อัดงบพิเศษบูมเที่ยวเมืองรอง ปลุกศก.-เพิ่มรายได้ท้องถิ่น

“สมคิด” อัดฉีดงบฯพิเศษ 6-7 พันล้าน หนุนโครงการเกษตร-ท่องเที่ยว บูมท่องเที่ยวเมืองรอง หวังกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ก.ท่องเที่ยวฯเร่งประสาน “คมนาคม-มหาดไทย-คลัง” เตรียมแผนรองรับนักท่องเที่ยว พร้อมดันออกมาตรการภาษีจูงใจ ขณะที่ “ทอท.-กรมท่าอากาศยาน” เดินหน้าพัฒนาสนามบินทั่วประเทศรองรับ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากกว่า 30 ล้านคนส่งผลให้มีรายได้ของการท่องเที่ยวเทียบถึงราว 20% ของผลิตมวลรวมในประเทศ(GDP) คิดเป็น 1 ใน 5 ของรายได้หลักของประเทศ และเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในขณะนี้

อัดงบฯพิเศษเพิ่ม 6-7 พันล้าน

นายสมคิดกล่าวว่า ในปี 2561 นี้ รัฐบาลมีนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กระจายจากเมืองหลักออกไปสู่เมืองรอง หรือระดับชุมชนมากขึ้น เพื่อกระจายรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่น และลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ซึ่งรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนด้านงบประมาณให้กับชุมชน เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในแต่ละจังหวัดอย่างเต็มที่

“รัฐบาลมีงบประมาณที่เหลือจากปี 2560 ประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาท ซึ่งจะให้กับชุมชน งบฯนี้อยู่นอกเหนือจากงบฯปกติขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่เตรียมไว้ประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยแต่ละชุมชนต้องคิดโครงการด้านการเกษตรและด้านการท่องเที่ยว แล้วเสนอไปที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นภายในเดือนมีนาคมปี 2561”

นายสมคิดกล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มอบหมายให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เร่งกระจายรายได้ไปยังเมืองรอง โดยใช้ยุทธศาสตร์ระดับกลุ่มจังหวัดที่มีอยู่แล้วเป็นหนึ่งในเครื่องมือการพัฒนา และให้ออกแบบเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมต่อการเดินทางสู่เมืองรอง โดยใช้กลไกการขนส่งต่าง ๆ ทั้งทางอากาศ รถไฟ รถทัวร์ มาเป็นตัวเชื่อมโยง

“วีระศักดิ์” ประสานรอบทิศ

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ได้มอบนโยบายให้ ททท.ไปแล้ว (20 ธันวาคม) และให้เวลา 1 ปี ที่ ททท.จะทำงานประสานและเชื่อมโยงกับหน่วยงานฝั่งพัฒนาซัพพลายด้านท่องเที่ยวให้มากขึ้น พร้อมกันนี้ยังได้ประสานไปยังหลาย ๆ กระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงคมนาคม ได้หารือกันในเรื่องระบบการขนส่ง ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.กระทรวงคมนาคม ก็ได้มอบนโยบายต่อให้กรมท่าอากาศยานวางแผนพัฒนาสนามบินรองรับ

นอกจากนี้ ยังได้หารือกับพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เกี่ยวกับแนวทางการผลักดันให้บ้านเรือนหรือห้องแถวของคนทั่วไปในย่านท่องเที่ยวและสตรีตฟู้ดจัดบริการห้องน้ำ โดยมีมาตรการจูงใจเรื่องลดหย่อนภาษีป้ายและโรงเรือน รวมถึงการจูงใจให้ร้านสะดวกซื้อหันมาทำห้องน้ำรองรับนักท่องเที่ยวเหมือนในต่างประเทศ พร้อมทั้งได้หารือกับกระทรวงการคลัง ในเรื่องมาตรการลดหย่อนภาษีท่องเที่ยวเมืองรอง เพื่อไม่ให้คนไปกระจุกเที่ยวในช่วงใดช่วงหนึ่ง และไม่ทำลายระบบซัพพลายของเมืองรอง เพื่อให้เกิดความยั่งยืน

“ตอนนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ และ ททท. อยู่ระหว่างการกำหนดคำนิยามของ “เมืองรอง” โดยหลักการที่ผมใช้อยู่ตอนนี้คือ อะไรที่ไม่ใช่เมืองหลัก โดยหลักการแปลว่าเมืองรอง เช่น จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีสมุยเป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก แต่มีพื้นที่อื่น ๆ เป็นเมืองรอง ซึ่งเราต้องเอาข้อมูลพื้นฐานที่กระทรวงมหาดไทยมีอยู่มาค้นหาความเหลื่อมล้ำ รายได้-หนี้สิน ครัวเรือน เพื่อให้ท่องเที่ยวตอบโจทย์เรื่องเหล่านี้ด้วย”

