คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์
บริษัทซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี “เอฟทีเอ็กซ์” ยื่นขอควาคุ้มครองตามกฎหมายล้มละลายของสหรัฐอเมริกาไปเมื่อไม่นานมานี้ “แบงก์แมน-ฟรีด” ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของเอฟทีเอ็กซ์ ถูกจับกุมที่บาฮามาส ก่อนถูกส่งตัวในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนกลับไปยังสหรัฐอเมริกา ตกเป็นผู้ต้องหาคดีฉ้อโกงมูลค่ามหาศาลที่นั่น ก่อนได้รับการประกันตัวออกไปด้วยวงเงินมหาศาล สูงกว่า 250 ล้านดอลลาร์ เมื่อ 22 ธันวาคมที่ผ่านมา
จอห์น เจย์ เรย์ ที่ 3 ที่ได้ชื่อว่าเป็น “มืออาชีพ” ได้รับการแต่งตั้งให้เข้าทำหน้าที่ควบคุม “เอฟทีเอ็กซ์” โดยมีภารกิจหลักก็คือ ติดตามเงินลงทุนที่สูญหายไปในเงื้อมมือของแบงก์แมน-ฟรีด กลับมาให้ได้
เอฟทีเอ็กซ์กับบริษัทลูกอย่างอลาเมดา รีเสิร์ช ที่เป็นบริษัท เฮดจ์ ฟันด์ ดำเนินกิจการทั้งหมดจากบาฮามาส หนึ่งในแดนสวรรค์ของการฟอกเงินที่ไม่มีการกำกับดูแลใด ๆ จากภาครัฐ ทั้งสองบริษัทคือกลไกที่แบงก์แมน-ฟรีด ใช้ในการยักยอกเงินลงทุนในคริปโตจำนวนมากไปใช้เพื่อประโยชน์ตนเอง และกลายเป็นที่มาของการล้มละลายในที่สุด
จนถึงขณะนี้ มีเม็ดเงินรวมแล้วอย่างน้อย 8,000 ล้านดอลลาร์หายไปในกรณีนี้ สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วทั้งวงการ
ตามมาด้วยคำถามที่ว่า อนาคตของคริปโตเคอร์เรนซี นับจากนี้ต่อไปจะเป็นอย่างไร ?
ฟรานเซส คอปโปลา นักการเงินอิสระและนักวิจารณ์ด้านเศรษฐกิจชาวอเมริกัน เชื่อว่า กรณีเอฟทีเอ็กซ์จะส่งผลให้คริปโตเคอร์เรนซี “ในรูปแบบที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้” จะถึงกาลอวสานลงในที่สุด
เธอให้เหตุผลว่า ตลอด 14 ปีที่เกิดขึ้นและได้รับความนิยมมาจนถึงบัดนี้ คริปโตไม่เคยถูกนำมาใช้ให้เห็นถึงมูลค่าที่แท้จริงในโลกที่เป็นจริงเลยแม้แต่ครั้งเดียว ยกเว้นจากการนำไปใช้ในแวดวงอาชญากรรมเท่านั้น
คอปโปลายืนยันว่า คริปโตเป็นเพียงแค่ “การลงทุนเพื่อเก็งกำไร” ซึ่งจะมีผลจริง ๆ ก็ต่อเมื่อมีเงินในโลกที่เป็นจริงเข้าไปอยู่ในระบบเก็งกำไรที่ว่านั้นด้วยเสมอ ไม่มีเงินจริง ๆ หนุนหลัง คริปโตเคอร์เรนซีก็อยู่ไม่ได้
ที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยต่ำทั่วโลก ส่งผลให้มี “เม็ดเงินต้นทุนต่ำ” ไหลเข้ามาในตลาดมหาศาล ตอนนี้ดอกเบี้ยแพงขึ้น เงินกำลังไหลออก และส่วนที่จะเหือดแห้งก่อนใครก็หนีไม่พ้นกลุ่ม “สินทรัพย์เสี่ยง” ทั้งหลายนั่นเอง ซึ่งคริปโตก็คือหนึ่งในกลุ่มสินทรัพย์เสี่ยงที่ว่านั้น
