เศรษฐี-นักเศรษฐศาสตร์-คนดัง 300 คนลงชื่อเรียกร้อง G20 เพิ่มอัตราภาษีผู้มั่งคั่ง

เรียกร้องผู้นำ G20 เพิ่มอัตราภาษีผู้มั่งคั่ง
การรณรงค์ Tax The Rich ในการประชุมดาวอส 2023/ แฟ้มภาพ (ภาพโดย Fabrice COFFRINI / AFP)

ก่อนหน้านี้กลุ่มนักรณรงค์ในระดับนานาชาติพยายามผลักดันให้นานาชาติเก็บภาษีผู้มั่งคั่งมากขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม โดยพยายามยกประเด็นนี้ขึ้นมาเรียกร้องต่อการประชุมระดับโลกหลายครั้งที่ผ่านมา

อย่างในการประชุม เวิลด์ อีโคโนมิกส์ ฟอรัม 2023 (World Economic Forum 2023) หรือ ดาวอส 2023 (Davos 2023) เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา อ็อกแฟม (Oxfam) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานเพื่อยุติความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคม ได้เผยแพร่รายงานที่มีใจความสำคัญเป็นการเรียกร้องให้ผู้มั่งคั่งจ่ายภาษีมากขึ้น และตัวแทนของอ็อกแฟมเดินทางไปชุมนุมที่เมืองดาวอสเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ เก็บภาษีจากผู้มั่งคั่งที่สุด 1% แรกของประเทศในอัตรา 60% ของรายได้ และเพิ่มอัตราภาษีสำหรับเศรษฐีระดับรอง ๆ ลงไปด้วย 

ล่าสุดก่อนที่การประชุมผู้นำกลุ่มจี20 (G20 Summit 2023) ที่ประเทศอินเดียจะเริ่มขึ้นในวันที่ 9 กันยายนที่จะถึงนี้ ก็มีความเคลื่อนไหวรอบใหม่เกิดขึ้นแล้ว

สำนักข่าวเดอะการ์เดียน (The Guardian) รายงานในวันที่ 5 กันยายน 2023 ว่า นักรณรงค์หลายกลุ่มได้ร่วมกันออกจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้ประเทศพัฒนาแล้วและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ชั้นนำใช้โอกาสการประชุมสุดยอด G20 ในสุดสัปดาห์นี้ทำ “ข้อตกลงระหว่างประเทศ” เพื่อเพิ่มอัตราภาษีความมั่งคั่งที่ใช้สำหรับคนร่ำรวยทั่วโลก 

นักรณรงค์ระบุว่า ความมั่งคั่งรวมของผู้ที่มีทรัพย์สินมากกว่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1,770 ล้านบาท ตามอัตราแลกเปลี่ยนวันที่ 5 กันยายน 2023) เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าเป็น 11.8 ล้านล้านดอลลาร์ (ประมาณ 419 ล้านล้านบาท) แต่รัฐเก็บรายได้จากภาษีความมั่งคั่งได้เพียง 4 เซนต์ต่อความมั่งคั่ง 1 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นอัตรา 4% เท่านั้น 

จดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ระบุว่า จำเป็นต้องมีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อป้องกันไม่ให้ความมั่งคั่งอันล้นเกิน “กัดกร่อนอนาคตร่วมของพวกเรา” และระบุว่า การเก็บภาษีผู้มั่งคั่งในอัตราที่มากขึ้นจะช่วยลดระดับความอันตรายของความไม่เท่าเทียม 

จดหมายนี้เรียกร้องให้กลุ่ม G20 ตกลงร่วมกันในการขึ้นอัตราภาษีผู้มั่งคั่ง และหยุดการแข่งขันทางภาษี ด้วยการกำหนดอัตราภาษีต่ำเพื่อดึงดูดผู้มั่งคั่งเข้าไปในประเทศ เหมือนอย่างที่ได้แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระดับโลกในการให้การรับรอง (ผ่านข้อตกลงภาษีสากล) ว่าบริษัทข้ามชาติจะต้องจ่ายภาษีขั้นต่ำในอัตราเท่ากันทั่วโลก

