ความมั่นคงทางอาหารโลกยังคงอยู่ภายใต้ความเสี่ยง แม้ว่าราคาพืชผลทางการเกษตรและราคาปุ๋ยจะปรับตัวลดลงจากจุดสูงสุดในปี 2022
ไฟแนนเชียลไทมส์รายงานว่า ราคาอาหารปรับตัวลดลงต่อเนื่องมาเป็นเวลา 9 เดือน หลังจากพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์จากกรณีรัสเซียโจมตียูเครนเมื่อ ก.พ. 2022 ราคาอาหารที่ปรับลดลงโดยเป็นผลจากการบรรลุข้อตกลงส่งออกธัญพืชในทะเลดำที่ทำให้สินค้าเกษตรจากยูเครนกลับเข้าสู่ตลาดโลกมากขึ้น ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติที่ลดลงยังช่วยกดราคาปุ๋ยสำหรับการปลูกพืชให้ต่ำลง
ดัชนีราคาอาหารขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) เมื่อ ธ.ค. 2022 ปรับตัวลงมาอยู่ที่ 132.4 จุด จากระดับสูงสุดเมื่อ มี.ค. 2022 ที่ 159.7 จุด แสดงให้เห็นแนวโน้มของราคาอาหารที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าดัชนีราคาอาหารในภาพรวมตลอดทั้งปี 2022 จะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 143.7 จุด เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 14.3% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับแต่เอฟเอโอเริ่มเก็บข้อมูลในปี 1990
ทั้งนี้ วิกฤตอาหารไม่ได้เป็นผลมาจากสงครามยูเครนเพียงอย่างเดียว ความมั่นคงทางอาหารยังได้รับผลกระทบจากภัยแล้งให้หลายพื้นที่ทั่วโลก รวมถึงการกักตุนและระงับการส่งออกสินค้าอาหารของหลายประเทศในช่วงโควิด-19 รุนแรง
แม้ว่าขณะนี้ราคาอาหารจะมีแนวโน้มลดลง แต่หลายฝ่ายยังคงเตือนว่าวิกฤตอาหารโลกจะยังไม่จบลงโดยง่าย เดอะการ์เดียนรายงานว่า “ซินดี้ แมคเคน” ผู้แทนสหรัฐประจำหน่วยงานด้านอาหารและการเกษตรของสหประชาชาติ ระบุว่า วิกฤตอาหารครั้งนี้เลวร้ายที่สุดนับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 และความมั่นคงด้านอาหารจะยังคงไม่ปลอดภัยจนกว่าการรุกรานยูเครนของรัสเซียจะสิ้นสุดลง
“ราคาอาหารที่ลดลงไม่ได้หมายความว่าวิกฤตครั้งนี้ใกล้จะจบสิ้น แต่กำลังจับตาดูช่วงเวลาที่ยากลำบาก เนื่องจากขณะนี้เป็นช่วงเวลาเพาะปลูกของยูเครน แต่พวกเขาไม่สามารถเพาะปลูกได้เพราะการรุกรานได้สร้างความเสียหายแก่ที่ดินทำกินและเครื่องจักรของพวกเขา”
ทั้งนี้ ข้อตกลงส่งออกธัญพืชของยูเครนในทะเลดำมีกำหนดสิ้นสุดลงใน มี.ค. 2023 นี้ ซึ่งหากไม่สามารถบรรลุการเจรจาขยายเวลาข้อตกลงออกไปได้ จะส่งผลให้การส่งออกผลผลิตจากยูเครนหยุดชะงักลงอีกครั้ง และอาจผลักดันให้ราคาอาหารทั่วโลกกลับมาพุ่งสูงขึ้น
นอกจากนี้ ความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศก็เป็นอีกความเสี่ยงสำคัญในปีนี้ สำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งสหราชอาณาจักร เตือนว่า ปีนี้โลกมีโอกาสเผชิญกับปรากฏการณ์เอลนีโญซึ่งจะส่งผลให้เกิดภัยแล้งในเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลีย ขณะที่แถบละตินอเมริกาก็เสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมใหญ่จากปริมาณฝนที่มากเกินไป
สภาพอากาศที่รุนแรงจะส่งผลต่อผลผลิตทางเกษตรในปีนี้และทำให้ปริมาณอาหารสำรองลดลง ขณะเดียวกันหลายประเทศยังคงประสบปัญหาอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูง ส่งผลให้แม้ราคาอาหารในตลาดโลกจะลดลง แต่ราคาอาหารภายในประเทศกลับยังคงอยู่ในระดับสูง ด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่ผลักดันต้นทุนการนำเข้าอาหารและสินค้าจำเป็นสำหรับการผลิตให้สูงขึ้น โดยเฉพาะปุ๋ย
บลูมเบิร์กรายงานผลวิเคราะห์ของสถาบันวิจัยนโยบายอาหารระหว่างประเทศ (IFPRI) ชี้ว่า อัตราเงินเฟ้อจะยังคงบีบคั้นครัวเรือนที่เปราะบางทั่วโลกต่อไป เนื่องจากผู้คนต้องดิ้นรนซื้ออาหารขณะที่มีปัญหารายได้ที่เพียงพอ ทางออกที่เป็นไปได้คือการสนับสนุนทางการเงินจากประชาคมระหว่างประเทศ เพื่อช่วยบรรเทาความอดอยากให้กับผู้คนในหลายพื้นที่ทั่วโลก