ศึกไฮเทค “จีน-สหรัฐ” เขย่าโลกเทคโนโลยี

ศึกไฮเทค “จีน-สหรัฐ”
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ตลอดช่วงสัปดาห์เศษที่ผ่านมา ทั่วโลกจับตาความเคลื่อนไหวในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่มีนัยสำคัญอย่างยิ่งทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมืองของโลก

กำหนดการเยือนจีนอย่างเป็นทางการของ “เจเน็ต เยลเลน” รัฐมนตรีคลังสหรัฐอเมริกา ถือเป็นสัญญาณบวก ที่ทำให้หลายคนคาดหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนกลับเข้าร่องเข้ารอยอีกครั้ง

แต่ก่อนถึงกำหนดการเยือนเพียงไม่กี่วัน จีนก็ประกาศมาตรการ “ควบคุมการส่งออก” โลหะสำคัญสองชนิดออกมา กลบบรรยากาศชื่นมื่นไปแทบหมดสิ้น

โลหะสำคัญสองชนิดดังกล่าวคือ “เจอร์เมเนียม” กับ “กัลเลียม” วัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ สำหรับใช้ในเทคโนโลยีทั้งในระดับทั่วไปและในระดับสูง ตั้งแต่แผงโซลาร์เซลล์, ไมโครเวฟ, ไฟแอลอีดี, เลเซอร์, อุปกรณ์จำพวกชาร์จเจอร์พลังสูง เรื่อยไปจนถึงอุปกรณ์ไฮเทคด้านการสื่อสารเพื่อการทหาร อาทิ เรดาร์ เป็นต้น

ตามมาตรการของจีน นับตั้งแต่เดือนสิงหาคมนี้เป็นต้นไป ผู้ที่ต้องการส่งออกโลหะทั้งสองชนิดจำเป็นต้องได้รับใบอนุญาตเป็นการเฉพาะจากทางการ ใบอนุญาตดังกล่าว ไม่เพียงต้องระบุชื่อผู้ซื้อและประเทศที่ซื้อเท่านั้น ยังจำเป็นต้องให้รายละเอียดถึงขั้นว่า สุดท้ายแล้วผลิตภัณฑ์ที่จะได้จากการส่งออกคืออะไรอีกด้วย

ความเคลื่อนไหวของจีนดังกล่าวมีขึ้นไม่นานหลังจากที่เนเธอร์แลนด์ กลายเป็นชาติตะวันตกชาติล่าสุดที่เข้าร่วมขบวน “คุมกำเนิด” ภาคอุตสาหกรรมชิปก้าวหน้าของจีน ด้วยการ “แบน” การส่งออกเครื่องจักรและชิ้นส่วนประกอบของเครื่องจักรในการผลิตชิประดับก้าวหน้าให้กับจีน โดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคง

มาตรการคุมกำเนิดดังกล่าวเริ่มต้นโดยสหรัฐอเมริกา ที่ประกาศมาตรการหลากหลาย โดยเฉพาะการบัญญัติกฎหมาย รัฐบัญญัติว่าด้วยชิปและวิทยาการ ปี 2022 ที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมชิปของจีนอย่างรุนแรง

จีนเคยประกาศตอบโต้มาก่อนหน้านี้ ตัวอย่างเช่น การประกาศห้ามการใช้ชิปที่ผลิตโดย “ไมครอน” ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกาในประเทศจีน เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมา ที่ทำให้บริษัทโอดครวญว่าอาจทำให้สูญเสียธุรกิจมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ไปในพริบตา

แต่ครั้งนี้ดูเหมือนจะแตกต่างออกไป ในแง่ของเจอร์เมเนียม จีนครองส่วนแบ่งในตลาดโลกอยู่ถึง 60% ในขณะที่อีกราว 10% มาจากประเทศอย่าง รัสเซียและยูเครน ที่เป็นคู่สงครามกันอยู่ในเวลานี้

สหรัฐอเมริกาเองมีแหล่งผลิตอยู่จำนวนหนึ่ง และยังมีแหล่งผลิตในแคนาดารองรับ แต่กระนั้นก็ยังจำเป็นต้องนำเข้าเจอร์เมเนียมมากถึง 50% ของเจอร์เมเนียมที่ใช้อยู่ทั้งหมด

