คุยกับ พงษ์ชัย อมตานนท์ แม่ทัพเต่าบิน ปูพรมคาเฟ่อัตโนมัติทั่วประเทศ

เต่าบิน พงษ์ชัย อมตานนท์
พงษ์ชัย อมตานนท์
สัมภาษณ์

“เต่าบิน” ตู้ขายเครื่องดื่มอัตโนมัติ หรือที่เรียกตนเองว่า เป็น “คาเฟ่อัตโนมัติ” ที่เริ่มกระจายออกไปตั้งตามชุมชน จุดกระแสต่อแถวซื้อจนกลายเป็นไวรัลบนโลกออนไลน์ ด้วยความพิเศษที่สามารถชงเครื่องดื่มได้มากถึง 170 เมนู ทั้งเครื่องดื่มร้อน-เย็น และเมนูปั่นต่าง ๆ

ทั้งหมดเป็นผลงานการผลิตและออกแบบทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ของคนไทย 100% ในนาม “ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น” ซึ่งไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นเจ้าของตู้เติมเงินมือถือ “บุญเติม” ที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “พงษ์ชัย อมตานนท์” ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น ถึงที่มาที่ไปในการขยายการลงทุนเข้าสู่ธุรกิจเครื่องดื่ม และเป้าหมายในอนาคต

แม่ทัพ “ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น” บอกว่า ธุรกิจหลักของบริษัทคือ การผลิตชิ้นส่วน แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนในเครื่องปรับอากาศบ้าน ผลิตหุ่นยนต์ เพื่อส่งออกต่างประเทศ ซึ่งหัวใจสำคัญของธุรกิจคือ การวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีโทรคมนาคม และอิเล็กทรอนิกส์

“ธุรกิจเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เรียกได้ว่าเปลี่ยนทุกวัน จึงต้องวิจัย พัฒนา และอัพเกรดเครื่องจักรให้ทันสมัยอยู่ตลอดเสมอ ๆ ต่างจากธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่เปลี่ยนแปลงช้า โดยส่วนตัวจึงอยากขยับขยายธุรกิจมายังธุรกิจเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่ม เพราะมองว่าไม่ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนไปแค่ไหน จะเป็น 5G หรือ 100G คนก็ยังต้องกิน”

นั่นคือจุดเริ่มต้นของการลุกขึ้นมาตั้งต้นออกแบบ และพัฒนาตู้เครื่องดื่มอัตโนมัติ “เต่าบิน”

จากตู้ขายเครื่องดื่มสู่คาเฟ่อัตโนมัติ

หากย้อนกลับไปที่ความตั้งใจในการเข้าสู่ธุรกิจเครื่องดื่ม ก่อนจะเป็นตู้ “เต่าบิน” เขาเริ่มพัฒนาตู้จำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัติในชื่อ “บุญเติม” ก่อน (ชื่อเดียวกับตู้เติมเงินมือถือ) ติดตั้งไปได้ประมาณ 2,000 ตู้ ซึ่งเขาบอกว่าในแง่ธุรกิจถือว่าไม่ประสบความสำเร็จ แต่ได้ประสบการณ์ในการบริหารจัดการสินค้า

“เราไม่ได้ผลิตเครื่องดื่มเอง ต้องซื้อจากผู้ผลิตอีกที ทำให้ได้กำไรน้อยมาก เช่น กระป๋องละ 2 บาท ทั้งค่าโลจิสติส์ไปเติมสินค้าแต่ละครั้งคิดเป็นประมาณ 10% ของยอดขาย ซึ่งถือว่าสูงมาก ทำอยู่ 2 ปี ขาดทุนไปร้อยกว่าล้าน”

แต่ไม่ได้ทำให้เขาละความพยายามที่จะเข้าสู่ธุรกิจเครื่องดื่ม จึงเริ่มไปหาตู้ชงกาแฟจากจีน เข้ามาทดลอง แต่ก็ยังพบปัญหาต่าง ๆ มากมาย ทั้งด้านเทคนิค และการตลาด จึงตัดสินใจคิดค้น และพัฒนาขึ้นเอง ซึ่งไม่ใช่แค่การผลิตตู้ชงเครื่องดื่มอัตโนมัติธรรมดา ๆ แต่ต้องการเป็น “คาเฟ่อัตโนมัติ” ที่เคลื่อนที่ไปไหนก็ได้ (ขนาดมาตรฐานจึงอยู่ที่ 1 คูณ 1 ตารางเมตร)

