่ง บอกว่า สถานการณ์ตอนนี้ยังไม่ถึงช่วงพีก บางสำนักก็บอกว่าจะพีกสุดในเดือนกันยายน สรุปแล้วทุกอย่างยังคาดการณ์ไม่ได้ ดังนั้น แผนการกระจายวัคซีนให้ครอบคลุมได้เร็วที่สุดจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเมื่อไหร่ที่ยังฉีดวัคซีนไม่ทั่วถึงก็จะยังคงมีการแพร่ระบาดอยู่เหมือนเดิม

“ตอนสายพันธุ์เดลต้ายังไม่มา รัฐบาลประกาศให้จัดงานเลี้ยงได้แค่ 20 คน ในหลักการธุรกิจแล้วทำไปก็ไม่คุ้ม แม้แต่ 50 คนก็ยังไม่ได้เงิน รายได้ไม่พอตอนนี้เลยคิดว่าสถานการณ์โดยรวมน่าจะลากยาวไปจนถึงเดือนมกราคม ปี 2565”

พร้อมยกตัวอย่าง กรณีของ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” ว่า ขนาดทุกภาคส่วนพยายามช่วยกันขับเคลื่อน มีภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนลงแรง ผลตอบรับก็ยังไม่หวือหวานัก ตอนนี้ก็รอดูการเดินหน้าเปิดเมืองในพื้นที่อื่น ๆ อยู่ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร ในนามสมาคมโรงแรมจึงอยากขอให้รัฐบาลช่วยสนับสนุน และเร่งฉีดวัคซีนให้ได้เร็วที่สุด เพื่อให้เกิดการเดินทางภายในประเทศกลับมาได้บ้างสำหรับในบางพื้นที่

ส่วนตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้น “มาริสา” บอกว่า ในสถานการณ์ตอนนี้ได้พยายามใช้เหตุผลหลาย ๆ ปัจจัยในการคิดแล้ว แต่ก็ยังประเมินไม่ออกมาว่าจะเห็นนักท่องเที่ยวเริ่มเดินทางกันก่อนต้นปี 2565 ได้อย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าพื้นที่ในจังหวัดภาคใต้อย่าง ภูเก็ต กระบี่ พังงา หรือพื้นที่ที่เป็นเกาะนั้นมีโอกาสที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้บ้างตามโครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์ แต่สำหรับพื้นที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ จนถึงเวลานี้ก็ยังคาดการณ์ยากมากจริง ๆ

ธุรกิจปิดชั่วคราวครึ่งตลาด

“มาริสา” บอกด้วยว่า จากการสำรวจข้อมูลของโรงแรมที่เป็นสมาชิกสมาคมโรงแรมที่ผ่านมาพบว่า ปัจจุบันในพื้นที่กรุงเทพฯ มีโรงแรมที่ปิดชั่วคราวไปมากถึงราว 50% เนื่องจากไม่มีทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวคนไทย ที่สำคัญการที่รัฐบาลออกมาตรการควบคุมการเดินทาง ห้ามไม่ให้จำหน่ายอาหาร ไม่ให้จัดงานอีเวนต์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด ธุรกิจโรงแรมก็ไม่รู้จะเอาลูกค้ามาจากที่ไหน

เหตุผลเหล่านี้ภาคธุรกิจโรงแรมเข้าใจ แต่ก็อยากขอร้องว่าอย่าให้สถานการณ์เป็นแบบนี้ไปจนถึงสิ้นปีเลย เพราะผู้ประกอบการไม่ไหวกันมานานแล้ว ถึงตอนนี้เกิน 1 ปีแล้ว

วันนี้โรงแรมแต่ละแห่งมีอัตราการเข้าพักกันเพียงแค่ 5-10% ที่ไหนมีอัตราการเข้าพักที่ 9-10% ถือว่าเยอะที่สุดในช่วงเวลานี้ โดยโรงแรมที่ยังพอมีลูกค้าอยู่บ้าง ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่และมีเรซิเดนต์รองรับสำหรับผู้พักระยะยาวด้วยเป็นหลัก ที่สำคัญเกือบ 50% ยังคงมีรายได้น้อยกว่า 10% เมื่อเทียบกับช่วงปกติ

ปรับตัวสู่ “ฮอสพิเทล”

