การบินไทยยิ้มรับดีมานด์ฟื้น รุกหนักทั้งเที่ยวบิน “คาร์โก้-ผู้โดยสาร”

การบินไทย

“การบินไทย” เปิดเกมรุกหนัก ! ทั้งบริการคาร์โก้-เที่ยวบินโดยสาร เผย 2 ปีนี้ “คาร์โก้” คือฮีโร่สร้างรายได้ หนุนกระแสเงินสด ขยับเอ็มโอยูร่วม ปตท. ศึกษาโอกาสการขยายธุรกิจสู่โลจิสติกส์เต็มรูปแบบ ขณะที่เที่ยวบินโดยสารตามตารางบินฤดูร้อนอัตราขนส่งผู้โดยสารเติบโตต่อเนื่องทุกเดือน จ่อเพิ่มความถี่ในเส้นทางที่มีความแข็งแกร่งรองรับดีมานด์ไหลกลับช่วงไตรมาส 4

นายสุวรรธนะ สีบุญเรือง รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศ (คาร์โก้) เติบโตดีและชัดเจน ทำให้บริษัทมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจคาร์โก้สูงถึง 70% ของรายได้รวมทั้งหมด โดยตลาดที่มีการเติบโตสูงคือ ตลาดยุโรปและตลาดเอเชีย

และเมื่อแต่ละประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค รายได้จากธุรกิจดังกล่าวก็ยังคงขยายตัวดี เนื่องจากยังมีความต้องการขนส่งสินค้าที่สูงต่อเนื่อง แต่อาจมีสัดส่วนที่ลดลงเนื่องจากหลายประเทศอนุญาตให้สามารถเดินทางระหว่างประเทศได้ ทำให้รายได้ในส่วนของผู้โดยสารเริ่มกลับมาเติบโตขึ้นตามลำดับ

“ในอดีตรายได้จากธุรกิจคาร์โก้ไม่ค่อยดี แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจคาร์โก้คือ ฮีโร่ในการสร้างรายได้ของเรา ที่สำคัญ รายได้จากคาร์โก้ทำให้การบินไทยมีกระแสเงินสดและมีสภาพคล่องที่มากขึ้น” นายสุวรรธนะกล่าว

นายสุวรรธนะกล่าวว่า กรุงเทพฯมีข้อได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ เป็นเหมือนศูนย์กลางการขนส่งและเชื่อมต่อแต่ละภูมิภาค ดังนั้น สินค้าที่เดินทางเข้ามาไม่ได้เข้าสู่ประเทศไทยเพียงอย่างเดียว แต่สินค้าสามารถใช้กรุงเทพฯเป็นจุดส่งต่อ (transit) สินค้าไปยังเมืองอื่น ๆ ทั่วโลกได้ด้วย

ทั้งนี้ ปัจจุบันการบินไทยกำลังอยู่ในช่วงของการศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายธุรกิจคาร์โก้เพิ่มเติม โดยล่าสุดได้ลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมมือทางธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ ร่วมกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยหวังว่าจะใช้ข้อได้เปรียบของทั้ง 2 ฝ่ายขยายศักยภาพซึ่งกันและกัน

“ปัจจุบันการบินไทยใช้เครื่องบินโดยสารมาขนส่งสินค้าด้วย มีเครื่องบินขนส่งสินค้าไม่กี่ลำ หากแผนการศึกษาร่วมกับ ปตท.ไปในทิศทางบวก มองเห็นโอกาสในการขยายธุรกิจ และจำเป็นต้องการมีเครื่องบินขนส่งสินค้าโดยตรง บริษัทอาจนำเครื่องบินที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น แอร์บัส A330 หรือโบอิ้ง 777 รุ่นเก่า มาดัดแปลงเป็นเครื่องบินขนส่งสินค้าในอนาคต”

“ในการขยายฝูงบินด้านคาร์โก้โดยเฉพาะ เราจำเป็นต้องศึกษาความเป็นไปได้ให้มั่นใจก่อนว่าธุรกิจจะประสบความสำเร็จจริง ๆ” นายสุวรรธนะกล่าว