“เรารู้แล้วปัญหาอยู่ตรงไหนบ้าง ในแง่เทคนิคคือ ระบบการชง มีหลายอย่าง ทั้งเรื่องความชื้น การทำน้ำแข็ง หรือแม้แต่น้ำที่เข้ามาในตู้ก็เกี่ยว ต้องค่อย ๆ พัฒนา แก้ไขไปทีละจุด ถ้าสามารถควบคุมคุณภาพได้จะทำให้อร่อยไม่ยาก ซึ่งจะทำได้ต้องมีตราชั่งคอยชั่ง ตวง วัด วัตถุดิบต่าง ๆ”

“พงษ์ชัย” ยกตัวอย่างว่า สมมุติ กาแฟลงไปครั้งแรก 12 กรัม ครั้งที่ 2 มา 15 กรัม ก็ไม่เหมือนกันแล้ว เพราะความอ่อนแก่ของกาแฟแต่ละถ้วยไม่เท่ากัน นั่นคือเหตุผลที่ต้องใส่เครื่องชั่งลงไปในตู้ด้วย ทำให้วัตถุดิบต่าง ๆ บวกลบแล้วจะคลาดเคลื่อนไม่เกิน 0.5 กรัม ทำให้ทุกส่วนผสม ทั้งกาแฟ นม น้ำแข็ง ได้สัดส่วนมาตรฐาน และสาเหตุที่สามารถปรุงเมนูได้นับร้อยเมนู มาจากการผสมส่วนผสมต่าง ๆ ไขว้กันไปมา เช่น ผงเครื่องดื่ม 10 ชนิด และหัวเชื้อเครื่องดื่มอีก 10 ชนิด ซึ่ง “เต่าบิน” มีให้เลือกถึง 170 เมนู

ปัญหาในเชิงธุรกิจได้เรียนรู้มาจากการทำตู้กดเครื่องดื่มอัตโนมัติ คือการบริหารต้นทุนด้าน “โลจิสติกส์” โดยการผลิตเครื่องดื่มกับรอบในการเติมวัตถุดิบต้องสัมพันธ์กัน เช่น ในอดีต ขายได้ 3,000 บาท ต้องไปเติมเครื่องดื่ม 1 ครั้ง เสียค่าขนส่ง 300 บาท หรือเกือบ 10% ถือว่าไม่คุ้ม จึงออกแบบให้ “เต่าบิน” ชงเครื่องดื่มได้ 6,000-7,000 บาทต่อการเติม 1 ครั้ง

“เราต้องดีไซน์ใหม่หมด และถือเป็นโจทย์ที่ให้ทีมงานไปตั้งแต่วันแรก แม้โปรเจ็กต์เต่าบินจะต้องใช้เวลาพัฒนา 2 ปี แต่ผมก็ไม่เคยคิดว่าจะล้มเลิกโปรเจ็กต์นี้ เพราะมั่นใจว่าเราทำได้ แต่มีบางอย่างที่ทำยากต้องใช้เวลามาก เช่น ระบบโซดา ผมต้องนั่งปรับแก้เองอยู่เกือบ 2 เดือน”

“เต่าบิน” ติดปีกฟอร์ทสู่ธุรกิจอื่น

“พงษ์ชัย” กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีตู้เต่าบินอยู่ 1,000 ตู้ และคาดว่าในสิ้นปีจะติดตั้งได้ 3,500-5,000 ตู้ โดยกำลังการผลิตในปัจจุบันอยู่ที่ 600 ตู้ต่อเดือน ทั้งยังมีแผนขยายตลาดไปต่างประเทศด้วย โดยเริ่มมีตัวแทนจากประเทศต่าง ๆ ติดต่อเข้ามาบ้างแล้ว

เช่น สิงคโปร์ บรูไน และอังกฤษ เป็นต้น อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียด แต่โมเดลที่จะใช้ขยายในต่างประเทศจะแตกต่างจากในประเทศไทย คือเป็นการขายขาดตู้ แต่แบ่งสัดส่วนรายได้จากยอดขาย เนื่องจากบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์กลางขึ้นมาสำหรับบริหารจัดการ จึงมองเห็นยอดขายแบบเรียลไทม์ของแต่ละตู้ได้

โดยตั้งเป้าหมายว่าในอีก 3-5 ปีจากนี้จะติดตั้งให้ได้ 20,000 ตู้ และมียอดขายเฉลี่ย 1 ล้านแก้วต่อวัน

เชื่อว่าเมื่อถึงเวลานั้น “เต่าบิน” จะเป็นสปริงบอร์ดที่จะต่อยอดไปยังธุรกิจอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากธุรกิจเทคโนโลยีได้อีกมาก เช่น การผลิตแก้ว ผลิตกาแฟ ตั้งโรงคั่วกาแฟ หรือการทำเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์ของตนเอง

