“จีน” ทุบสถิตินำเข้า สินค้าโภคภัณฑ์ !

อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ที่ “ประเทศจีน” กลายเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าอาหารอันดับหนึ่งของโลกตั้งแต่ปี 2011 แต่ปัจจุบันรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการนำเข้าสินค้าอีกหลายประเภทมากขึ้น โดยเฉพาะ “สินค้าโภคภัณฑ์” โดยในปี 2017 จีนได้ทำลายสถิติการนำเข้าสินค้ามากที่สุดในโลก ได้แก่ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ แร่เหล็ก และถั่วเหลือง สะท้อนให้เห็นถึงดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นจากการที่เศรษฐกิจจีนขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

บลูมเบิร์ก รายงานว่า สัดส่วนการนำเข้าสินค้าหลายประเภทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยดีมานด์ที่ต้องการวัตถุดิบเพิ่มขึ้นในผู้บริโภครายใหญ่ที่สุดของโลกอย่างจีนนั้น สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง รวมถึงจำนวนผู้ที่มีกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลจีนมีแผนการพัฒนาประเทศ ด้วยการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์เพื่อสิ่งตอบแทนที่ดีกว่าในระยะยาว

ขณะที่ นายกว๋อ เชาฮุย นักวิเคราะห์ของบริษัท ไชน่า อินเตอร์เนชั่นแนล แคปิตัล สาขาปักกิ่ง กล่าวว่า “สถานการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีของจีน ทำให้คาดเดาได้ว่าจะยังโตต่อเนื่องในปี 2018 และปี 2019 โดยสัดส่วนการนำเข้าของประเทศที่เพิ่มขึ้น เป็นหนึ่งปัจจัยยืนยันความแข็งแกร่งของดีมานด์ภายใน ขณะที่บางประเทศที่เคยอยู่ในลิสต์ที่น่าสนใจอย่างญี่ปุ่น และสหรัฐ กลับมีแนวโน้มแผ่วลง”

ราชาการนำเข้าน้ำมัน

ปี 2017 จีนกลายมาเป็นผู้ที่นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกเป็นครั้งแรก หลังจากที่ตามหลังระยะประชิดกับสหรัฐอเมริกามานาน นอกจากนี้ จีนยังเป็นหนึ่งในผู้ซื้อน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของอเมริกาอีกด้วย

โดยข้อมูลจากสำนักงานบริหารงานศุลกากรของจีนระบุว่า ปริมาณการนำเข้าน้ำมันของจีนในปีที่ผ่านมา

หลัก ๆ มาจาก 3 ประเทศ ได้แก่ รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย และเวเนซุเอลา ซึ่งเพิ่มขึ้นสูงถึง 10% แตะที่ 8.43 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่สหรัฐนำเข้าน้ำมันอยู่ที่ 7.90 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าในปีนี้จะเกิดปรากฏการณ์การซื้อที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยรัฐบาลจีนจะเพิ่มโควตาการนำเข้าน้ำมันมากขึ้นอีก 10-15% เมื่อเทียบจากปีก่อนหน้านั้น ทั้งยังต้องการเพิ่มการเจรจากับคู่ค้าน้ำมันรายอื่นมากขึ้น อาทิ สหราชอาณาจักร บราซิล และแองโกลา เพื่อลดการพึ่งพาน้ำมันจากประเทศตะวันออกกลาง

เหล็กพรีเมี่ยมสู่ประเทศสีขาว

นอกจากนี้ สมาคมเหล็กและเหล็กกล้าของจีน (CISA) ระบุว่า ปัจจุบันจีนถือว่าเป็นหนึ่งในผู้นำเข้าแร่เหล็กเบอร์ต้นของโลก โดย 2 ใน 3 ของแร่เหล็กจากทั่วโลกถูกส่งมาขายที่จีน และในปี 2017 ที่ผ่านมา จีนนำเข้า “แร่เหล็ก” เพิ่มขึ้นอีก 5% อยู่ที่ 1.07 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

รัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับการนำเข้าแร่เหล็ก เพื่อนำมาแปรรูปเป็นเหล็กกล้าเกรดพรีเมี่ยม ทั้งยังเป็นหนึ่งในความพยายามปรับปรุงประเทศให้เป็น “เมืองสีขาว”

หลังจากที่เผชิญกับปัญหาหมอกควันพิษเกือบทุกปี โดยให้เหตุผลว่าโครงการก่อสร้างที่กำลังจะเกิดขึ้นในจีนนับจากนี้ จะต้องใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อประเทศ

ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการส่งออกเหล็กกล้าคุณภาพสูงสู่ตลาดโลกด้วย โดยการพัฒนาเหล็กกล้าเกรดพรีเมี่ยมจะเอื้อประโยชน์ทั้งต่อจีน และอีกหลายประเทศที่มุ่งปฏิรูปประเทศให้เป็นเมืองสีขาว

ผู้กำหนดทิศทางราคาก๊าซ

นอกเหนือจากที่จีนประกาศทำสงครามกับ “มลพิษทางอากาศ” ด้วยการนำเข้าแร่เหล็กคุณภาพสูง อีกประการหนึ่งก็คือการควบคุมการใช้ถ่านหิน และส่งเสริมการใช้ก๊าซพลังงานสะอาดแทน

ซึ่งในปีที่ผ่านมา จีนนำเข้าก๊าซเพิ่มขึ้นเกือบ 27% หรือ 68.57 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปี 2016 ที่ 54.1 ล้านตันทั้งยังมีแนวโน้มว่ารัฐบาลจีนจะสั่งซื้อก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาวปีนี้อีก 40% โดย อีริ โอวากิ นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์โนมูระ มองว่า ความต้องการก๊าซธรรมชาติในจีนที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา อาจส่งผลให้ราคาก๊าซปรับสูงขึ้นตาม

ขณะที่สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ประเมินว่า ปริมาณนำเข้าก๊าซธรรมชาติของจีนในปี 2040 จะเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า จากปี 2016 แน่นอนว่าจะส่งผลดีต่อประเทศผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติอย่างรัสเซีย และกาตาร์ แต่จะส่งผลกระทบต่อประเทศที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นพลังงานหลักอย่างสิงคโปร์ และญี่ปุ่นเช่นกัน

นำเข้าถั่วหนุนฟาร์มสุกร

จีนถือว่าเป็นผู้บริโภคหมูรายใหญ่ที่สุดของโลก เกษตรกรจีนจำนวนไม่น้อยที่มีอาชีพเลี้ยงหมูเป็นหลัก แต่ปัจจุบันจีนยังเผชิญวิกฤตขาดแคลนเนื้อหมู จนต้องนำเข้าจากสหรัฐ และหลายประเทศในเอเชีย เพราะการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา

ล่าสุดรัฐบาลออกมาตรการส่งเสริมฟาร์มเลี้ยงหมูทั่วประเทศ โดยไม่จำกัดปริมาณพื้นที่เลี้ยง ทำให้ปี 2017 ที่ผ่านมา จีนนำเข้า “ถั่วเหลือง” เพื่อเลี้ยงหมูมากขึ้นถึง 14% แตะที่ 95.54 ล้านตัน ทำให้กลายเป็นตลาดนำเข้าถั่วเหลืองใหญ่ที่สุดของโลกโดยมีสัดส่วนอยู่ที่ 65% ของการค้าโลก

ทั้งนี้ รัฐบาลตั้งเป้าว่าจะนำเข้าถั่วเหลืองเพิ่มขึ้นเป็น 97 ล้านตันในปี 2018 เพื่อลดการนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศ ทั้งยังมีนโยบายให้ประชาชนหันมาบริโภคสินค้าในประเทศมากขึ้น