เปิด 10 อันดับสนามบินผู้โดยสารหนาแน่นสุดในโลก เอเชียยังติดอันดับ

เครื่องบินสายการบินอเมริกันแอร์ไลน์ส เทคออฟจากท่าอากาศยานนานาชาติลอสแอนเจลิส
(Photo by Daniel SLIM / AFP)

เปิด 10 อันดับสนามบินผู้โดยสารหนาแน่นที่สุดในโลกปี’64 ส่วนใหญ่เป็นสหรัฐ จีนยังติดอันดับ ด้านการขนส่งสินค้า เอเชียติดอันดับพรึ่บ !

วันที่ 28 กรกฎาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา สภาสมาคมท่าอากาศยานระหว่างประเทศ (Airport Council International : ACI) เปิดเผยรายงาน “World Airport Traffic Dataset” หรือชุดข้อมูลการจราจรของท่าอากาศยานทั่วโลก ประจำปี 2564 (ฉบับสมบูรณ์)

โดยรายงานดังกล่าวนำข้อมูลจากท่าอากาศยานมากกว่า 2,600 แห่ง จากมากกว่า 180 ประเทศและดินแดนทั่วโลก นำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางอากาศใน 3 แง่มุม คือ ปริมาณผู้โดยสาร (ในและระหว่างประเทศ), การขนส่งสินค้าทางอากาศ และการเคลื่อนไหวของอากาศยาน (Aircraft movement)

รายงานระบุว่า ในปี 2564 ท่าอากาศยานทั่วโลกให้บริการขนส่งผู้โดยสารราว 4,600 ล้านคน เพิ่มขึ้น 28.3% จากปี 2563 แต่ยังต่ำกว่าปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19 อยู่ที่ 49.5% ซึ่ง 10 ท่าอากาศยานที่มีผู้โดยสารมากที่สุดในปี 2564 มีดังต่อไปนี้

  1. ท่าอากาศยานนานาชาติฮาร์ทสฟิลด์-แจ็กสัน แอตแลนตา (ATL) สหรัฐอเมริกา ให้บริการขนส่งผู้โดยสาร 75,704,760 คน
  2. ท่าอากาศยานนานาชาติดัลลาส-ฟอร์ตเวิร์ธ (DFW) สหรัฐอเมริกา ให้บริการขนส่งผู้โดยสาร 62,465,756 คน
  3. ท่าอากาศยานนานาชาติเดนเวอร์ (DEN) สหรัฐอเมริกา ให้บริการขนส่งผู้โดยสาร 58,828,552 คน
  4. ท่าอากาศยานนานาชาติชิคาโกโอแฮร์ (ORD) สหรัฐอเมริกา ให้บริการขนส่งผู้โดยสาร 54,020,399 คน
  5. ท่าอากาศยานนานาชาติลอสแองเจลิส (LAX) สหรัฐอเมริกา ให้บริการขนส่งผู้โดยสาร 48,007,284 คน
  6. ท่าอากาศยานนานาชาติชาร์ลอตต์/ดักลาส (CLT) สหรัฐอเมริกา ให้บริการขนส่งผู้โดยสาร 43,302,230 คน
  7. ท่าอากาศยานนานาชาติออร์แลนโด (MCO) สหรัฐอเมริกา ให้บริการขนส่งผู้โดยสาร 40,351,068 คน
  8. ท่าอากาศยานนานาชาติกว่างโจวไป๋-ยฺหวิน (CAN) สาธารณรัฐประชาชนจีน ให้บริการขนส่งผู้โดยสาร 40,259,401 คน
  9. ท่าอากาศยานนานาชาติเฉิงตูซวงหลิว (CTU) สาธารณรัฐประชาชนจีน ให้บริการขนส่งผู้โดยสาร 40,117,996
  10. ท่าอากาศยานนานาชาติแมคคาร์แรน เนวาดา (LAS) สหรัฐอเมริกา ให้บริการขนส่งผู้โดยสาร 39,754,366 คน

ด้านการขนส่งสินค้า-ไปรษณียภัณฑ์ทางอากาศ พบว่าปริมาณการขนส่งเพิ่มขึ้น 15.4% เมื่อเทียบกับปี 2563 และสูงขึ้น 4.5% เมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19 อีกทั้งพบว่าท่าอากาศยานในทวีปเอเชียหลายแห่งได้รับการจัดอันดับในสิบอันดับแรกด้วย

  • อันดับที่ 1 : ท่าอากาศยานนานาชาติฮ่องกง (HKG)
  • อันดับที่ 3 : ท่าอากาศยานเซี่ยงไฮ้-ผู่ตง (PVG)
  • อันดับที่ 5 : ท่าอากาศยานนานาชาติอินชอน (ICN)
  • อันดับที่ 7 : ท่าอากาศยานนานาชาติไต้หวัน-เถาหยวน (TPE)
  • อันดับที่ 9 : ท่าอากาศยานนานาชาตินาริตะ (NRT)
  • อันดับที่ 10 : สนามบินนานาชาติฮาหมัด-โดฮา (DOH)

ในแง่การเคลื่อนไหวของอากาศยาน (Aircraft movement) ปี 2564 พบว่า มีปริมาณการเคลื่อนไหวราว 73 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 18.7% เมื่อเทียบกับปี 2563 แต่ยังต่ำกว่าปริมาณในปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19 อยู่ที่ 28.2% โดยท่าอากาศยานที่มีปริมาณการเคลื่อนไหวของอากาศยานสูงสุด 10 อันดับแรก มีดังต่อไปนี้

  1. ท่าอากาศยานนานาชาติฮาร์ทสฟิลด์-แจ็กสัน แอตแลนตา (ATL) สหรัฐอเมริกา
  2. ท่าอากาศยานนานาชาติชิคาโกโอแฮร์ (ORD) สหรัฐอเมริกา
  3. ท่าอากาศยานนานาชาติดัลลาส-ฟอร์ตเวิร์ธ (DFW) สหรัฐอเมริกา
  4. ท่าอากาศยานนานาชาติเดนเวอร์ (DEN) สหรัฐอเมริกา
  5. ท่าอากาศยานนานาชาติชาร์ลอตต์/ดักลาส (CLT) สหรัฐอเมริกา
  6. ท่าอากาศยานนานาชาติลอสแองเจลิส (LAX) สหรัฐอเมริกา
  7. ท่าอากาศยานนานาชาติแมคคาร์แรน เนวาดา (LAS) สหรัฐอเมริกา
  8. ท่าอากาศยานนานาชาติฟีนิกซ์สกายฮาร์เบอร์ (PHX) สหรัฐอเมริกา
  9. ท่าอากาศยานนานาชาติไมอามี (MIA) สหรัฐอเมริกา
  10. ท่าอากาศยานจอร์จบุชอินเตอร์คอนติเนนตัล-ฮิวส์ตัน (IAH) สหรัฐอเมริกา

สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากรายงานประจำปีของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย ระบุว่า ในปี 2564 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (BKK) ให้บริการขนส่งผู้โดยสารทั้งสิ้น 5,664,633 คน มีปริมาณการเคลื่อนไหวของอากาศยานอยู่ที่ 111,729 เที่ยวบิน

ขณะที่ท่าอากาศยานดอนเมือง (DMK) ให้บริการขนส่งผู้โดยสารทั้งสิ้น 5,059,048 คน มีปริมาณการเคลื่อนไหวของอากาศยานอยู่ที่ 51,877 เที่ยวบิน