ในส่วนของกัลเลียม ผลผลิตของจีนคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 80% ของปริมาณกัลเลียมทั้งหมดในตลาดโลก ทั้งนี้ กัลเลียมได้จากกระบวนการหลอมละลายอะลูมิเนียมเป็นหลัก ดังนั้นจึงไม่ใช่โลหะที่หายากเท่าใดนัก

ปัญหาอยู่ตรงที่ที่ผ่านมา มีน้อยประเทศมากที่ลงทุนผลิตกัลเลียม กำลังการผลิตส่วนใหญ่จึงขึ้นอยู่กับจีน การเริ่มต้นผลิตกัลเลียมจำเป็นต้องมีทั้งเงินทุนและใช้ระยะเวลาอีกระยะหนึ่ง ซึ่งยังไม่แน่ใจว่าจะมีประเทศใดสนใจในเรื่องนี้

นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งชี้ว่า ผลลัพธ์จากมาตรการของจีนครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อราคาของโลหะทั้งสองชนิดในตลาดอย่างแน่นอน ในขณะเดียวกันผู้ผลิตชิปทั้งในสหรัฐอเมริกาและอีกหลายประเทศอาจจำเป็นต้องแสวงหาแหล่งซัพพลายใหม่ ซึ่งอาจซับซ้อนและใช้เวลามากกว่าเดิม

ทั้งหมดนั้นอย่างน้อยที่สุด อาจส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ชิปซึ่งมีส่วนประกอบของโลหะทั้งสองชนิดในตลาดราคาแพงขึ้นอย่างแน่นอน โดยอาจส่งผลรุนแรงกว่าถึงระดับทำให้เกิดการขาดแคลน เหมือนอย่างที่หลายอุตสาหกรรม รวมทั้งอุตสาหกรรมรถยนต์เคยเผชิญมาแล้วก่อนหน้านี้ไม่นาน

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์อีกบางส่วนเตือนว่า มาตรการนี้ของจีนอาจส่งผลในทางลบสะท้อนกลับมาทำร้ายจีนเองอีกก็เป็นได้

ราคาของกัลเลียมและเจอร์เมเนียมในตลาดโลกถูกกดให้อยู่ในระดับต่ำมาก ๆ มาเป็นเวลานาน เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุมตลาดของจีน ป้องกันไม่ให้ผู้ผลิตอื่นให้ความสนใจที่เข้ามาสู่ตลาดนี้ สภาพดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงไป ถ้ามาตรการควบคุมการส่งออกของจีนครั้งนี้ผลักดันให้ราคาของโลหะทั้งสองชนิดเพิ่มสูงขึ้นในตลาดโลก

กรณีดังกล่าวนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อจีนใช้มาตรการห้ามการส่งออกสินแร่หายากหรือแรร์เอิร์ท ให้กับญี่ปุ่นในปี 2010 ส่งผลให้เกิดความแตกตื่นและจุดประกายให้มีการแสวงหาและส่งเสริมให้เกิดการผลิตขึ้นในหลายประเทศ เพื่อกระจายความเสี่ยงจากการผูกขาดของจีน ทำให้ทางการปักกิ่งต้องกลับลำในที่สุด

ในระยะสั้น ยังคงยากที่จะประเมินผลกระทบที่แท้จริงจากมาตรการครั้งนี้ของจีน เนื่องจากยังคงมีตัวแปรอยู่หลายประการ อาทิ สต๊อกของบริษัทต่าง ๆ เรื่อยไปจนถึงการที่จีนจะบังคับใช้มาตรการนี้จริงจังและเข้มงวดมากเพียงใด

แต่ในระยะยาว ความเชื่อมั่นของตลาดโลกที่มีต่อจีนในฐานะของซัพพลายเออร์ที่เชื่อถือได้ ถูกมาตรการครั้งนี้บั่นทอนลงมากมายอีกครั้ง

ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจจีนในยามนี้โดยแท้จริง