เมื่อถามว่า โมเดล “ฮอสพิเทล” หรือ hospitel ที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดในเวลานี้ สามารถเข้ามาเป็นตัวช่วยหรือตอบโจทย์ในเชิงธุรกิจขณะนี้ได้หรือไม่ “มาริสา” บอกว่า การปรับตัวของโรงแรมด้วยการทำเป็นฮอสพิเทล หรือหอผู้ป่วยเฉพาะกิจในเวลานี้ยอมรับว่า ทำให้โรงแรมที่เข้าร่วมโครงการมีรายได้เข้ามาช่วยลดการขาดทุน (cut loss) และแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายได้บ้างบางส่วน

ส่วนประเด็นการตอบโจทย์ในเชิงธุรกิจหรือไม่นั้นไม่ชัดเจนนัก เพราะเป็นรูปแบบที่ไม่มีความแน่นอน เป็นอะไรที่ระยะสั้น เพียงแต่บังเอิญว่าช่วงนี้มีคนป่วยจำนวนเยอะมาก ทำให้โรงแรมบางส่วนตัดสินใจปรับตัวรับและลงทุนเปลี่ยนโรงแรมเป็น hospitel โดยในส่วนของสมาชิกสมาคมโรงแรมในกรุงเทพฯนั้น ปัจจุบันได้ปรับตัวเองไปแล้วรวม 16 แห่ง

แนะรัฐวางไกด์ไลน์ให้ชัดเจน

“มาริสา” ยังบอกด้วยว่า ยอมรับว่า เวลานี้ฮอสพิเทลเป็นที่ต้องการของตลาด เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันยังเพิ่มสูง แต่โดยหลักการแล้วก็ใช่ว่าทุกโรงแรมที่สนใจจะสามารถเข้าร่วมได้ เนื่องจากต้องมีโรงพยาบาลเข้ามาเป็นคู่สัญญา

ซึ่งส่วนใหญ่โรงแรมที่เข้าร่วมในช่วงแรกจะเป็นโรงแรมที่เป็น ASQ หรือ SQ ซึ่งมีความพร้อมสำหรับรองรับอยู่แล้ว ส่วนโรงแรมใหม่ที่จะเข้าร่วมนั้น โรงพยาบาลจะเลือกโรงแรมที่มีจำนวนห้องเยอะ ๆ หรือมากกว่า 100 ห้องขึ้นไป เพราะจะเอื้อต่อระบบการส่งทีมแพทย์ พยาบาลเข้ามาดูแล

ขณะเดียวกัน เจ้าของที่จะนำโรงแรมเข้าเป็นฮอสพิเทลได้ก็ต้องมีเงินทุนจำนวนหนึ่งสำหรับปรับเปลี่ยนฮาร์ดแวร์บางส่วน รวมถึงต้นทุนในด้านการบริหารที่เพิ่มขึ้น ใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้แล้วทิ้ง โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานทำความสะอาดห้องพักที่ใกล้ชิดผู้ป่วย พนักงานช่าง พนักงานบริหาร พนักงานรักษาความปลอดภัยรวมถึงแผนกอาหาร เพราะโรงแรมต้องบริการอาหารให้ผู้ป่วย 3 มื้อต่อวัน

ตอนนี้โรงแรม “ฮอสพิเทล” ทุกแห่งเต็ม รัฐบาลก็มีแนวคิดให้มีจำนวนมากขึ้น แต่ระบบก็ยังมีคอขวดสำหรับผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วม ซึ่งประเด็นนี้อยากให้รัฐบาลกำหนดไกด์ไลน์ให้ชัดเจนว่า โรงแรมที่จะเข้าร่วมนั้นต้องมีเงื่อนไขอะไรบ้าง เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เตรียมความพร้อม

เพราะสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ณ วันนี้โรงแรมไม่มีทางเลือกอื่น ไม่มีธุรกิจ ไม่มีคนเข้าพัก “ฮอสพิเทล” จึงเป็นแนวทางที่หลาย ๆ โรงแรมเลือกในเวลานี้ แต่ก็มีหลายโรงแรมที่ทำในช่วงเริ่มต้นแรก ๆ ส่วนใหญ่มองในเรื่องของการช่วยเหลือสังคม มากกว่าคาดหวังด้านรายได้