
เยติแอร์ไลนส์ สายการบินในประเทศของเนปาล เผชิญเหตุเครื่องบินที่ใช้มานาน ตกลางหุบเขา พบศพแล้ว 68 ราย เผยนกแอร์เคยใช้ลำนี้มาก่อน
วันที่ 15 มกราคม 2566 สำนักข่าว เอพี รายงานโศกนาฏกรรม เครื่องบิน เยติ แอร์ไลนส์ สายการบินภายในประเทศของเนปาล บรรทุกผู้โดยสาร 68 คน ลูกเรือ 4 คน ตกกลางหุบเขาเมืองโพคารา คาดไม่มีผู้รอดชีวิต แม้จะมีคนได้ยินเสียงร้องขอความช่วยเหลือ
- ในหลวง พระราชินี เสด็จฯส่วนพระองค์ ทรงร่วมแข่งเรือใบ จ.ภูเก็ต
- เช็กที่นี่ เงินอุดหนุนบุตร 600 บาท เดือนธันวาคม 2566 เงินเข้าวันไหน
- เปิดค่าตอบแทน “ผู้บริหาร” ยักษ์ บจ. BBL จ่ายพันล้านต่อปี ทิ้งห่างคู่แข่ง
นายพิษณุ ทิวารี ชาวบ้านที่รีบรุดไปยังที่เกิดเหตุ ใกล้แม่น้ำเซติ กล่าวว่า ได้ยินเสียงผู้ชายรอขอให้ช่วย แต่ตนเองเข้าไปไม่ได้ เพราะไอร้อนและเปลวไฟลุกไหม้อยู่
“ไฟร้อนมาก เราเข้าไปใกล้ซากไม่ได้เลย ผมได้ยินเสียงผู้ชายร้องขอความช่วยเหลือ แต่เพราะเปลวไฟและควันหนาตลบ เราเข้าไปช่วยเขาไม่ได้” ทิวารีกล่าว
ต่อมาเจ้าหน้าที่ค้นหาพบร่างผู้เคราะห์ร้ายแล้ว 68 ราย เหลือสูญหาย 4 รายต้องค้นต่อเช้าวันจันทร์ เนื่องจากฟ้ามืดแล้ว ขณะที่ซากเครื่องพังยับเยินกองอยู่ริมหน้าผา และก้นเหว จำนวนผู้เสียชีวิตดังกล่าวนับว่าสูงสุดในรอบ 3 ทศวรรษของเนปาลและเอเชียใต้
นายกรัฐมนตรีเนปาล ปุศปา กมล ทาหาล รีบเดินทางไปยังสนามบินนานาชาติที่กาฐมาณฑุ หลังทราบเหตุ และสั่งการให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนสาเหตุเครื่องบินตกแล้ว

ลำมรณะเคยใช้งานที่นกแอร์
เครื่องบินลำมรณะเป็นรุ่น ATR 72 สองเครื่องยนต์ สายการบิน เยติ แอร์ไลนส์มีอยู่ 6 ลำ ลำที่ประสบเหตุเดินทางจากกรุงกาฐมาณฑุ ระยะทาง 200 กม. เป็นเวลา 27 นาที มีจุดหมายอยู่ที่สนามบินนานาชาติ เมืองโพคาราม ที่เพิ่งเปิดใช้ได้เพียงสองสัปดาห์ นักบินขาดการติดต่อไปช่วงที่จะใกล้ถึงสนามบิน เวลา 10.50 น. วันที่ 15 ม.ค. ขณะบินอยู่ใกล้หุบเขา ห่างจากสนามบิน 1.6 กม.

บนเครื่องมีชาวต่างชาติโดยสารอยู่ด้วย 15 ราย เป็นอินเดีย 5 ราย รัสเซีย 4 ราย เกาหลีใต้ 2 ราย ที่เหลือชาติละ 1 ราย เป็นไอร์แลนด์ ออสเตรเลีย อาร์เจนตินา และฝรั่งเศส
เครื่องบินรุ่น ATR 72 ผลิตโดยอิตาลีและฝรั่งเศส ตั้งแต่ปลายยุค 1980 สายการบินทั่วโลกที่มีเส้นทางระยะสั้นนิยมมีเครื่องบินรุ่นนี้เช่นกัน แต่ระยะหลังเครื่องรุ่นนี้ประสบเหตุตกอย่างต่อเนื่อง
ลำที่ประสบเหตุล่าสุดมีอายุใช้งาน 15 ปี มีเครื่องรับส่งเรดาร์เก่ามาก ก่อนหน้านี้เคยใช้งานในกิจการของสายการบิน คิงส์ฟิชเชอร์ แอร์ไลนส์ ของอินเดีย และนกแอร์ของไทย ก่อนที่ เยติ แอร์ไลนส์ จะซื้อมาในปี 2019 (พ.ศ. 2562)

เผยประวัติ เยติแอร์ไลนส์
ข้อมูลจากวิกิพีเดียระบุว่า เยติ แอร์ไลนส์ มีสำนักงานอยู่ที่กรุงกาฐมาณฑุ เมืองหลวงเนปาล สายการบินก่อตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 1998 (พ.ศ. 2541) และได้ใบอนุญาตประกอบกิจการ เดือนสิงหาคมในปีเดียวกันนั้น
เมื่อปี 2008 (พ.ศ. 2551) เยติ แอร์ไลนส์ ควบรวมกิจการกับ ทารา แอร์ เพื่อเป็นสายการบินภายในประเทศที่ใหญ่ที่สุดของเนปาล ถือครองตลาด 60% และมีเครือข่ายการบินในประเทศมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2013 (พ.ศ. 2556) คณะกรรมาธิการยุโรปสั่งแบนสายการบินทุกสายของเนปาล เนื่องจากไม่ได้มาตรฐานด้านความปลอดภัย

จากนั้นปี 2019 (พ.ศ. 2562) เยติ แอร์ไลนส์ ตกเป็นข่าวพาดหัวว่าเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่นของอดีตนายกรัฐมนตรี เค.พี โอลี
ปีเดียวกันนี้ เยติ แอร์ไลนส์ ได้ชื่อว่าเป็นสายการบินใช้พลังงานที่มีความเป็นกลางสายการบินแรกของเนปาลและของเอเชียใต้
เนปาลเป็นที่ตั้งของภูเขาที่สุดที่สุดในโลก 8 จาก 14 ลูก รวมถึงเอเวอเรสต์ ที่มีประวัติเครื่องบินตกเป็นระยะ จากข้อมูลการบินพลเรือน เนปาลที่เหตุเครื่องบินตกมรณะมาแล้ว 42 ครั้ง นับจากปี 1946
เหตุการณ์ล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 ม.ค. นับว่ามีผู้เสียชีวิตมากที่สุดนับจากปี 1992 (พ.ศ. 2535) ที่ปากีสถาน อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์ไลนส์ ตกกลางเนินเขา ระหว่างพยายามลงจอดที่สนามบินกรุงกาฐมาณฑุ มีผู้เสียชีวิตถึง 167 ราย