ปัจจุบันได้ทดลองขายเครื่องดื่มชูกำลังใน “ตู้เต่าบิน” แล้ว และในอนาคตหากมีเครื่องดื่มใหม่ ๆ ที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศ บริษัทก็จะสามารถผลิต และนำมาจำหน่ายผ่านตู้เต่าบิน

ผุดตู้ชาร์จไฟฟ้า

สำหรับโมเดลธุรกิจของ “ตู้เต่าบิน” จะเหมือนกับ “ตู้บุญเติม” คืออยู่ในรูปแบบการตั้งเครือข่าย “ตัวแทนบริการ” ทำหน้าที่ดูแลตู้ ตั้งแต่การหาโลเกชั่นว่าจะตั้งในพื้นที่ไหน และการบำรุงรักษา ขณะที่บริษัทยังเป็นเจ้าของตู้ ภายใต้การบริหารงานของบริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด

“พงษ์ชัย” บอกว่า การใช้โมเดลธุรกิจแบบ “ตัวแทนบริการ” ก็เพราะมองว่าถ้าขายขาดตู้ออกไปจะเป็นภาระของผู้ลงทุน ทำให้การขยายจุดบริการทำได้ช้า เช่น กรณีตู้บุญเติม ต้องลงทุน 25,000-30,000 บาทต่อตู้ ถ้าต้องการวางให้ได้ทีเดียวจำนวนมาก ต้องใช้เงินลงทุนเยอะมาก

“ถ้าเขาซื้อตู้ 1 ล้านบาท กว่าจะได้กำไรมาซื้อตู้ใหม่ก็ต้องใช้เวลา สิ่งที่เราทำลงทุนเอง โดยให้ตู้ไปฟรีแล้วแบ่งรายได้กับตัวแทน ทำให้จำนวนตู้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันตู้บุญเติมมี 120,000-130,000 ตู้ทั่วประเทศแล้ว”

กรณีตู้เต่าบินก็เช่นกัน ถ้าจะติดตั้งให้ได้ 2 หมื่นตู้ตามเป้า จะต้องใช้เงินลงทุนกว่า 6 พันล้าน การขยายธุรกิจในรูปแบบตัวแทนบริการ จึงคล่องตัวกว่า

จากวันนั้นมาถึงวันนี้ ทีมวิจัยและพัฒนาของเราเก่งขึ้นมาก ทีมใหญ่ขึ้น ตอนนี้ ตู้บุญเติม ไม่ได้เป็นแค่ตู้เติมเงินมือถือเท่านั้น แต่กลายเป็นแบงก์เอเย่นต์ที่รับโอนเงิน ถอนเงิน เหมือนตู้เอทีเอ็ม และอีกธุรกิจที่กำลังจะขยายไปคือ ตู้ชาร์จรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นการต่อยอดจากศักยภาพที่มีทั้งทีมวิจัย โรงงานผลิต และตัวแทนจำหน่ายที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ คาดว่าจะเริ่มต้นได้เร็ว ๆ นี้

“เต่าบิน” และอีกสารพัดตู้ที่จะตามมาก็จะใช้โมเดลธุรกิจนี้เช่นกัน

“พงษ์ชัย” เล่าต่อว่า บริษัทพัฒนาตู้ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าด้วยเช่นกัน ตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อน แต่ที่ผ่านมายังไม่ได้เปิดตัว เพราะจำนวนรถไฟฟ้าในประเทศไทยยังมีน้อย แต่เชื่อว่าในอนาคตมีแนวโน้มว่าจะมีการใช้งานแพร่หลายขึ้น

“เมื่อรถไฟฟ้ามีจำนวนมากขึ้น ตู้ชาร์จก็จะจำเป็น ผมมองว่าทุกบริษัทจะต้องติดตั้งตู้ชาร์จไฟฟ้าเพื่ออำนวยความสะดวกให้พนักงาน ดังนั้นตู้ชาร์จที่เราทำออกมา เป้าหมายที่จะไปติดตั้งคือตามบริษัทต่าง ๆ โดยโมเดลธุรกิจก็จะเหมือนบุญเติม และเต่าบิน แต่พื้นที่เป้าหมายคือตามบริษัทต่าง ๆ เพื่อให้เขาเป็นคนดูแล บริหารจัดการ แบ่งรายได้กับตัวแทน ถือเป็นโอกาสในการสร้างรายได้จากช่องทางใหม่ ๆ”

สำหรับผลประกอบการในปี 2564 บริษัทมีรายได้รวม 8,813 ล้านบาท โตขึ้น 24% จากปี 2563 มีกำไรสุทธิ 722 ล้านบาท สัดส่วนรายได้มาจากธุรกิจอีเอ็มเอส 30% ธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์โซลูชั่น 34% และสมาร์ทเซอร์วิส 33%