
เปิดที่มาศึกแดงเดือด แมนฯ ยูฯ vs ลิเวอร์พูล ที่เกิดจากความขัดแย้งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสองเมืองตั้งแต่ยุคหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม ความแค้นของคนสองเมืองนำไปสู่ความรู้สึกว่าได้ต่อสู้ล้างแค้นกันไปมาผ่านการแข่งขันฟุตบอล
ศึกแดงเดือด การแข่งขันระหว่างสโมสรลิเวอร์พูลกับสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เปรียบเหมือนมวยคู่เอกของโลกฟุตบอล การปะทะแข้งแย่งคะแนนกันในสนาม ดุเดือดพอ ๆ กัน (หรืออาจจะน้อยกว่า) กับการโห่ร้อง หยอกล้อ และด่าทอกันของคนดูบนอัฒจันทร์
- บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 1 มิ.ย.นี้ ใครมีสิทธิรับวงเงินค่าซื้อสินค้า 900 บาท
- ตรวจหวย ตรวจผลรางวัล ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล งวด 1 มิ.ย. 66 (อัพเดต)
- เปิดสถิติผู้สมัครกลุ่มคณะแพทย์ ปี 66 มหา’ลัยไหนยอดสมัครสูงสุด
แฟนบอลทั่วโลกของลิเวอร์พูลและแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ล้วนรอคอยที่จะมีอารมณ์ร่วมกับเกมการแข่งขันนัดสำคัญ แฟนหงส์-แฟนผีในไทยก็เอาจริงเอาจังกับการเชียร์และบลัฟกันมาก ๆ แม้ว่าเราจะอยู่ห่างไกลจากจุดเริ่มต้นความบาดหมางของพวกเขามากก็ตาม
สงสัยหรืออยากรู้กันไหมว่าทำไมสองทีมนี้ถึงได้เป็นศัตรูคู่แค้นกันระดับรุนแรง กลายเป็นมวยคู่หยุดโลกที่พวกเราเฝ้ารอกันขนาดนี้ ?
“ประชาชาติธุรกิจ” อยากขอชวนย้อนไปทำความเข้าใจว่า “ศึกแดงเดือด” เกิดขึ้นมาจากอะไร ซึ่งเรื่องราวที่มามันต้องย้อนไปไกลถึงเกือบ 200 ปี
ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เมืองแมนเชสเตอร์และเมืองลิเวอร์พูลซึ่งตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอังกฤษ เป็นเมืองแห่งอุตสาหกรรมที่เจริญรุดหน้ามากทั้งคู่ หลักฐานสำคัญของความเจริญก็คือสองเมืองนี้มีรถไฟเชื่อมระหว่างกัน เปิดเดินรถในปี 1830 ซึ่งเป็นรถไฟเชื่อมระหว่างเมืองสายแรกของโลก และเป็นรถไฟสายแรกของโลกที่ขับเคลื่อนด้วยหัวรถจักรพลังงานไอน้ำร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้รถม้าลากเหมือนก่อนแล้ว

สมัยนั้น เมืองแมนเชสเตอร์เป็นเมืองแห่งอุตสาหกรรมซึ่งได้รับการยอมรับและบันทึกอย่างเป็นทางการว่าเป็น “เมืองอุตสาหกรรมแห่งแรกของโลก” และเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของโลกในช่วงทศวรรษ 1830 โดยอุตสาหกรรมที่สำคัญคืออุตสาหกรรมการทอผ้าฝ้าย และเป็นศูนย์กลางการค้าฝ้ายของโลก
