เมื่อฝรั่งเริ่มคลั่ง “สตรีตฟู้ด”

“สตรีตฟู้ด” โดยธรรมชาติแล้วเป็นวิถีชีวิตอย่างหนึ่ง เป็นวัฒนธรรมพื้นถิ่นอย่างหนึ่ง แต่ในเวลาเดียวกันก็เป็นระบบเศรษฐกิจที่หล่อเลี้ยงชุมชนพร้อมกันไปด้วย ดังนั้น “ถนนอาหาร” จึงไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งของโลก แต่มีหลากหลายแห่งแตกต่างกันออกไปตามแต่วัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่นมีการเดินทางท่องเที่ยวที่สะดวก รวดเร็ว ฉับไว ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้สตรีตฟู้ดมีความสำคัญในเชิงเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อย ๆ

หลายแห่งกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในระดับโลก ตัวอย่างเช่น “โบเกเรีย” ในนครบาร์เซโลนา หรือย่านแมร์กาโด เดอ ซาน มิเกล ในกรุงมาดริด ประเทศสเปน ซึ่งมีร้านอาหารขนาดเล็กจำนวนมาก นำเสนออาหารระดับพรีเมี่ยมในตลาดท้องถิ่นที่ถือเป็นประวัติศาสตร์ของประเทศ

แม้แต่ “ซอยละลายทรัพย์” ในกรุงเทพฯ ก็ขึ้นชื่ออยู่ไม่น้อยในระดับนานาชาติในแง่ของแหล่งดื่มกินหลากหลายราคาประหยัดที่กรุงเทพฯ

สตรีตฟู้ดกำลังเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง

เมื่อนักลงทุนที่เชี่ยวชาญในการลงทุนร้านอาหาร และนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ให้ความสนใจและหันมาลงทุนเปิดกิจการทำนองนี้กันเยอะอาจเรียกได้ว่าเป็นอาการ “คลั่งสตรีตฟู้ด” ก็ได้

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะกิจการสตรีตฟู้ดหลายแห่ง เมื่อเปิดขึ้นมาแล้วก็ประสบความสำเร็จ สามารถพลิกสถานการณ์จากกิจการเดิมที่ซบเซากลายเป็นคึกคักขึ้นมาทันตาเห็น

ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ สตรีตฟู้ดที่ แม็คกี เมเยอร์ ในเมืองแมนเชสเตอร์ ซึ่งแต่เดิมได้ชื่อว่าเป็น “ตลาดสดที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป” กลายเป็นสถานที่ขายอาหารหลากหลาย เต็มไปด้วยร้านอาหารเล็ก ๆ มากถึงราว 500 ร้าน ขายตั้งแต่พิซซ่า, ชอร์ต-ริบ ออน โทสต์ เรื่อยไปจนถึง ช็อกโกแลตราดคาราเมล

แม็คกี เมเยอร์ เปิดกิจการเมื่อปีที่ผ่านมา มีผู้คนคึกคักขึ้นมาทันตาเห็น กลายเป็นสวรรค์สำหรับคนที่ต้องการดื่มกินปะปนกับคนอื่น ๆ บนโต๊ะยาว ในโถงโล่งที่เพดานกรุกระจก ความสำเร็จของที่นี่ ส่งผลให้เกิดแนวคิดในทำนองเดียวกัน พลิกผันสถานที่ซึ่งเคยซบเซา หรือไม่ใช้งานมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นตลาดเก่า หรือสถานีรถใต้ดินเก่า เรื่อยไปจนถึงร้านขายของและห้างสรรพสินค้าที่เลิกรากิจการ กำลังถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นสตรีตฟู้ด เป็นแหล่งรวมสรรพอาหารของท้องถิ่น ผสมผสานกับร้านของเชฟระดับท็อป รองรับทั้งนักท่องเที่ยวและผู้คนในท้องถิ่นไปในคราวเดียวกัน