กลุ่มผู้เขียนจดหมายเปิดผนึกและผู้นำในการรณรงค์ประกอบด้วย Patriotic Millionaires กลุ่มเศรษฐีที่ส่งเสริมการปรับโครงสร้างระบบภาษีในสหรัฐอเมริกา, Institute for Policy Studies สถาบันคลังสมองในสหรัฐที่ศึกษาวิจัยด้านนโยบายสาธารณะ, Earth 4 All โครงการริเริ่มในระดับนานาชาติเพื่อเร่งความเปลี่ยนแปลงสู่อนาคตที่เท่าเทียม, Millionaires for Humanity กลุ่มความร่วมมือของบุคคลรายได้สูงที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ และ Oxfam องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานเพื่อยุติความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคม

เนื้อความส่วนหนึ่งในจดหมายระบุว่า “มีงานหลายอย่างที่ได้ทำไปแล้ว มีข้อเสนอนโยบายเกี่ยวกับการเก็บภาษีความมั่งคั่งจำนวนมากจากนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของโลกจำนวนหนึ่ง สาธารณชนต้องการมัน พวกเราต้องการมัน ตอนนี้ทั้งหมดที่ขาดหายไปก็คือ เจตจำนงทางการเมืองที่จะส่งมอบมัน ถึงเวลาแล้วที่คุณจะต้องค้นหามัน”

จดหมายเปิดผนึกดังกล่าวนี้ มีมหาเศรษฐี นักเศรษฐศาสตร์ และนักการเมือง รวมเกือบ 300 คนลงชื่อสนับสนุน ยกตัวอย่างคนดังที่ร่วมลงชื่อในจดหมายนี้ ได้แก่ อาบิเกล ดิสนีย์ (Abigail Disney) ทายาทดิสนีย์, ไบรอัน อีโน (Brian Eno) ศิลปินนักดนตรี และ ริชาร์ด เคอร์ติส (Richard Curtis) ผู้กำกับฯ-นักเขียนบทภาพยนตร์, เบอร์นี แซนเดอร์ส (Bernie Sanders) วุฒิสมาชิกสหรัฐ, มาเรีย เอสปิโนซา (Maria Espinosa) อดีตประธานสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ

ด้านนักเศรษฐสาสตร์ร่วมลงชื่อกันหลายคน เช่น กาเบรียล ซัคแมน (Gabriel Zucman) นักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศส, เจยาติ โกช (Jayati Ghosh) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอินเดีย, เคท ราเวิร์ธ (Kate Raworth) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ, โจเซฟ สติกลิตซ์ (Joseph Stiglitz) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน, ลูคัส แชนเซล (Lucas Chancel) นักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศส และ โธมัส พิเคตตี (Thomas Piketty) นักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศส 

ทั้งนี้ เนื่องจากมีความแตกแยกระดับที่ “ลึก” ระหว่างประเทศสมาชิก G20 จึงมีความคาดหวังเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ว่าการประชุมสุดยอดในสุดสัปดาห์นี้จะสามารถผลักดันอะไรได้อย่างเป็นทางการ ถึงอย่างนั้นก็ตาม บรรดาผู้ผลักดันการเก็บภาษีความมั่งคั่งก็กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่เหล่าผู้นำจะต้องรับฟังความคิดเห็นของสาธารณชน

เคที่ ชากราบอร์ตตี้ (Katy Chakrabortty) หัวหน้าฝ่ายนโยบายและการรณรงค์ของ Oxfam กล่าวว่า “เสียงประสานดังขึ้นเรื่อย ๆ เกินกว่าที่นักการเมืองจะเพิกเฉยต่อไปได้ โลกอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ การเก็บภาษีที่เป็นธรรมมากขึ้นเพื่อจัดการกับปัญหาค่าครองชีพและวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้รับการสนับสนุนจากเศรษฐีและประชาชนทั่วไป ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ จะต้องดำเนินการ”