ด้านนายนนท์ กลินทะ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงผลตอบรับในส่วนของผู้โดยสารว่า ขณะนี้เส้นทางการบินตามตารางบินฤดูร้อน 2565 ที่ให้บริการได้รับการตอบรับที่ดีมาก ทั้งเส้นทางสู่ยุโรป เอเชีย และออสเตรเลีย

โดยนับตั้งแต่ที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศแบบ Test & Go เมื่อ 1 พฤศจิกายน 2564 และยกเลิกการตรวจหาเชื้อโควิดก่อนเดินทางเมื่อ 1 เมษายน 2565 และ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมาที่ยกเลิกการตรวจหาเชื้อเมื่อเดินทางมาถึง พบว่ามีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจนในทุกเส้นทางบิน โดยเฉพาะที่นั่งชั้นธุรกิจ (business class) ได้รับการตอบรับที่ดีและขายหมดก่อนที่นั่งในชั้นประหยัด (economy class) ตลอด

“การขยายตัวของอัตราการขนส่งผู้โดยสาร หรือ cabin factor ของการบินไทยเพิ่มตลอด เฉลี่ยประมาณ 5-10% ทุก ๆ เดือนในทุกเส้นทาง โดยเฉพาะเส้นทางบินสู่ยุโรปและออสเตรเลีย ขณะที่อินเดียก็เป็นตลาดใหม่ที่เริ่มเห็นสัญญาณการเติบโตที่ดีมาก ซึ่งตอนนี้เราก็ทยอยเพิ่มความถี่เที่ยวบินเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการเดินทางของผู้โดยสาร” นายนนท์กล่าว

และว่า สำหรับเส้นทางซาอุดีอาระเบียนั้นคาดว่าน่าจะสามารถเปิดได้ตามแผนที่วางไว้ คือ ประมาณเดือนกรกฎาคม 2565

นายนนท์กล่าวด้วยว่า สำหรับตลาดในภูมิภาคเอเชียนั้น ขณะนี้ผลตอบรับของตลาดเกาหลีซึ่งทำการบินเส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-โซล ทุกวัน ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก ส่วนญี่ปุ่นที่ให้บริการ 3 จุดหมายปลายทาง คือ โตเกียว (นาริตะ, ฮาเนดะ), นาโกยา และโอซากานั้น ปัจจุบันตลาดยังเปิดไม่เต็มที่ ยังจำกัดจำนวนคนเดินทางเข้า ทำให้ในส่วนของรายได้จากผู้โดยสารยังไม่ขยายตัวมากนัก

“เส้นทางบาหลีที่เราเพิ่งเปิดตัวเลขยอดจองออกมาดีมาก อัตราการขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ประมาณ 60-70% ส่วนเส้นทางใหม่ตอนนี้เราขอศึกษาตลาดซาอุดีอาระเบียให้เรียบร้อยก่อน” นายนนท์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การบินไทยได้เตรียมวางแผนงานสำหรับรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะกลับมาเป็นจำนวนมากในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ ด้วยการเพิ่มความถี่เที่ยวบินในตลาดที่มีความแข็งแกร่งแล้ว นอกจากนี้อาจจะกลับมาทบทวนทำการบินสู่เมืองที่การบินไทยเคยทำการบินในก่อนหน้านี้แต่ขณะนี้ยังไม่ได้บินควบคู่กันไปด้วย

ทั้งนี้ เมื่อต้นเดือนเมษายน 2565 บริษัทได้รับมอบเครื่องบินแบบโบอิ้ง 777-300ER จำนวน 3 ลำ ตามแผนเดิม (ปี 2561) เข้าประจำการในฝูงบิน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถฝูงบินของบริษัท และรองรับความต้องการเดินทางท่องเที่ยวที่คาดว่าจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากการยกเลิกและผ่อนคลายมาตรการควบคุมและจำกัดการเดินทางของประเทศ โดยเครื่องทั้ง 3 ลำดังกล่าวได้ให้บริการในเส้นทางสู่ยุโรปเป็นหลัก