ขณะเดียวกัน เมืองลิเวอร์พูลมีท่าเรือขนาดใหญ่ เป็นเมืองท่าขนถ่ายสินค้าที่สำคัญอันดับต้น ๆ ของโลก
ทั้งสองเมืองมียุคเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจร่วมกัน ยิ่งอุตสาหกรรมในเมืองแมนเชสเตอร์และเมืองใกล้เคียงรุ่งเรืองเท่าไร ลิเวอร์พูลที่เป็นเมืองท่าแห่งการขนส่งสินค้าก็ยิ่งได้ประโยชน์
ด้วยความที่เมืองแมนเชสเตอร์ไม่ได้อยู่ติดทะเลจึงจำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบและส่งออกสินค้าที่ท่าเรือของเมืองลิเวอร์พูล และเหตุที่มีรถไฟเชื่อมระหว่างเมืองสายแรกเกิดขึ้นระหว่างสองเมืองนี้ก็เพื่อการขนส่งสินค้าเป็นหลัก

อุตสาหกรรมของเมืองแมนเชสเตอร์พึ่งพาท่าเรือของเมืองลิเวอร์พูลอยู่นานหลายทศวรรษ ระหว่างนั้นลิเวอร์พูลก็ได้ประโยชน์จากการเก็บค่าธรรมเนียมจากชาวเมืองแมนเชสเตอร์ปีละมหาศาล
จนกระทั่งมาถึงจุดแตกหักในช่วงทศวรรษ 1880 เมื่อนักธุรกิจในเมืองแมนเชสเตอร์คิดว่าเมืองลิเวอร์พูลเก็บค่าธรรมเนียมท่าเทียบเรือแพงเกินไป และไม่อยากเสียค่าธรรมเนียมให้เมืองลิเวอร์พูลแล้ว บวกกับชาวเมืองแมนเชสเตอร์รู้สึกไม่พอใจที่โดนชาวเมืองลิเวอร์พูลเหยียดว่าแมนเชสเตอร์เป็นเมืองของชนชั้นแรงงานที่ต่ำต้อย นักธุรกิจชาวเมืองแมนเชสเตอร์จึงต้องการขุดคลองเดินเรือจากทะเลเชื่อมเข้าไปยังเมืองของตัวเอง เพื่อจะได้ขนสินค้าเข้า-ออกทะเลได้เองโดยไม่ต้องอาศัยท่าเรือของเมืองลิเวอร์พูลอีกต่อไป
แผนการก่อสร้างคลองเดินเรือส่งเข้าไปขออนุญาตจากรัฐสภา ถูกคัดค้านอย่างแข็งกร้าวจากชาวเมืองลิเวอร์พูล ใช้เวลา 3 ปีกว่าที่จะได้รับอนุญาตให้สร้าง
คลองเดินเรืออันเป็นที่มาของความเจ็บแค้นนี้ชื่อว่า คลองแมนเชสเตอร์ (Manchester Ship Canal) มีระยะทาง 58 กิโลเมตร กว้าง 36.6 เมตร เริ่มก่อสร้างในปี 1887 แล้วเสร็จในปี 1893 เปิดใช้ในเดือนมกราคม 1894 ซึ่งเป็นคลองเดินเรือที่ใหญ่และระยะทางยาวที่สุดในโลก ณ เวลานั้น
และไม่กี่ปีหลังจากคลองเปิดเดินเรือ ก็ได้เกิดนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกของโลกขึ้นที่บริเวณริมคลองนี้ในเมืองแมนเชสเตอร์ ชื่อว่า แทร็ฟฟอร์ด พาร์ก (Trafford Park)

ขณะที่อุตสาหกรรมในเมืองแมนเชสเตอร์ยังเติบโตต่อไป แต่ชาวเมืองลิเวอร์พูลกลับต้องเห็นการขนส่งสินค้าที่ท่าเรือในเมืองของตนเองลดน้อยถอยลง พร้อมกับงานและเงินที่หดหายไป เมืองลิเวอร์พูลต้องขาดรายได้มหาศาลที่เคยได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมขนส่งสินค้าของเมืองแมนเชสเตอร์ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเมืองลิเวอร์พูลอย่างมาก