คอปโปลาเชื่อว่า นับแต่นี้มูลค่าของคริปโตมีแต่จะลดลงเรื่อย ๆ ไม่มีวันกลับคืนสู่สภาพเหมือนปีหรือสองปีที่ผ่านมาอีกแล้ว
“แคโรล อเล็กซานเดอร์” ศาสตราจารย์ด้านการเงินจากมหาวิทยาลัยซัสเซกซ์ เห็นด้วย แต่ไม่คิดว่า คริปโตเคอร์เรนซีจะหายไปทั้งหมด เธอชี้ให้เห็นตัวอย่างเช่น ตลาดน็อนฟันจิเบิล โทเค็น (เอ็นเอฟที) ที่น่าจะอยู่รอดได้ตราบเท่าที่เมตาเวิร์สยังถูกพัฒนาอยู่ต่อไป
แต่ “ชาร์ลส์ ไวต์เฮด” ศาสตราจารย์นิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคอร์เนลในนิวยอร์ก กลับบอกว่า ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะระบุว่า คริปโตจะถึง “ตาย” หรือไม่
แต่ในเวลาเดียวกันก็เชื่อว่า ตอนนี้ถ้าคิดจะเข้าไปวางกฎเกณฑ์ควบคุมคริปโตก็ดูออกจะสายเกินไปแล้วเช่นกัน
นิโคลาส วีฟเวอร์ นักวิจัยด้านการเงินจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเบิร์กเลย์ ระบุว่า ในทางทฤษฎีแล้ว คริปโตเคอร์เรนซีเป็นเพียงส่วนหนึ่งของ “ระบบชำระเงิน” ที่ถูกสร้างขึ้นเท่านั้น แต่กลับมาเป็นสินทรัพย์เพื่อการเก็งกำไรกันเพราะ “ความคาดหวัง” ที่ว่า มูลค่าของมันจะถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ผู้ที่กระโจนเข้ามาลงทุนในคริปโตเกิดจากความโลภ ต้องการร่ำรวยอย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องทำงานหนัก ไม่ต้องมีประสบการณ์ ไม่ต้องเสี่ยง ซึ่งเย้ายวนใจเหลือหลาย ทั้ง ๆ ที่ไม่เป็นความจริง
วีฟเวอร์ชี้ให้เห็นว่า ตลาดแลกเปลี่ยนคริปโตทุกแห่งก็เหมือนกับเอฟทีเอ็กซ์ คือเต็มไปด้วยความเสี่ยง
“ผมคิดว่านักลงทุนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่า เอฟทีเอ็กซ์เป็นตลาดที่ปลอดภัย ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริง ไม่มีตลาดคริปโตแห่งใดเลย อยู่ในการกำกับดูแลมากพอและดีพอที่จะทำให้เชื่อว่าจะปลอดภัยได้” เขายืนยัน
นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่า ในทางทฤษฎีถึงที่สุดแล้วตลาดแลกเปลี่ยนคริปโตทุกแห่งคงถึงกาลล้มละลาย เพราะถือทรัพย์สินที่มีมูลค่าเกินจริงอยู่ในมือ ในขณะที่ความต้องการในตลาดเหือดหายไป แต่ต้องรับผิดชอบตามมูลค่าดังกล่าวเมื่อนักลงทุนเกิดต้องการขายขึ้นมา
หากเป็นจริงตามทฤษฎีที่ว่านี้ อนาคตของคริปโตเคอร์เรนซีก็อาจหมายถึงบริษัทคริปโตอีกเป็นจำนวนมากต้องล้มละลายตามเอฟทีเอ็กซ์ไปด้วยในอีกไม่ช้าไม่นาน