หนุนเปิดเส้นทางบินสู่เมืองรอง

แหล่งข่าวจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า ปัจจุบันเมืองท่องเที่ยวหลักของไทยมี 14 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ, นครราชสีมา, กาญจนบุรี, ชลบุรี, เชียงใหม่, ระยอง, เพชรบุรี, อยุธยา, ขอนแก่น, สงขลา, ประจวบคีรีขันธ์, สระบุรี, ภูเก็ต และนครปฐมส่วนเมืองรอง คือเมืองที่อยู่ในโครงการ 12 เมืองที่ต้องห้ามพลาด ประกอบด้วย ลำปาง, น่าน, เพชรบูรณ์, เลย, บุรีรัมย์, จันทบุรี, ตราด, สมุทรสงคราม, ราชบุรี, ชุมพร, นครศรีธรรมราช และตรัง ส่วนที่เหลืออีก 51 จังหวัดถือเป็นเมืองรองในระดับชุมชน

“ต้นไตรมาสที่ 4 ททท.ได้ทำโครงการ เที่ยวทั่วไทย ไปถึงถิ่น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ และกระจายการท่องเที่ยวไปยังเมืองรอง และได้ประชุมร่วมกับตัวแทนสายการบิน เพื่อกระตุ้นตลาดนักท่องเที่ยวขาเข้า (อินบาวนด์) โดยเฉพาะเส้นทางจากเมืองรองของประเทศต่าง ๆ สู่เมืองรองของไทย เช่น เปิดเส้นทางบินตรงจากเมืองรองของญี่ปุ่นสู่กระบี่ เชียงราย เป็นต้น โดย ททท.พร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่

ทุ่มงบฯพัฒนา-ขยาย “สนามบิน”

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทยจำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ขณะนี้ ทอท.อยู่ระหว่างการเร่งพัฒนาศักยภาพการรองรับผู้โดยสารของท่าอากาศยานหลักทั้ง 6 แห่ง ตามแผนลงทุนระยะยาว 10 ปี (ปี 2559-2568) ภายใต้วงเงินประมาณ 2.2 แสนล้านบาท ให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 185 ล้านคนต่อปีในปี 2568 ตามแผนพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิจะรองรับผู้โดยสารได้ 90 ล้านคนต่อไป ในปี 2564, ดอนเมือง40 ล้านคนต่อไป ในปี 2565, เชียงใหม่ 20 ล้านคนต่อไป ในปี 2573, ภูเก็ต 18 ล้านคนต่อไป ในปี 2565, แม่ฟ้าหลวงเชียงราย 3 ล้านคนต่อไป ในปี 2565 และหาดใหญ่ 10 ล้านคนต่อไป ในปี 2573

ขณะที่ นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) กระทรวงคมนาคม ที่กล่าวว่า ได้วางแผนจะพัฒนาสนามบิน 29 แห่งในสังกัด ให้เป็นสนามบินเพื่อการท่องเที่ยว (ทัวริสต์แอร์พอร์ต) เพื่อช่วยกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวลงสู่ภูมิภาค โดยมีแผนดำเนินงานในหลากหลายโมเดล ทั้งพัฒนาเอง แบ่งให้ ทอท.บริหาร และเปิดให้เอกชนอื่นเข้ามาร่วมลงทุน (PPP)

โดยระยะแรกนี้มีแผนพัฒนาสนามบินระนอง บุรีรัมย์ และน่าน ให้เป็นทัวริสต์แอร์พอร์ต เพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวได้ย่างครบวงจร ซึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 สายการบินแอร์เอเชียก็จะเปิดเส้นทางบินสู่ระนองจากก่อนหน้านี้ที่ นกแอร์เปิดให้บริการอยู่แล้วเป็นต้น นอกจากนี้ กรมท่าอากาศยานยังมีแผนให้สิทธิ์การบริหารสนามบินกับ ทอท.อีก 2 แห่ง คือ อุดรธานี และตากเพื่อให้ ทอท.มีสนามบินครอบคลุมทุกภาค

ส่วนรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) ได้กำหนดให้ 4 แห่ง เป็นสนามบินเป้าหมาย ได้แก่ ลำปาง, เพชรบูรณ์, นครราชสีมา และชุมพร

ปี”61 รายได้ทะลุ 3.1 ล้านล้าน

จากรายงานของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า ประเทศไทยมีรายได้จากภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในปี 2558 รวมทั้งหมด 2.25 ล้านล้านบาท เป็นรายได้จากตลาดต่างประเทศ 1.45 ล้านล้านบาท และคนไทยเที่ยวในประเทศ 8 แสนล้านบาท ส่วนปี 2559 มีรายได้รวม 2.51 ล้านล้านบาท เป็นรายได้จากตลาดต่างประเทศ 1.64 ล้านล้านบาท และตลาดคนไทยเที่ยวในประเทศ 8.69 แสนล้านบาทและปี 2560 นี้คาดการณ์ว่าจะมีรายได้จากภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรวม 2.7 ล้านล้านบาท เป็นรายได้จากตลาดต่างประเทศ 1.78 ล้านล้านบาท และตลาดคนไทยเที่ยวในประเทศ 9.34 แสนล้านบาท และเพิ่มเป็น 3.1 ล้านล้านบาท ในปี 2561 เป็นรายได้จากตลาดต่างประเทศ2.1 ล้านล้านบาท และตลาดคนไทยเที่ยวในประเทศอีก 1 ล้านล้านบาท