วิกฤตที่ปากีสถาน ยังมืดมนไร้ทางออก

วิกฤตที่ปากีสถาน
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

วิกฤตเศรษฐกิจในปากีสถานย่ำแย่ลงในทุก ๆ วันที่ผ่านไป ตอนนี้เขตเศรษฐกิจสำคัญในเอเชียใต้ไม่เพียงเป็น “ชาติที่มีเศรษฐกิจอ่อนแอที่สุดในภูมิภาค” ตามที่ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) เคยระบุไว้เท่านั้น

แต่ยัง “เป็นไปได้ที่จะพักชำระหนี้จริง ๆ” ในสายตาของ “ฟิทช์” บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลก ที่ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของสกุลเงิน ปากีสถานรูปี ไปเมื่อสัปดาห์ก่อน 
สถานการณ์แย่ถึงขนาด “คาวาจา อาซิฟ” รัฐมนตรีกลาโหมของประเทศ ยังออกมายอมรับอย่างเต็มปาก เมื่อ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า ปากีสถาน “ล้มละลายแล้ว” เพียงแต่ยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการเท่านั้นเอง

การบริหารจัดการงบประมาณของรัฐบาลที่ผ่าน ๆ มาเป็นปัจจัยสำคัญของการเกิดวิกฤตการณ์ครั้งนี้ขึ้นก็จริง แต่ปัญหาของปากีสถานอาจไม่เลวร้ายเท่านี้ หากไม่มีปัจจัยลบจากภายนอกเข้ามาถล่มซ้ำเป็นระลอก ๆ

“มุสตาฟา ไซยิด” นักเศรษฐศาสตร์ชาวปากีสถาน ประมาณว่า ในเวลานี้ รัฐบาลจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อนำเข้าสินค้าจำเป็นและชำระหนี้สินต่างประเทศถึงปีละ 35,000 ล้านรูปี คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 5% ของจีดีพี ในขณะที่สามารถจัดเก็บภาษีได้เพียง 10% ของจีดีพี ในแต่ละปีเท่านั้น

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจของปากีสถานเลวร้ายลงอย่างรวดเร็วในขณะที่รัฐบาลเริ่มต้นการเจรจากับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ให้เข้ามาพยุงสถานะทางการเงิน เพราะทุนสำรองของประเทศลดต่ำลงอย่างน่าใจหาย

ขณะที่ปากีสถานเตรียมการปฏิรูปตามที่จำเป็น ภาวะน้ำท่วมร้ายแรงครั้งใหญ่ก็เกิดขึ้นตามมา คร่าชีวิตชาวปากีสถานไปเกือบ 2 พันคน สร้างความเสียหายให้กับประเทศคิดเป็นมูลค่าระหว่าง 30,000 ล้านถึง 40,000 ล้านดอลลาร์

ซ้ำเติมด้วยผลกระทบจากสงครามในยูเครน ที่ทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและอาหารพุ่งกระฉูด

หลังอุทกภัยครั้งนั้น ปากีสถานต้องนำเข้าสินค้าอาหารเพิ่มขึ้น 65% ทั้ง ๆ ที่ผลกระทบจากสงครามทำให้ราคาสินค้าอาหารพุ่งพรวดพราด เช่นเดียวกับน้ำมัน ที่มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นมหาศาลเพราะสงคราม

ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของปากีสถานลดลงต่ำถึงระดับวิกฤต เหลือเพียงราว ๆ 3,000 ล้านดอลลาร์ เทียบเท่ากับมูลค่าการนำเข้าสินค้าจำเป็นเพียง 2-3 สัปดาห์เท่านั้น

รัฐบาลพยายามประคองสถานการณ์อย่างถึงที่สุด และไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากพยายามหาเงินเข้าคลังให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ การขึ้นภาษีน้ำมันเป็นทางออกที่จำเป็นซึ่งตัดสินใจประกาศออกไปเมื่อกลางเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา แลกมาด้วยอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นตลอดเวลาจนถึงระดับเกินกว่า 38% เมื่อเทียบกันปีต่อปี

ขณะที่ภาระหนี้ของปากีสถานพุ่งขึ้นพรวดพราดถึง 23% ในระยะเวลาเพียงปีเดียว

ในเวลาเดียวกันปากีสถานก็พยายามเจรจากับไอเอ็มเอฟ จนตกลงกันได้ในหลักการเมื่อปีที่ผ่านมา เตรียมให้ความช่วยเหลือในวงเงิน 6,500 ล้านดอลลาร์ พร้อมกับดำเนินการเจรจาเพื่อปรับโครงสร้างหนี้กับประเทศเจ้าหนี้ต่าง ๆ ยืดเวลาการชำระหนี้ออกไป

แต่จนแล้วจนรอด เงินกู้ไอเอ็มเอฟงวดแรก 1,100 ล้านดอลลาร์ ก็ยังไม่ถึงมือปากีสถานจนกระทั่งถึงตอนนี้

เหตุผลเพราะเงื่อนไขต่าง ๆ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกลุ่มชาติตะวันตกและญี่ปุ่น ซึ่งถูกเรียกรวม ๆ กันว่า “ปารีสคลับ” ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในไอเอ็มเอฟ เพียงฝ่ายเดียวอีกต่อไป แต่ยังขึ้นอยู่กับ จีน เจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของปากีสถานอีกด้วย

ปากีสถานเป็นหนี้ชาติในกลุ่มปารีสคลับ รวม ๆ ราว 10,000 ล้านดอลลาร์ แต่มีภาระหนี้กับจีนสูงถึง 23,000 ล้านดอลลาร์ ไม่น่าแปลกที่ราว 80% ของเงินชำระดอกเบี้ยเงินกู้ต่างประเทศของปากีสถาน ระหว่างกรกฎาคม 2021-มีนาคม 2022 ถึงได้เป็นการชำระให้กับจีน

นั่นทำให้จีนจำเป็นต้องให้ความเห็นชอบต่อความตกลงใด ๆ เพื่อบรรเทาภาระหนี้ให้กับปากีสถาน ต้องรับผิดชอบในเงื่อนไข อาทิ การ “แฮร์คัต” เดียวกัน หรือมากกว่าที่ชาติเจ้าหนี้อื่น ๆ ต้องรับผิดชอบ เนื่องจากเงินกู้ของจีนคิดอัตราดอกเบี้ยตามอัตราตลาด ในขณะที่ชาติอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่น ปล่อยกู้ให้ปากีสถานในอัตราดอกเบี้ยต่ำอยู่ก่อนแล้ว

ไม่เช่นนั้น การลดหนี้และการช่วยเหลือใด ๆ จากชาติตะวันตก ก็เท่ากับเป็นการเอื้อให้จีนได้รับผลประโยชน์ไปเต็มที่นั่นเอง

นอกจากนั้น จีนยังมีปัญหาปลีกย่อยอีกมาก อาทิ การปล่อยกู้ของจีนที่แยกการกู้ยืมแบบทวิภาคีออกจากการกู้ยืมผ่านสถาบันการเงินต่าง ๆ ซึ่งยังเป็นข้อกังขาอยู่ว่าควรจะปฏิบัติเหมือนกันหรือไม่ ในขณะที่ “ธนาคารพาณิชย์” ของจีน
ยังมีแนวทางในการปรับโครงสร้างหนี้แตกต่างกันด้วยอีกต่างหาก ซึ่งมีนัยสำคัญไม่น้อยต่อปากีสถาน

เนื่องจาก 2 ใน 3 ของเงินกู้จาก ธนาคารพาณิชย์ระหว่างประเทศของปากีสถานทั้งหมด เป็นการกู้จากธนาคารจีน

นอกเหนือจากนั้น การ “แฮร์คัต” ใด ๆ จากจีนยังจำเป็นต้องได้รับการลงนามให้ความเห็นชอบจากรัฐบาลจีนอีกด้วย

การเข้าไป “อุ้ม” ปากีสถาน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่หลายคนคิด

และทำให้ไม่น่าแปลกใจ ถ้าหากปากีสถานจำเป็นต้อง “พักชำระหนี้” แบบเดียวกับศรีลังกาจริง ๆ ในอีกไม่ช้าไม่นาน