บางกอกแอร์เวย์ส เพิ่มความถี่-เปิดเส้นทางใหม่ รับการบินฟื้นตัว

เครื่องบินแอร์บัสเอ 319 สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เคลื่อนผ่านอุโมงค์น้ำต้อนรับจากการท่าอากาศยาน

บางกอกแอร์เวย์ส ประเมินอุตสาหกรรมการบินมีสัญญาณที่ดี เร่งเปิดเส้นทางบินใหม่ พร้อมเพิ่มความถี่เส้นทางเดิม ตั้งเป้าปี 2565 ขนส่งผู้โดยสาร 2.4 ล้านคน รายได้ 1 ใน 3 ของยุคก่อนโควิด

วันที่ 19 กรกฎาคม 2565 นางสาวอมรรัตน์ คงสวัสดิ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายขาย และรักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการตลาด บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บางกอกแอร์เวย์ส เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมการบินของไทยมีสัญญาณที่ดี ผู้คนยังคงต้องการเดินทางอยู่มาก

โดยตั้งแต่รัฐบาลยกเลิกระบบ Test & Go เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา พบว่ามีนักท่องเที่ยวสำรองบัตรโดยสารล่วงหน้าเพิ่มขึ้น ทำให้สายการบินพิจารณากลับมาเปิดให้บริการบางเส้นทาง รวมถึงเพิ่มความถี่เที่ยวบินทั้งในและระหว่างประเทศเร็วขึ้นกว่าปกติ

สำหรับเส้นทางบินในประเทศ สายการบินเตรียมเพิ่มความถี่เที่ยวบินหลายเส้นทาง เช่น กรุงเทพฯ-ภูเก็ต, กรุงเทพฯ-ลำปาง ส่วนเส้นทางบินระหว่างประเทศ เตรียมเพิ่มความถี่เส้นทาง เช่น กรุงเทพฯ-พนมเปญ รวมถึงกลับมาให้บริการเส้นทางกรุงเทพฯ-ย่างกุ้ง เร็วขึ้นจากเดิมวางแผนไว้ในไตรมาสที่ 4/2565

“ในบางเส้นทางที่เราเปิดไปก่อนหน้านี้อย่าง กรุงเทพฯ-มัลดีฟส์ ยังได้รับเสียงตอบรับที่ดี มีอัตราบรรทุกผู้โดยสารเกือบ 100% ผู้โดยสารมีทั้งชาวไทยและชาวมัลดีฟส์เอง” นางสาวอมรรัตน์กล่าว

ล่าสุด สายการบินยังเปิดให้บริการเส้นทางบินใหม่ จำนวน 2 เส้นทาง คือ 1.เส้นทางกรุงเทพฯ-หาดใหญ่ (ไป-กลับ) ให้บริการ 2 เที่ยวบินต่อวัน ด้วยเครื่องบินแบบแอร์บัส เอ 319 และ 2.เที่ยวบินในเส้นทางสมุย-หาดใหญ่ (ไป-กลับ) ให้บริการสัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน (อังคาร พฤหัสบดี เสาร์) ด้วยเครื่องบินแบบเอทีอาร์ 72-600

นอกจากนี้ ในอนาคตหากทางการฮ่องกงผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทาง สายการบินอาจพิจารณากลับมาให้บริการเส้นทางบิน “สมุย-ฮ่องกง” อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันสายการบินกลับมาให้บริการเที่ยวบินในประเทศครบทุกจุดบินแล้ว แต่ความถี่ยังไม่เท่ากับช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 เช่น เดิมมีเที่ยวบินกรุงเทพฯ-ภูเก็ต เฉลี่ย 8 เที่ยวบินต่อวัน แต่ในเดือนสิงหาคม 2565 ยังให้บริการอยู่ที่ 4 เที่ยวบิน

ส่วนการปรับราคาบัตรโดยสารขึ้นนั้น นางสาวอมรรัตน์กล่าวว่า อัตราค่าบัตรโดยสารเป็นไปตามอุปสงค์และอุปทานแต่ละช่วงเวลา เมื่อราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น สายการบินอาจปรับค่าธรรมเนียมน้ำมันเชื้อเพลิง (Fuel Surcharge) ในค่าโดยสารของเส้นทางบินระหว่างประเทศ

ขณะที่บัตรโดยสารเส้นทางบินภายในประเทศ ซึ่งยังไม่สามารถเก็บค่าธรรมเนียมน้ำมันเชื้อเพลิงแยกออกจากค่าบัตรโดยสารได้ สายการบินเลือกจะนำเสนอราคาที่เหมาะสม ภายใต้เพดานราคาที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยกำหนดไว้พร้อมไปตามกลไกราคา

แหล่งข่าวจากสายการบิน ให้ข้อมูลว่า ในปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19 สายการบินมีปริมาณที่นั่ง (Seat Capacity) รวมอยู่ที่ประมาณ 8 ล้านที่นั่ง มีผู้โดยสารใช้บริการราว 5.8 ล้านคน

ในปี 2565 นี้ สายการบินตั้งเป้าทั้งปีมีปริมาณที่นั่งรวมอยู่ที่ 3.3 ล้านที่นั่ง หรือราว 40% ของปี 2562 ตั้งเป้าขนส่งผู้โดยสารรวม 2.4 ล้านคน โดยรายงานระบุว่า ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 สายการบินมีผู้โดยสารใช้บริการไปแล้วราว 910,000 คน

พร้อมตั้งเป้ามีอัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ย (Load Factor) ทั้งปีอยู่ที่ 74% ให้บริการจำนวนเที่ยวบินราว 30% ของก่อนสถานการณ์โควิด-19 และคาดว่าจะมีรายได้ราว 1 ใน 3 ของช่วงก่อนการระบาดโควิด-19