…ความแค้นของคนระหว่างคนสองเมืองนี้จึงเริ่มขึ้น
ซึ่งหากดูตามรูปการณ์ ชาวเมืองลิเวอร์พูลคงเป็นฝ่ายเจ็บแค้นมากกว่าชาวเมืองแมนเชสเตอร์หลายเท่า
ในช่วงที่ความขัดแย้งระหว่างเมืองเริ่มก่อตัวนั้น มีสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นในทั้งสองเมืองนี้ คือ สโมสรฟุตบอลประจำเมือง
ค.ศ. 1878 สโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ถูกก่อตั้งขึ้นโดยพนักงานรถไฟ Lancashire and Yorkshire Railway (LYR) สถานีนิวตันฮีต ในเมืองแมนเชสเตอร์ ใช้ชื่อสโมสรว่า “นิวตันฮีต” (Newton Heath LYR FC)
ในเวลาไล่เลี่ยกัน ค.ศ. 1892 สโมสรลิเวอร์พูลก็ก่อตั้งขึ้น โดยเป็นการแยกตัวออกมาจากสโมสรเอฟเวอร์ตันซึ่งเป็นสโมสรฟุตบอลประจำเมืองลิเวอร์พูลมาก่อน
ในเดือนเมษายน 1894 ปีเดียวกับที่คลองแมนเชสเตอร์เปิดเดินเรือ สโมสรลิเวอร์พูลได้สิทธิเตะเพลย์ออฟเพื่อลุ้นเลื่อนชั้นขึ้นไปเล่นดิวิชั่น 1 ซึ่งคู่แข่งก็คือ นิวตันฮีตจากเมืองแมนเชสเตอร์ ที่เป็นทีมท้ายตารางดิวิชั่น 1 ในตอนนั้น
การเจอกันครั้งแรกของสโมสรจากสองเมืองคู่แค้นก็เป็นนัดสำคัญที่ชี้ชะตากันเลย
ผลการแข่งขันปรากฏว่า ลิเวอร์พูลเป็นฝ่ายชนะไป 2-0 ได้เลื่อนชั้น ส่วนนิวตันฮีตที่พ่ายแพ้ต้องตกชั้นไปดิวิชั่น 2
นั่นคือเป็นศึกแดงเดือดครั้งแรกที่เกิดขึ้นตั้งแต่สีประจำสโมสรนิวตันฮีตยังเป็นสีเขียว-เหลือง ส่วนลิเวอร์พูลยังใช้สีฟ้า-ขาว
ต่อมาในปี 1902 สโมสรนิวตันฮีตรีแบรนด์ตัวเอง เปลี่ยนชื่อสโมสรเป็น “แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด” เปลี่ยนสีประจำสโมสรเป็นสีแดง พร้อมเปลี่ยนตราประจำสโมสร ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญในตราสโมสรใหม่คือ เรือใบล่องบนผืนน้ำสีฟ้า สื่อถึงคลองเดินเรือแมนเชสเตอร์ อันเป็นปัจจัยสำคัญในความรุ่งเรืองของอุตสาหกรรม-เศรษฐกิจเมืองแมนเชสเตอร์ ซึ่งก็ตีความได้อีกนัยหนึ่งว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะของเมืองแมนเชสเตอร์เหนือเมืองลิเวอร์พูล
แล้วคนสองเมืองนี้ก็สู้กันผ่านการแข่งขันฟุตบอลระหว่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กับลิเวอร์พูล อยู่อย่างนั้นเรื่อยมา
แต่ถึงแม้จะเกลียดจะแค้นกันขนาดไหน คำว่า “น้ำใจนักกีฬา” ก็มีอยู่จริง และลิเวอร์พูลได้แสดงให้เห็นแล้ว