ตลาดเก่าที่บริกซ์ตัน และทูทติง ทางตอนใต้ของลอนดอน ก็ถูกเปลี่ยนให้เป็นสตรีตฟู้ดที่มีทั้งอาหารการกินและบาร์
เช่นเดียวกับ เคิร์กเกต มาร์เก็ต ตลาดอายุ 161 ปีที่เมืองลีดส์ ก็เปลี่ยนไปขายอาหารจนเป็นที่ขึ้นชื่อลือชา ยอร์กเชียร์ พุดดิ้ง กับ เจิร์ก ชิกเก้น ของที่นั่น รวมถึงการเปิดให้ดื่มกินกันในตอนกลางคืนเดือนละครั้ง ส่งผลให้มีคนแวะเวียนเข้าไปมากขึ้นกว่าเดิมถึง 400,000 คนเลยทีเดียว

ความสำเร็จเหล่านั้น ทำให้มีนักลงทุนวางแผนเข้ามาเปิดกิจการฟู้ดสตรีตในอังกฤษมากขึ้นในปีนี้ เฉพาะในกรุงลอนดอน ก็มีผู้วางแผนจะเปิดสตรีตฟู้ดกันมากถึง 16 จุดเป็นอย่างน้อยในปีนี้

สวนทางกับฟาสต์ฟู้ดเชนทั้งหลายที่เคยโด่งดังมาในอดีต ไม่ว่าจะเป็น นันโด, ซับเวย์ ฯลฯ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในอังกฤษก็คือ เบอร์เกอร์ เช่นชื่อดังอย่าง ไบรอน ที่ตอนนี้ประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนัก ถึงขั้นประกาศปิดกิจการร้านเบอร์เกอร์ของตน 20 ร้านไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ผู้บริหารกิจการสตรีตฟู้ดชื่อดังอย่าง “ไทม์เอาต์ มาร์เก็ต” เจ้าของ “ลิสบอน อีทเทอรี” ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสตรีตฟู้ดที่เป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากที่สุดและใหญ่ที่สุดของโปรตุเกสไปแล้ว ไม่เพียงจะมาลงทุนสตรีตฟู้ดในลอนดอนอย่างน้อย 3 แห่งในปีนี้เท่านั้น ยังเตรียมขยายกิจการออกไปที่นครไมอามี รัฐฟลอริดา ของสหรัฐอเมริกาในปีนี้เช่นกัน ก่อนที่จะพุ่งเป้าไปเปิดสตรีตฟู้ดที่ชิคาโก และบอสตัน ในปีหน้า

ไซมอน แอนเดอร์สัน นักลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์และผู้เชี่ยวชาญกิจการภัตตาคารชาวอังกฤษ ที่ร่วมลงทุนกับไทม์เอาต์ มาร์เก็ต พูดถึงสตรีตฟู้ดเอาไว้ว่า ความรู้สึกนึกคิดของสังคมในยุคปัจจุบันนี้เปลี่ยนไป ผู้คนต้องการความเรียบง่ายมากขึ้น ไม่ต้องเสียเวลากับการผูกไทใส่สูทไปดินเนอร์เป็นคอร์สในภัตตาคารหรูอีกต่อไป เพื่อความแปลกใหม่ต้องการลิ้มลองจานใหม่ ๆ ในราคาที่สมเหตุสมผล

ในเวลาเดียวกัน อาหารก็เป็นสิ่งสำคัญที่สุดของผู้คนยุคนี้ รายได้ที่มีใช้จ่ายไปกับอาหารการกินมากที่สุดมากกว่าค่าใช้จ่ายด้านอื่น ๆ สตรีตฟู้ดจึงตอบสนองความต้องการเหล่านี้ได้ครบถ้วน

แอนเดอร์สันบอกว่า เชฟชื่อดังหลายคนก็เห็นด้วยกับแนวคิดสตรีตฟู้ด และพร้อมที่จะร่วมงานด้วย และบรรดาเชฟชื่อดังเหล่านี้ก็มีกลุ่มแฟนติดตามเหนียวแน่นไม่แพ้นักร้องในอดีต

“ธุรกิจอาหารตอนนี้ก็เหมือนกับดนตรีร็อกแอนด์โรลในอดีต ผู้ทำธุรกิจสตรีตฟู้ด ทำหน้าที่เป็นเพียงคนจัดเวทีให้ทุกคนได้มีโอกาสมาแสดงฝีมือเท่านั้นเอง”