ในช่วงหลังเกิดโศกนาฏกรรมมิวนิก หรือเหตุการณ์ที่เครื่องบินของแมนฯ ยูไนเต็ด เกิดอุบัติเหตุลื่นไถลออกนอกรันเวย์แล้วระเบิดเมื่อปี 1958 เป็นเหตุให้นักเตะทั้งตัวจริง ตัวสำรอง และบุคลากรของทีมเสียชีวิตไปรวม 23 คน ตอนนั้นแมนฯ ยูไนเต็ด อยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก มีนักเตะไม่พอสำหรับลงแข่งขัน สโมสรลิเวอร์พูลจึงให้แมนฯ ยูไนเต็ดยืมตัวนักเตะจำนวน 5 คน
เป็นเหตุการณ์น่าประทับใจมากครั้งหนึ่งในตำนานศึกแดงเดือด ก่อนจะกลับมาห้ำหั่นกันต่อเมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ
หากตัดเรื่องความแค้นของชาวเมืองที่มีมานาน แล้วมาดูกันเฉพาะในโลกของฟุตบอล สโมสรลิเวอร์พูลกับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เริ่มเป็นคู่แข่งกันโดยตรงอย่างจริงจังในปี 1962 ที่ลิเวอร์พูลได้เลื่อนชั้นจากดิวิชั่น 2 ขึ้นมาเล่นในดิวิชั่น 1 (พรีเมียร์ลีกในปัจจุบัน) ภายใต้การคุมทีมของบิล แชงก์ลีย์ (Bill Shankly) ในขณะที่แมนฯ ยูไนเต็ด ภายใต้การคุมทีมของเซอร์ แม็ตต์ บัสบีย์ (Sir Matt Busby) ยังประสบความสำเร็จกว่าในทศวรรษ 1960
การแข่งขันระหว่างแมนฯ ยูฯ กับลิเวอร์พูลดุเดือดร้อนแรงขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1970 และมันได้กลายเป็นจุดขายสำคัญของฟุตบอลอังกฤษ และฟุตบอลเป็นเครื่องจักรตัวใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทั้งสองเมือง หลังจากที่อุตสาหกรรมเข้าสู่ขาลงในช่วงปลายทศวรรษ 1970
ซึ่งเป็นฝ่ายลิเวอร์พูลที่ประสบความสำเร็จมากกว่าในช่วงทศวรรษ 1970-1980
นักสังคมวิทยาฟุตบอล จอห์น วิลเลียมส์ (John Williams) เคยอธิบายปรากฏการณ์ความเกลียดที่รุนแรงขึ้นระหว่างแฟน ๆ แมนฯ ยูไนเต็ดกับแฟน ๆ ลิเวอร์พูล ในช่วงทศวรรษ 1970-1980 ไว้ว่า แมนฯ ยูไนเต็ดพยายามพัฒนาสิ่งเย้ายวนดึงดูดความสนใจและสร้างโปรไฟล์ในสื่อ ขณะที่ไม่ประสบความสำเร็จในเกมการแข่งขัน ซึ่งมันทำให้แฟนลิเวอร์พูลหมั่นไส้ว่า แมนฯ ยูไนเต็ดเป็นที่รักของสื่อและได้พื้นที่สื่อมากเกินไป ในขณะที่ลิเวอร์พูลมีผลงานที่ดีกว่า แต่กลับไม่ได้รับแสงเท่า
อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 1990 แมนฯ ยูไนเต็ด ภายใต้การคุมทีมของเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน (Sir Alex Firguson) เริ่มก้าวขึ้นมาประสบความสำเร็จ และมียุคทองต่อเนื่องยาวนานราว 2 ทศวรรษ ขณะที่ผลงานของลิเวอร์พูลตกต่ำลงไป
ด้วยความที่มักจะผลัดกันรุ่งเรืองผลัดกันร่วงหล่นแบบนี้ เสน่ห์ของศึกแดงเดือดจึงไม่เคยจางหาย แม้ว่าบางช่วงจะร่วงกันทั้งคู่ และเกมในสนามเป็นไปแบบ “แดงไม่เดือด” ก็ตาม
อ้างอิง :
………………….
อ่านเนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง :